•สหรัฐ
เศรษฐกิจสหรัฐมีโอกาส soft-landing สูงขึ้น ตัดทอนโอกาสเฟด ลดอัตราดอกเบี้ยเร็วในเดือนธันวาคม แม้ว่ายอดขายบ้านมือสองลดลง -6.2% สู่ระดับ 3.78 ล้านยูนิต ต่ำกว่าคาดการณ์ของตลาดที่ 3.82 ล้านยูนิต แต่เครื่องชี้อื่นๆ ปรับตัวดีขึ้น อาทิ ยอดค้าปลีกขยายตัว 5.5% YoY เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ 3.97% ขณะที่ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงสู่ระดับ 187,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ต่ำสุดในรอบ16 เดือน นอกจากนี้ ในเดือนมกราคม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 78.8สูงสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 ขณะที่ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น2.9% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า ลดลงจากระดับ 3.1% ในการสำรวจครั้งก่อนหน้า
ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐในเดือนธันวาคมที่แข็งแกร่งกว่าคาดรวมถึงแรงกดดันเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มชะลอลงแบบค่อยเป็นค่อยไปในปี 2567 ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรง แต่อาจลดทอนโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งรีบปรับลดอัตราดอกเบี้ย ขณะเดียวกันถ้อยแถลงของคณะกรรมการเฟดยังคงสนับสนุนการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูงต่อไปจนกว่าจะเห็นสัญญาณการลดลงของเงินเฟ้อสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% ในระยะยาว ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีจึงยังคงคาดว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.25-5.50% จนถึงกลางปี 2567 ก่อนเริ่มปรับลดในช่วงต้นไตรมาส 3/2567
•ยูโรโซน
ECB ส่งสัญญาณปรับลดดอกเบี้ยในไตรมาส 2 อย่างไรก็ตาม วิกฤตทะเลแดงยังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญที่จะมีผลต่อการกำหนดทิศทางนโยบายการเงินในอนาคต ในเดือนพฤศจิกายน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัว -6.8% YoY ขณะที่ภาพรวมเงินเฟ้อสูงกว่าคาด โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนธันวาคมเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 2.9% YoY จาก2.4% ในเดือนก่อน ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงสู่ระดับ 3.4% จาก 3.6% ในเดือนก่อน นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ (ZEW) ลดลงเล็กน้อยสู่ระดับ 22.7 ในเดือนมกราคม จาก 23.0 ในเดือนก่อนหน้า
คาดเศรษฐกิจยูโรโซนเข้าสู่ภาวะถดถอยในไตรมาส 4/2566 และมีแนวโน้มซบเซาต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีแรก จาก (i) ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่ปรับลดลง (ii) ต้นทุนทางการเงินที่อยู่ในระดับสูง และ (iii) ภาพรวมการส่งออกที่อ่อนแอตามเศรษฐกิจคู่ค้า นอกจากนี้ ทิศทางนโยบายการคลังที่มีแนวโน้มเข้มงวดมากขึ้น คาดว่าจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจยูโรโซนในปีนี้ ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีประเมินว่าเศรษฐกิจยูโรโซนที่กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยจะส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อยังคงอยู่ในทิศทางชะลอลง และอาจเปิดทางให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เริ่มทยอยผ่อนคลายนโยบายการเงินได้ โดยประธาน ECB เผยว่าการลดดอกเบี้ยอาจเกิดขึ้นเร็วสุดในช่วงกลางปีนี้ (จากบทสัมภาษณ์ในวันที่ 18 มกราคม) อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความไม่สงบในทะเลแดงที่อาจนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อรอบใหม่จะยังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญที่กระทบต่อทิศทางนโยบายการเงินในอนาคต
•จีน
แม้เศรษฐกิจจีนในปี 2566 เติบโตสูงกว่าเป้าหมาย แต่ปี 2567 มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากอุปสงค์ในประเทศและตลาดอสังหาฯ ที่ยังอ่อนแอ เศรษฐกิจจีนในปี 2566 เติบโต5.2% สูงกว่าเป้าหมายของรัฐบาลที่ 5% และเพิ่มขึ้นจาก 2.2% ในปี 2565 โดยได้แรงหนุนจากการเปิดประเทศแบบเต็มรูปแบบและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ สะท้อนจากยอดค้าปลีกที่ขยายตัว 7.2% ในปี 2566 จากที่หดตัว 0.3% ในปี 2565 เช่นเดียวกับผลผลิตภาค อุตสาหกรรมขยายตัว 4.6% เพิ่มขึ้นจาก 3.6% อย่างไรก็ตาม ยอดขายอาคารรวม (ที่พักอาศัย อาคารสำนักงาน และอาคารพาณิชย์) และการลงทุนในภาคอสังหาฯ ยังคงหดตัวที่ -12.5% และ -16.5% ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกในรูปสกุลดอลลาร์ทั้งปี 2566 ลดลง -4.6% โดยเริ่มปรับตัวขึ้นเล็กน้อยในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมที่ 0.7% และ 2.3% YoY ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการลดราคาสินค้าของผู้ผลิตเพื่อเพิ่มยอดขายในตลาด
