THE LOVERS

448

ความรัก = ทางเลือก อยากเจอคิวปิดในวันวาเลนไทน์ไปเจอได้ในวัดครับ อ่านสนุกแบบมีทั้งศรัทธาและพาณิชย์ไปกับ คอลัมน์พระบ้าน by ต้นคนชอบพระ

                                                ( รูปไพ่ THE LOVERS )

ไพ่ THE LOVERS

เป็นไพ่หมายเลข 6 ในไพ่ชุดใหญ่ หรือ Major Arcana จากสำรับไพ่ยิปซีหรือไพ่ทาโรต์ ไพ่ใบนี้หมายถึง ความรัก พรหมลิขิต การพบเจอ ความเข้ากันได้ โอกาสที่เข้ามา ทางเลือก โดยหากดูจาก หน้าไพ่ต้นฉบับจะพบรูปชายหญิงเปลือยกาย ซึ่งทั้งสองคือ อดัมกับอีฟ โดยมีเทพอีรอส (Eros เป็นรากศัพท์ของ คำว่า Erotic หรืออีกชื่อหนึ่งที่เราคุ้นเคยกันดีคือ Cupid ) อยู่ด้านหลัง โดยความหมายของไพ่จะอิงจากตำนานที่เทพอีรอสให้ทั้ง 2 อาศัยอยู่ด้วยกันในสวนแห่งอีเดนอย่างมีความสุข ไม่ต้องดิ้นรน จนวัน หนึ่งมี งู นำผลไม้ต้องห้ามคือผลแห่งความรู้มาให้ทั้งสองคน ซึ่งทั้งคู่ต้องตัดสินใจว่า จะกินผลไม้ต้องห้ามนี้หรือไม่ ซึ่งผลของของการตัดสินใจในครั้งนี้จะเปลี่ยนชีวิตของทั้งสองคนไปตลอดกาล อันเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของมนุษย์

ทำไมผมถึงหยิบเอาไพ่ใบนี้มากล่าวถึง เพราะอีกไม่กี่วันจะถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ อันเป็นวันที่สมมุติว่ามันคือวันแห่งความรัก ของสากล พอพูดถึงความรัก ทุกคนจะนึกถึง ความสุข ความคิดถึงคนึงหา และความรู้สึกอันที่ท่วมท้นอีกมากมายแต่ทุกอย่างในโลกนี้ย่อมมี หยินและหยาง อีกด้านของความรู้สึกแห่งความรัก อาจจะเป็นความเหงา ความเศร้า และอารมณ์ด้านลบอื่นๆ ซึ่งมันคล้ายกับ ไพ่The lovers  ไพ่ใบนี้ฟังแค่ชื่ออาจเหมือน ความรัก แต่ที่จริงแล้ว ความหมายที่แท้จริงคือ ทางเลือก ถ้าดูจาก รูปบนไพ่ จะเห็นว่า เทวดาได้ทำให้คนสองคนมาเจอกัน เปรียบเหมือนพรหมลิขิต แต่หากดูให้ลึกลงไปจะเห็นว่า ฝ่ายหญิงกำลัง มองหน้าเทวดาเหมือนสงสัยว่า “ผู้ชายคนนี้ใช่เนื้อคู่ของฉันจริงๆรึเปล่า” อีกทั้งยังมี งู ผู้เสนอผลไม้แห่งความรู้ซึ่งเป็นผลไม้ต้องห้ามอยู่ด้านหลัง ดังนั้นไพ่ใบนี้จึงเปรียบเสมือนโอกาสที่เข้ามา ให้เราต้องเลือกและตัดสินใจ ความรักก็เช่นกันถ้าเลือกถูกก็สุขสม แต่ถ้าเลือกผิดชีวิตก็เปลี่ยน เพราะฉะนั้นอาจกล่าวได้ว่า ความรักคือทางเลือก โดยขึ้นอยู่กับคนทั้งสองฝั่งจะเลือกไปทางไหน

