วอนชาวนาลุ่มเจ้าพระยางดทำนาปรัง

325

กรมส่งเสริมการเกษตร ขอความร่วมมือเกษตรกรพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา งดทำนาปรังรอบสอง แนะปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน

เมื่อวันที่ 14 ก.พ.67 นายครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) กำลังปานกลาง ส่งผลให้ในปี 66 ไทยมีปริมาณน้ำต้นทุนทั้งประเทศน้อยลงกว่าปี 65 ถึง 3,999 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งส่งผลต่อน้ำต้นทุนในปี 67 ประกอบกับที่กรมชลประทานได้ปรับแผนจัดสรรน้ำเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนพื้นที่ที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยว และขณะนี้มีการจัดสรรน้ำทั่วประเทศแล้วประมาณ 12,627 ล้านลูกบาศก์เมตร (ร้อยละ 51) โดยเฉพาะลุ่มเจ้าพระยาพบการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 4,496 ล้านลูกบาศก์เมตร (ร้อยละ 52) ส่งผลให้ปริมาณน้ำต้นทุนอาจไม่เพียงพอต่อการทำนาปรังรอบสอง จากข้อมูลสถานการณ์น้ำ ณ วันที่ 11 ก.พ.พบอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 53,582 ล้านลูกบาศก์เมตร (ร้อยละ 70 ของความจุอ่างฯ รวมกัน)



โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 15,096 ล้านลูกบาศก์เมตร (ร้อยละ 61 ของความจุอ่างฯ รวมกัน) แต่ขณะนี้ พบการทำนาปรังทั้งประเทศมากเกินจากแผนการเพาะปลูก ปี 66/67 ไปแล้ว 10.21 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 126 ของแผนฯ (ในเขตชลประทาน 8.38 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 1.83 ล้านไร่) เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการทำนาปรังไปแล้วประมาณ 6.90 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 164 ของแผนฯ จากข้อมูลดังกล่าวกรมส่งเสริมการเกษตรจึงขอความร่วมมือจากเกษตรกร โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาที่เก็บเกี่ยวนาปรังรอบแรกแล้วเสร็จ “ขอความร่วมมืองดทำนาปรังรอบที่ 2 และเลือกปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทน” เพื่อลดความเสี่ยงที่ผลผลิตจะเสียหายจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอ



นายครองศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีการผลิต 66/67 กรมส่งเสริมการเกษตรมุ่งเน้นการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทนการทำนาปรังรอบสอง เพื่อลดความเสียหายจากสภาพอากาศหน้าแล้ง ลดการใช้น้ำทำการเกษตร และสร้างรายได้แก่เกษตรกร สำหรับพืชใช้น้ำน้อยที่กรมส่งเสริมการเกษตรส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกทดแทนการทำนาปรัง คือ พืชที่ใช้น้ำในการเพาะปลูกน้อยกว่าข้าว และมีอายุการเก็บเกี่ยวไม่เกิน 120 วัน โดยการทำนาปรังจะใช้น้ำในการเพาะปลูกข้าวประมาณ 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ แต่พืชใช้น้ำน้อยจะใช้น้ำต่อรอบฤดูปลูกน้อยกว่าประมาณร้อยละ 30-70 โดยจะปลูกในพื้นที่นาหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวนาปีแล้ว (ช่วงเดือน พ.ย.- เม.ย.) ซึ่งพืชใช้น้ำน้อยหลายชนิดมีตลาดรองรับ และช่วยสร้างกำไรเฉลี่ยได้มากกว่าการทำนาปรัง (นาปรังกำไรเฉลี่ย 1,572 บาทต่อไร่) อาทิ มะเขือเทศ (กำไรเฉลี่ย 36,800 บาทต่อไร่) ฟักทอง (กำไรเฉลี่ย 34,890 บาทต่อไร่) แตงโม (กำไรเฉลี่ย 16,885 บาทต่อไร่) ข้าวโพดหวาน (กำไรเฉลี่ย 7,720 บาทต่อไร่) และถั่วลิสง (กำไรเฉลี่ย 2,644 บาทต่อไร่) ทั้งนี้ เกษตรกรที่สนใจสามารถขอคำปรึกษาและคำแนะนำในการปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทนการทำนาปรังรอบสอง รวมทั้งการบริหารจัดการสินค้าเกษตร การวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับพื้นที่และความต้องการของตลาด และการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดและสำนักงานเกษตรกรอำเภอใกล้บ้านท่าน

#Thaitabloid #สำนักข่าวไทยแทบลอยด์ #กรมส่งเสริมการเกษตร