การบริโภคในประเทศจะยังเป็นปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนในปี 2567ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น Special Sovereign Bond ซึ่งคาดว่ามีมูลค่าทั้งสิ้น 139 พันล้านดอลลาร์ จะช่วยกระตุ้นการลงทุนในโครงการด้านอาหาร พลังงาน ห่วงโซ่อุปทาน และการพัฒนาเมือง อย่างไรก็ตาม สัญญาณการฟื้นตัวในภาคการส่งออกยังไม่ชัดเจน ในขณะที่ ผลบวกจากการเปิดประเทศลดลง ประกอบกับวิกฤตในภาคอสังหาฯ ตลอดจนภาวะเงินฝืด จะยังคงเป็นปัจจัยลบที่กดดันเศรษฐกิจจีนต่อเนื่องในปีนี้ จึงคาดว่าเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มเติบโตชะลอลงจากปีที่ผ่านมาอยู่ที่ราว 4.6% ในปี 2567
คาดกนง.คงดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมนัดแรกของปีนี้ ขณะที่เศรษฐกิจอาจได้รับแรงกระตุ้นเพิ่มผ่านการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลสูงกว่า 3%ต่อ GDP ต่อเนื่องในปี 2568
ธปท.ชี้เศรษฐกิจไทยเผชิญปัจจัยเชิงโครงสร้างที่เป็นข้อจำกัดดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนอัตราเงินเฟ้อที่ติดลบในช่วงที่ผ่ต่อการเติบโต การใช้นโยบายการเงินไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่รวดเร็ว ในการแถลงแนวคิดนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อวันที่ 15 มกราคม โดยผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ระบุว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับ 2.50% มีความเหมาะสมในบริบทเศรษฐกิจการเงินในปัจจุบัน ซึ่งพอจะสรุปประเด็นที่สำคัญได้ดังนี้
(i) ธปท.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวในหลายมิติ โดยเฉพาะอุปสงค์ในประเทศ ภาคบริการ และการจ้างงานที่ปรับตัวานมาส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการอุดหนุนและมาตรการช่วยเหลือด้านพลังงานของรัฐบาล ซึ่งไม่ได้เกิดจากการลดลงของราคาสินค้าเป็นวงกว้าง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนับว่าอยู่ในระดับที่ต่ำและต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ เป็นส่วนใหญ่
(ii) ภาวะการขยายตัวของสินเชื่อปรับดีขึ้นจากแนวโน้มการกลับมาให้สินเชื่อที่เพิ่มขึ้น และการออกตราสารหนี้ของภาคเอกชนมีความเสี่ยง roll over ยังจำกัดอยู่
(iii) แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะปรับสูงขึ้น แต่ธปท.ยังมีการดำเนินมาตรการเฉพาะเจาะจงกับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง โดยล่าสุด ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดภาระบางส่วนที่ลูกหนี้ต้องเผชิญในการผ่อนชำระหนี้
ทั้งนี้ จากมุมมองล่าสุดของธปท.เกี่ยวกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอัตราเงินเฟ้อที่ปรับลดลงชั่วคราว และยังมีการให้ความช่วยเหลือที่เน้นตรงไปยังกับกลุ่มเป้าหมายที่เปราะบางเป็นสำคัญ ประกอบกับความเห็นว่าเศรษฐกิจไทยที่เติบโตต่ำ มีสาเหตุจากมีปัญหาจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัว ซึ่งธปท.ชี้ว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่รวดเร็ว (quick fix) จึงคาดว่าในการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งแรกของปีนี้ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ กนง. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50%
รัฐบาลกำหนดกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ที่ 3.6 ล้านล้านบาท เป็นงบขาดดุลที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนราว 2 หมื่นล้านบาท การประชุมของคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 16 มกราคม มีมติเห็นชอบกรอบงบประมาณปี 2568 โดยกำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายไว้ที่ 3.6 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากวงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ในปีงบฯ2567 (หรือเพิ่มขึ้น 3.4%) โดยเป็นงบประมาณขาดดุลอยู่ที่ 7.13 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนซึ่งขาดดุลที่ 6.93 แสนล้านบาท (หรือเพิ่มขึ้น 2.9%) และเป็นงบขาดดุล3.56% ต่อ GDP เทียบกับขาดดุลที่ 3.64% ต่อ GDP ในปีงบฯ 2567
เศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปีนี้คาดว่ายังขาดแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐ เนื่องจากการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในปี 2566 ทำให้การจัดทำพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 มีความล่าช้าออกไป (จากปกติจะเริ่มเบิกจ่ายได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566) อย่างไรก็ตาม คาดว่าการจัดทำจะเสร็จสิ้นและสามารถเร่งเบิกจ่ายได้ภายในไตรมาสสองของปีนี้ ซึ่งจะกลับมาเป็นแรงขับเคลื่อนช่วยหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจได้ในระยะถัดไป (ดังเช่นการเบิกจ่ายที่เกิดขึ้นในช่วงหลังการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562) นอกจากนี้ การจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลต่อเนื่องยาวนานกว่า 20 ปี และยังคงขาดดุลการคลังสูงกว่า 3% ของ GDP ต่อเนื่องในปี 2568 สะท้อนเศรษฐกิจไทยยังมีความจำเป็นต้องได้รับแรงกระตุ้นผ่านทางนโยบายการคลัง ในอีกมุมหนึ่งอาจยังต้องระวังผลกระทบต่อวินัยการคลังและหนี้สาธารณะซึ่งล่าสุดอยู่ที่ระดับประมาณ 62% ต่อ GDP