                                                ( รูปนักบุญวาเลนไทน์ )

คำว่า รัก ไม่ได้มีแค่เรื่องของความรักเชิงความสัมพันธ์ระหว่างผู้สาวกะผู้บ่าวเท่านั้นแต่ยังมีเรื่องของความรู้สึกที่มีความปารถนาดีต่อผู้อื่นโดยไม่หวังว่าจะได้อะไรกลับมาหรือหวังแหละแต่ไม่ได้ตามหวังก็ช่าง แค่อยากทำให้ แบบนั้นก็มี ดูได้จาก อีตาเซ้นต์ เซย่า เอ๊ย! วาเลนไทน์ ต้นกำเนิดเทศกาลแห่งความรักสิ ตัวเซนต์วาเลนไทน์แกเป็นบาทหลวงอยู่ที่โบสถ์ใกล้ๆกรุงโรม ในยุคสมัยของพระเจ้าคลอดิอุสที่2 มีกฎหมายว่าห้ามมีการแต่งงานในเมืองของพระองค์ เพราะพระองค์ต้องการให้ผู้ชายทุกคนในเมืองต้องไปเป็นทหารเพื่อการทำสงคราม ท่านนักบุญ วาเลนไทน์รู้สึกเห็นใจคู่รักทีอยากแต่งงาน ท่านจึงแอบทำพิธีแต่งงานให้กับคู่รักอย่างลับๆ โดยภายในงานจะมีแค่ เจ้าสาว เจ้าบ่าว และบาทหลวงเท่านั้น พวกเขาต้องกระซิบคำสาบานและการอธิษฐานในการแต่งงาน แต่วันซวยก็มาถึง ทหารของพระเจ้าคลอดิอุสมาเห็นพิธีเข้าพอดี ( ตาดีจังแฮะ ) เซนต์วาเลนไทน์จึงถูกจำคุกและถูกลงโทษอย่างทารุณ  แต่บรรดาคู่รักที่ได้รับการทำพิธีแต่งงานโดย เซนต์วาเลนไทน์มักแอบมาเยี่ยมเซนต์วาเลนไทน์อยู่เสมอ ต่อมาผู้คุมคุกชื่อ แอสทีเรียส เขามีลูกสาวที่ตาบอด คิดว่าเซนต์ท่านน่ารักษาได้ เลยขอให้เซนต์ วาเลนไทน์ช่วยรักษา ที่สุดลูกสาวของแอสทีเรียสก็กลับมามองเห็นได้เหมือนเดิม ลูกสาวของแอสทีเรียสจึงมาเยี่ยมเซนต์วาเลนไทน์ที่คุกอยู่เสมอ จนกระทั่งถึงวันประหารชีวิตเซนต์ วาเลนไทน์ ก่อนเขาเสียชีวิตเขาก็เขียนจดหมายถึง ลูกสาวของแอสทีเรียสและลงท้ายด้วยคำว่า “From your valentine” แล้วเซนต์วาเลนไทน์ก็ถูกประหาร ชีวิตด้วยการตัดศีรษะในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ 269 หลังเซนต์วาเลนไทน์เสียชีวิต มีการบรรจุกะโหลก ของเซนต์วาเลนไทน์ไว้เป็นเรลิกที่กรุงโรม ประเทศ อิตาลี ต่อมาพระสันตะปาปาเกลาซิอุสได้ประกาศให้วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันที่เซนต์วาเลนไทน์ถูก ประหารชีวิต เป็นวันสำคัญ คือวันวาเลนไทน์ซึ่งเป็น วันตัวแทนแห่งความรัก ซึ่งจากวีรกรรมของท่านก็เป็นการสื่อถึงความรักและเมตตาที่ไม่ต้องการการตอบแทนใดๆอันเป็นความรักที่บริสุทธ์ที่มีต่อผู้คน และควรเอาตามอย่างในมุมของความหมายเป็นอย่างยิ่ง

