สพฉ.จับมือกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ตั้งศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวเจ็บป่วยฉุกเฉิน สร้างความเชื่อมั่นเมืองไทยท่องเที่ยวปลอดภัย
วันนี้ (14 ก.พ.2567) ที่สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ถนนราชดำเนินนอกกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมกับ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติและกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว ร่วมกันแถลงข่าวเปิดโครงการช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่บาดเจ็บและเสียชีวิต เพื่อยกระดับการคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตให้กับนักท่องเที่ยวที่เจ็บป่วยฉุกเฉิน
นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬากล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ก็ได้กำหนดเป้าหมายในปี 2567 ว่าเราจะสร้างรายได้รวม 3.5 ล้านล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 35 ล้านคน นักท่องเที่ยวชาวไทย 205 ล้านทริป (คน-ครั้ง) การจะบรรลุถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้นี้จำเป็นต้องมีกลยุทธ์ที่ดี สามารถจูงใจนักท่องเที่ยวให้เกิดความเชื่อมั่นและตัดสินใจเดินทางมาเที่ยวประเทศไทย ซึ่งการเยียวยาช่วยเหลือเมื่อนักท่องเที่ยวประสบอุบัติเหตุบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง
รัฐบาลจึงได้จัดสรรงบประมาณจำนวนหนึ่งให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาดูแลนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ประสบเหตุในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 สิงหาคม 2567 เช่น อุบัติเหตุ อาชญากรรม และภัยอื่นๆ โดยเหตุดังกล่าวต้องไม่ได้เกิดจากความประมาท เจตนากระทำผิดกฎหมาย หรือมีพฤติการณ์ที่เสี่ยงให้เกิดเหตุนั้น โดยจะมีอัตราชดเชยกรณีเสียชีวิต ไม่เกิน 1 ล้านบาท กรณีสูญเสียอวัยวะถาวร สูญเสียดวงตา ทุพพลภาพถาวร ให้เหมาจ่าย 300,000 บาท และค่ารักษาพยาบาลจ่ายตามจริง ไม่เกิน 500,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ยื่นคำขอต้องถือหนังสือเดินทางที่ลงตราประเภทนักท่องเที่ยว ไม่ใช่เพื่อประกอบอาชีพหรือหารายได้ ขณะนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้มีการจัดทำระบบ Thailand Traveller Safety หรือ TTS ซึ่งเป็นการลงทะเบียนออนไลน์ก่อนเข้าประเทศของผู้เดินทางชาวต่างชาติ (Non Thai Residents) โดยใช้หนังสือเดินทางที่ตรวจลงตราโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการท่องเที่ยว ระบบนี้จะช่วยคัดกรองนักท่องเที่ยวที่มีสิทธิขอรับการช่วยเหลือเยียวยาได้ในเบื้องต้น โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งขาติ สามารถเข้าถึงข้อมูลและตรวจสอบสิทธิได้
ด้าน ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า จากที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือการยกระดับความปลอดภัยของนักท่องเทียวที่เจ็บป่วยฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุเพื่อคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และมีคุณภาพมาตรฐาน และหลังจากนั้น ได้มีการประชุมหารือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเพื่อหารือแนวทางการการจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ได้มีการเสนอจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินที่เกิดจากการท่องเที่ยว (Tourist Emergency Medical Assistance Center) เพื่อเป็นศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวในด้านการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ร่วมกับศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว (Tourist Assistance Center: TAC)
โดยเมื่อนักท่องเที่ยวเกิดอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถประสานผ่านศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว (Tourist Assistance Center: TAC) หมายเลข 1155 หรือประสานผ่านเลขหมาย 1669 โดยอาศัยความร่วมมือในการใช้ล่ามแปลภาษาร่วมกัน ด้านการให้บริการแพทย์ฉุกเฉินมีหน่วยปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินที่ได้มาตรฐานให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ป่วย ทั้งทางบกทางน้ำ และทางอากาศ เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว และผู้ให้บริการ ด้านมาตรฐานความปลอดภัยในการดูแลและช่วยเหลือนักท่องเที่ยวที่เข้ามายังประเทศไทย ให้ได้รับการบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินที่รวดเร็ว มีคุณภาพ โดยตระหนักถึงประโยชน์สูงสุดของนักท่องเที่ยว ให้ได้รับบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม