”11 ศูนย์พิเศษของ ตร.“เป็นงานซ้อนงาน ไร้ผลงาน ดึงตัวช่วยราชการ เป็นเหตุทำกำลังพลโรงพักขาดหรือไม่.?

26476


               สัปดาห์ที่แล้วอ่านข่าวชาวบ้านใน ต.หินกอง อ.หนองแค สระบุรี โวยว่าร่วมกันบริจาคเงินกว่า 10 ล้านบาทสร้างที่ทำการโรงพักสาขาย่อยหินกอง พอสร้างเสร็จกลับไม่มีตำรวจบริการ


            ส่งผลให้ชาวบ้าน 6 ตำบลได้รับความเดือดร้อน ต้องเดินทางไกลกว่า 8 กิโลเมตรไปใช้บริการที่โรงพักหนองแค ทั้งที่โรงพักย่อยแห่งนี้เปิดบริการมากว่า 100 ปี
               พ.ต.อ.สุรเชษฐ์ แสนวงศ์สิริ ผกก.สภ.หนองแค ชี้แจงว่า ตรวจดูกำลังพลพบว่าพนักงานสอบสวนเพิ่งย้ายมาใหม่ 1 นาย ต้องไปอบรมตามระเบียบ 1 เดือน ทำให้ขาดกำลังพล เหลือพนักงานสอบสวนปฏิบัติหน้าที่ รวม 9 นาย เป็นหัวหน้าคดี 1 นาย ไม่สามารถรับแจ้งความได้ เพราะไม่มีใบประกอบอาชีพ


        “ทำให้ขาดกำลังพลเหลือปฏิบัติหน้าที่เพียง 8 นาย รับผิดชอบคดีเฉลี่ย 60-70 คดี/คน/ปี  ช่วงปี 2566 ตรวจดูสถิติคดีความ เรื่องร้องเรียนต่างๆพบว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมคดีล่าช้า หากแบ่งไปปฏิบัติหน้าที่ที่สาขาย่อย เกรงว่าพนักงานสอบสวนแต่ละนายต้องแบกภาระงานมากเกินไป” พ.ต.อ.สรุเชษฐ์ ระบุ


ขณะที่ พ.ต.อ.สถิตย์ สังข์ประไพ อดีตผกก.สภ.หนองแค ในฐานะตัวหลักร่วมสร้างโรงพักหลังนี้บอกว่า รู้สึกตกใจที่ปิด แต่เห็นใจ ผกก.คนใหม่ที่กำลังพลไม่พอ เพราะเหลือพนักงานสอบสวนเพียง 8 นาย สมัยตนมีมากกว่า 10 นาย แทบจะไม่พอทำงาน เพราะ อ.หนองแค เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่และเติบโตสูงสุดในสระบุรี ต่อมามีการหารือกับ กต.ตร.จังหวัดสระบุรี กต.ตร.สภ.หนองแค และพ.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้ข้อสรุปจะเปิดบริการตามปกติวันที่ 16 กุมภาพันธ์นี้
   
ที่ยกกรณีนี้มาเขียนเพื่อที่สะท้อนว่าโรงพักที่ดูแลเมืองขนาดใหญ่หรือเมืองธุรกิจที่มีประชาชนหนาแน่น กำลังขาดกำลังพลอย่างมากทั้งงานสายตรวจ สืบสวน และงานสอบสวนที่เป็นหัวใจสำคัญในการบริการประชาชน
    เหตุที่กำลังพลเมืองใหญ่ขาดแคลน ในแวดวงสีกากีต่างทราบกันดีว่าหลายตำแหน่งผู้บังคับบัญชาระดับสูงส่งเด็กในคาถามาครองตำแหน่งแล้วดึงไปช่วยราชการ แต่รับประโยชน์จากโรงพักพอๆกับตำรวจที่อยู่ประจำ
      อีกสาเหตุหนึ่งที่ไม่น่ามองข้ามคือ การตั้งศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมพิเศษและศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีมากถึง 11 ศูนย์ ประกอบด้วย ศูนย์ป้องกันปราบปรามกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
   ศูนย์ปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง ศูนย์ปราบปรามการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศูนย์ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์และภาคประมง
  ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมและความมั่นคง ศูนย์ปราบปรามคนร้ายข้ามชาติและเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ศปก.ตร.) และศูนย์บังคับและต่อต้านอากาศยานไม่มีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก(โดรน) แต่ละศูนย์จะมีระดับรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รองผบ.ตร.)และผู้ช่วยผบ.ตร. เป็นผู้อำนวยการศูนย์และรองผู้อำนวยศูนย์ฯ
      หากดูตามชื่อจะมีบ่งบอกถึงภารกิจอยู่แล้ว ล้วนแต่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานหลักหรือกองบัญชาการหลักแทบทั้งสิ้น ไม่แน่ใจว่า แต่ละศูนย์ฯได้มีการประชุมวางแนวทางการทำงานบ้างหรือยัง “เพราะแทบไม่มีผลงานปรากฏต่อสาธารณะชนเลย”
         มีการตั้งข้อสังเกตว่าบางศูนย์ฯที่สามารถหาผลประโยชน์ได้ ผู้บริหารฯจะเลือกคนใกล้ชิดมาควบคุม รวมทั้งมีคำสั่งให้ลูกน้องคนสนิทมาช่วยราชการแล้วเดินสายหาประโยชน์มากกว่าจับกุมที่เป็นกิจจะลักษณะ 
   หลายศูนย์ฯมีคำสั่งเรียกนายตำรวจที่ใกล้ชิดมาช่วยราชการ แบบขาดจากต้นสังกัด ทำให้หน่วยงานหลักอย่างโรงพักต้องขาดกำลังพลในการปฏิบัติหน้าที่ บรรดาหัวหน้าโรงพักต้องกล้ากลืนอนุญาตปล่อยตัว

      ขณะเดียวกันจุดประสงค์ในการตั้งศูนย์ฯต่างๆ นั้น อ้างเหตุผล เพื่อรองรับบรรดานายพลผู้ทรงคุณวุฒิหรือนายพลแก้มลิง มาช่วยงาน แต่ในทางปฏิบัติจริงแทบจะไม่มีนายพลคนไหนมาประจำการ เว้นแต่ใกล้ชิดกับผู้อำนวยการศูนย์ฯหรือรองผู้อำนวยการศูนย์ฯเท่านั้น
      หากมองในภาพรวมการจัดตั้งศูนย์เหล่านี้แทบจะไม่มีความจำเป็นเลย เพราะหน้างานมีเจ้าภาพที่จะดำเนินการอยู่แล้ว แถมทำให้หน่วยงานหลักต้องเสียกำลังพลโดยไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย 

  ถ้า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร.อยากให้นโยบาย Police’s Home เราดูแลคุณ(ตำรวจ)เพื่อให้ไปดูแลประชาชน”โดยจัดสรรกำลังให้พอกับการปฏิบัติหน้าที่..บรรลุเป้าหมายควรยกเลิกศูนย์เหล่านี้เหลือเพียง ศปก.ตร.น่าจะเป็นผลดี !!!