                                                ( รูปกามเทพตะวันตก )

คิวปิด ( Cupid ) แห่งกรีก เออองกัส ( Aonghus ) แห่งไอริช

เออองกัส (Aonghus) เป็นเทพแห่งความรักตามเทวตำนานของชาว ไอริช (อยู่ในกลุ่มเทวตำนานเซลติ ประกอบด้วย ประเทศอังกฤษ เวลส สกอตแลนด์ ไอร์แลนด์ เบลเยียม และฝรั่งเศส) พระบิดาของเออองกัส คือมหาเทพดัคดา (Dagda) ผู้มีฐานะเป็นพระบิดาแห่งทวยเทพทั้งหลาย รวมทั้งสมาชิกในศาสนาเซลติ เช่น พระและกวี เป็นต้น  ส่วนพระมารดาคือเทวีแห่งวารีโบอันน์ (Boann) ผู้เยือกเย็นและงดงามยิ่ง เออองกัสเป็นชายหนุ่มรูปงาม มีปีก และมีนก 4 ตัว ที่มักจะบินโฉบ ฉวัดเฉวียนอยู่เหนือศีรษะของเขาเสมอ อันถือว่าเป็นเครื่องหมายของ “จุมพิต” นอกจากนี้นกทั้งสี่ หมายถึง “การร่วมรัก” กับเทวีแห่งความงามจากสวรรค์นามว่า เคร์ (Caer) ผู้แปลงร่างเป็นหงส์ และแหวกว่ายรวมอยู่กับหงส์ตัวอื่นอีก 150 ตัว จึงดูดาดตาเต็มสระ เหมือนกันไปหมด แต่เออองกัสก็มีตาวิเศษที่รู้ว่าเธอคือหงส์ตัวไหนทำให้เธอยอมแต่งงานด้วย

ในเทวตำนานของชาวไอริช กล่าวว่าผู้ปรารถนาในความรักจะรักใครแล้วอยากสมปรารถนาจะต้องบูชาหรือไม่ก็สร้างศาลาที่แวดล้อมด้วยสระน้ำใสสะอาดแล้วปล่อยหงส์ลงแหวกว่าย ในความหมายว่าขอให้สมปรารถนาในความรักแค่นั้น แล้วเทพบุตรเออแองกัสจะอำนวยพรให้ จะให้ว่าเออองกัสแทบไม่มีอะไรคล้ายกับกามเทพคิวปิด มีแค่สิ่งนึงที่เหมือนกันก็คือ มีปีก เหมือนกัน โดยคะเนว่า ปีกน่าจะหมายถึงความเร็ว หรือการเปลี่ยนแปลง คือความรักเป็นอารมณ์แบบมาเร็ว ไปเร็ว เปลี่ยนแปลงง่าย วันนี้รักพรุ่งนี้ร้าย  จึงคล้ายเป็นการเตือนใจให้ตระหนักในความเปลี่ยนง่ายของความรัก

ส่วนกามเทพยอดฮิตอย่าง  “คิวปิด” (Cupid)  หรือ “กามเทพ” เวอร์ชั่นตะวันตก เป็น ชื่อภาษาละตินของโรมัน ส่วนปกรณัมกรีกซึ่งเป็นต้นฉบับจะเรียกว่า “เอรอส” (Eros) คิวปิดในตำนานมีเรื่องราวความรักในระดับมหากาพย์  เรื่องราวถูกเล่าผ่าน อาพุเลอัส (Apuleius) นักประพันธ์ชาวละตินในคริสต์ศตวรรษที่ 12 แต่ก่อนอื่น ขอให้ทุกท่านลืมภาพ หนูน้อยคิวปิด ในร่างน้องแก้มยุ้ยมีปีกง้างศรยิงใส่ใครๆไปเรื่อย เพราะ คิวปิด ในตำนานนี้ คือ เทพบุตรสุดหล่อกับสาวงามที่สุดคนหนึ่งในปกรณัมกรีก-โรมัน ซึ่ง เป็นตำนานความรักแนวโรแมนติกดราม่า แฟนตาซีที่ถ้าเอามาทำซีรี่ยส์นี่มีติดกันงอมแงมมั่งละ เพราะตัวเอกต้องพบเหตุการณ์และบททดสอบนานัปการ เต็มไปด้วยแรงปรารถนา ความริษยา และความพากเพียร เพื่อให้ได้มาซึ่ง “ความรัก” และ “ความสมหวัง” เรียกได้ว่า ครบรส

                                                (รูปในตำนานคิวปิด )

ในยุคเทพนิยายยังมี ธิดาของราชามนุษย์ผู้หนึ่ง นางเป็นสาวงามที่งามล้ำเกินหน้าพี่สาวอีกสองคน ชื่อเสียงด้านความงามนั้นมากจน คนลือกันว่า งามยิ่งกว่า “วีนัส” (อะโฟรไดท์) เทพีแห่งความงามและ ความรัก เหล่าคนทั้งหลายจึงเทิดทูนบูชาความงามของนางแทนการ บูชาองค์เทพีวีนัส คนหันเหความสนใจ ไปที่ ธิดาราชามนุษย์นามว่า “ไซคี” (Psyche) ความงามของ ไซคี สั่นสะเทือนเลื่อนลั่นไปถึงสรวงสวรรค์ เทพีวีนัส เคืองปนอิจฉากับเรื่องที่เกิดขึ้น พระนางมอบหมายบุตรชาย ซึ่งเป็นเทพบุตรรูปงามนาม “คิวปิด” ให้ใช้อิทธิฤทธิ์กลั่นแกล้งไซคีให้หลงรักสิ่งมีชีวิตอัปลักษณ์น่ารังเกียจเสีย ( วีนัส หล่อนมันร้าย ) แต่พอพ่อเทพคิวปิดได้เห็นไซคี เทพหนุ่มเหมือนโดนศรรักปักอกดังฉึก! ไม่สนคำสั่งของเทพีวีนัส นส.ไซคีจึงไม่ได้ ตกหลุมรักสิ่งอัปลักษณ์ใดๆทั้งสิ้น

แม้ นส.ไซคี จะเลอโฉมขนาดนี้แต่ก็หาสามี บ่ได้ ไม่มีบุรุษคนใดมาสู่ขอนางเลย ในขณะที่ พี่สาวทั้งสองได้อภิเษกกับราชาต่างเมือง แต่สาวเจ้าไซคีกลับถูกปล่อยให้ครองโสดอย่างโดดเดี่ยว จนกระทั่งบิดาและมารดาของนางได้ รับการแจ้งจากเทพพยากรณ์แห่งวิหารอพอลโลว่า ชะตากรรมของนส.ไซคี ถูกลิขิตให้มีเนื้อคู่เป็นแบบ Beauty and the Beast เป็นปีศาจงูมีปีก ( สงสัยเทพพยากรณ์ดูดิสนี่ย์เยอะไปหน่อย ) และบอกให้นำนางไปคอยเนื้อคู่บนยอดเขา ไม่งั้นจะเกิดหายนะกับครอบครัวและคนรอบตัว ไซคีถูกปล่อยให้คอย ว่าที่สามีของนางบนยอดเขาแห่งหนึ่ง ฉับพลันบังเกิด ลมปริศนาหอบร่างนางไปยังทุ่งเขียวขจี ไซคีเผลอหลับไป เพราะความตกใจและเหนื่อย ก่อนจะตื่นมาพบว่าตนอยู่ริมแม่น้ำข้างคฤหาสน์หลังใหญ่ ที่เต็มไปด้วยอาหาร มีคนรับใช้ และมีดนตรีบรรเลง ที่นี่เองไซคีได้พบกับว่าที่สามีของนาง แม้นางไม่ได้รับอนุญาตให้เห็นหน้าของเขา แต่รู้สึกได้อย่างจริงจังว่าเขาน่าจะเป็นบุรุษรูปงามที่นางอยากครองคู่ด้วย

ในทุกคืน สามีจะมาหานางยามราตรีแล้วหลับนอนกันท่ามกลางความมืดและหายตัวไปก่อนฟ้าสาง เป็นเช่นนี้มาเรื่อยๆ จนอยู่มาวันนึงไซคีขอนุญาตสามีไปหาพี่สาวที่เชิงเขา แต่สามีห้ามปรามไว้ บอกว่าการเปิดเผยตนเองของนางจะนำความวิบัติมาสู่เขาและตัวนางด้วย แต่ที่สุดเมื่อถูกรบเร้าบวกกับอยากเอาใจเมีย สามีก็ยอมให้นางไปพบพี่สาว แต่กำชับว่า หากพี่สาวหว่านล้อมให้นางดูหน้าเขา  เขาจะไปจากนางทันที ไซคีรับปากว่าจะไม่เกิดเรื่องเช่นนั้นแน่นอน ( นี่มันละครไทยชัดๆ )

พี่สาวทั้งสองของไซคีพอมาเห็นคฤหาสน์และรู้ถึงความสุขสบายของน้องสาวก็บังเกิดความริษยา ( นั่นไง )  พวกนางอยากรู้ว่าใครคือสามีของไซคี พอรู้ว่าไซคี ไม่เคยเห็นหน้าสามี พวกนางจึงยุแยงว่า สามีของไซคีเป็นปีศาจตามคำพยากรณ์เป็นแน่ จึงปกปิดตัวตนเช่นนี้จะไว้ใจได้กา วันนึงเกิดเปรี้ยวปากขึ้นมาอาจจับไซคีกินก็ได้นิ พร้อมกับออกอุยาบให้ไซคีส่องตะเกียงดูหน้าเขาตอนหลับใหล หาก เป็นปีศาจจริงจงชิงจังหวะนั้นฆ่าเขาซะ

ไซคีประหวั่นไหวไปกับคำยุแยง คืนนั้นเลยทำตามแผนของสองพี่สาวผู้หวังดีแต่ประสงค์ร้ายส่องไฟไปยัง ใบหน้าของสามีผู้ปกปิดตัวตน พบว่าสามีของนางไม่ใช่อสุรกาย แถมเยังแซ่บมาก ขณะเดียวกันนางละอายใจที่หลงเชื่อคำยุยงของพี่สาว เผลอทำมีดร่วงจากมือ และทำน้ำมันตะเกียงหยดใส่สามี จนสะดุ้งตื่นและเข้าใจทันทีว่าไซคีที่รักไม่เชื่อใจเขา ผิดคำที่ให้ไว้ เขากางปีกเตรียมบินจากไป ก่อนจากเค้าเปิดเผยว่าตนคือ “คิวปิด” เทพแห่ง ความรัก แล้วพูดว่า “ความรักไม่สามารถอยู่ได้ในที่ที่ไม่มีความเชื่อใจกัน” ก่อนเหาะไป

                                    ( รูปในตำนานคิวปิด ไซคีถวายตัวเทพีวีนัส )

ไซคีโทษตนเองกับเรื่องที่เกิดขึ้น นางเดินทางออกตามหาเขา สวด อ้อนวอนให้ทวยเทพช่วยเหลือ แต่เทพเจ้าทั้งหลายเกรงจะผิดใจกับเทพีวีนัส ซึ่งบัดนี้โกรธเป็นฟืนเป็นไฟหลังรู้ว่าคิวปิดแอบไปมีสัมพันธ์กับนางมนุษย์ที่ตนเกลียด เมื่อจนตรอก ไซคีจึงถวายตัวรับใช้เทพีวีนัส เพราะหวังให้องค์เทพีคลายแรงพิโรธและเมตตาในความรักของนางที่มีต่อ คิวปิด เทพีวีนัสตอบรับคำขอแล้วมอบบททดสอบซึ่งไม่น่ามีมนุษย์หน้าไหนแก้ได้ให้ไซคีทันที เช่นให้ไซคีคัดแยกเมล็ดพืชกองมหึมาที่มีธัญพืชนานาพรรณ เช่น ข้าวสาลี ข้าวฟ่าง ฯลฯ ให้เสร็จก่อนมืดด้วยมือคนเดียว ( ใครจะทำได้ฟ่ะ ) แต่ยังโชคดีมีเหล่ามดกรูกันออกมาช่วยหญิงสาวผู้น่าสงสารคัดแยกเมล็ดพืชจนเสร็จ เทพีวีนัสหงุดหงิดใจเลยให้ไซคีไปเอาขนแกะทองคำจากฝูงแกะที่ดุร้าย พอมาถึงริมตลิ่งที่ฝูงแกะอาศัยอยู่ มีต้นอ้อต้นหนึ่ง บอกให้นางรอจนฝูงแกะเดินผ่านพงไม้ไปก่อน เพราะจะมีขนแกะทองคำเกี่ยวติดอยู่ตามต้นไม้เหล่านั้น ไซคีจึงนำขนแกะทองคำมามอบให้เทพีวีนัสจนได้ แต่ยังไม่หนำใจองค์เทพมีทรงส่งภารกิจยากๆให้ไซคีเก็บเวลไปเรื่อยๆมีทั้งให้ไปตักน้ำจากแม่น้ำมรณะ ครั้งนี้มีนกอินทรีช่วยจนสำเร็จ และภารกิจให้ไซคีเอาหีบไปส่งยมโลกโดยให้เทพีโพรเซอร์พิเน ธิดามหาเทพจูปิเตอร์ (ซุส) ซึ่งอยู่ใน ยมโลกว่า พระนางขอให้บรรจุ “ความงาม” ใส่กล่องนั้นกลับขึ้นมา

ไซคี เดินทางไปยังยมโลกผ่านเส้นทางสุดวิบากจนถึงวังของเทพีโพรเซอร์พิเน ซึ่งระหว่างทางต้องผ่านหอคอยบอกทางปากทางเข้ายมโลก แม่น้ำแห่งความตาย นั่งเรือแจวของเครอนผู้นำวิญญาณ เจอเซอร์เบอรัส สุนัขสามหัวผู้เฝ้าประตูสู่ยมโลก ก่อนจะได้พบเทพีโพรเซอร์พิเน ซึ่งพระนางก็มอบสิ่งที่เทพีวีนัสต้องการให้ ระหว่างทางขากลับ ไซคี ถูกทดสอบครั้งยิ่งใหญ่ ด้วยความอยากรู้อยากเห็น และแรงปรารถนาอันยากต้านทาน ทำให้นางเปิดกล่องนั้นก่อนถึงวังเทพีวีนัส แต่พบว่า กล่องว่างเปล่า แล้วไซคีก็ผล็อยหลับไปทันที  ( นึกถึงเรื่องจันทโครพตอนเปิดผอบเลย )

ฝั่งคิวปิดอดใจไม่ไหวไม่อาจหักห้ามใจความรู้สึกที่มีต่อนางได้ เขาเอาศรดอกหนึ่งแทงลงไปเพื่อปลุกนางให้ตื่น แล้วต่อว่านางเล็กน้อยที่อยากรู้อยากเห็น  ( ก็รักอ่ะนะ แต่ขอบ่นหน่อย ) พร้อมบอกให้นางนำกล่องใบนั้นไปให้มารดาของตนเพื่อจบภารกิจนี้ หลังจากนั้น คิวปิด ได้ขอให้เทพจูปิเตอร์ช่วย เพราะมั่นใจว่าเทพีวีนัส มารดาตนคงไม่หยุดหาเรื่อง คนรักของตนเป็นแน่ มหาเทพแห่งโอลิมปัสทรงตอบรับคำขอ พระองค์เรียกประชุมทวยเทพแล้วประกาศให้คิวปิดกับไซคีครองคู่กัน อย่างเป็นทางการ พร้อมมอบพลังแห่งอมตะให้ไซคี ไซคีจึงกลายเป็น เทพธิดา เทพีวีนัสได้แต่กัดฟันกรอดๆแต่ก็จำยอมรับสถานะลูกสะใภ้ของนาง อย่างเสียมิได้

ถือเป็นบททดสอบและการลองใจอันสาหัสสากรรจ์ สุดท้ายเรื่องนี้จบแบบ สมหวัง คือทั้งคู่ต่างสมหวังในความปรารถนา แต่กว่าจะได้สมรักสมรสก็เกือบตายหลายรอบ ตำนานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ครอบครัวกับชีวิตคู่ อยู่ได้ด้วยความเชื่อใจและให้อภัย

                                                ( รูปคิวปิดในวัดปุบผาราม )

            ก่อนจากอยากฝากเอาไว้ว่าหากใครอยากเห็นคิวปิดหรือกามเทพ ไม่ต้องไปดูไกลถึงต่างประเทศ ในไทยนี่ก็มีให้ดู แถมอยู่ใน วัด ใช่อ่านไม่ผิดครับ  อยู่ในวัดนี่แหละ แถมอยู่ใน กทม.เราอีกตะหาก ถ้าใครมีโอกาสได้ไปทำบุญวัดบุปผาราม ฝั่งธนบุรี อย่าลืมมองหากามเทพน้อย “คิวปิด” ว่าซ่อนตัวอยู่ตรงไหนบ้าง บริเวณบนเพดานพาไลของพระวิหาร เป็นกามเทพน้อยรูปร่างจ้ำม่ำที่เหาะสร้างรอยยิ้มให้กับผู้ที่พบเห็นได้เป็นอย่างดี

“คิวปิด” ที่ว่านี้ปรากฏเป็นภาพจิตรกรรมบนเพดานพาไลด้านนอกของพระวิหาร ซึ่งหากจะหาให้เจอต้องแหงนหน้าขึ้นมองหาบนเพดาน ภาพกามเทพน้อย เป็นเด็กรูปร่างจ้ำม่ำ เปลือยกาย พร้อมกับมี ปีกเล็กๆ  2 ข้าง ซึ่งมีภาพเขียนกามเทพน้อย 6 องค์ และยังมีนางฟ้าฝรั่งคีอีก 2 องค์ ลอยอยู่บนเพดานพระวิหาร

กามเทพน้อย “คิวปิด” มาอยู่ที่บนเพดานพระวิหารวัดบุปผารามนี้ สันนิษฐานว่าสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) น่าจะให้ช่างเขียนไว้เป็นภาพเทพฝรั่ง เทวดาต่างชาติเหาะแบบเทวดาไทยๆ โดยได้แรงบันดาลใจมาจากชาติตะวันตก แสดงถึงความแปลกตาและทันสมัยในยุคนั้น และนำมาผสมผสานเข้ากับการประดับตกแต่งในศิลปกรรมไทย ถือเป็น กามเทพฝรั่งในวัดไทย ยุคแรกๆ

            คราวหน้ามาลุ้นกัน ว่าจะนำเสนอองค์ไหนหรือตำนานอะไรครับ

    เขียนโดย

ต้น คนชอบพระ

                                    ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก สื่อโซเซี่ยล ครับ

ปล. หากมีวัด ศาสนถาน โรงเรียน โรงพยาบาล ฯลฯใดที่ต้องการประชาสัมพันธ์การขายวัตถุมงคลหรือบริจาคเพื่อการกุศลอย่างแท้จริง ทางคอลัม์พระบ้าน ยินดีประชาสัมพันธ์ให้ฟรีครับ

 สนใจลงโฆษณาประชาสัมพันธ์ ติดต่อ 0818214442 ต้น