น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภาและ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว กล่าวถึงการพิจารณาผ่านร่างพรบ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ …. โดยระบุว่า “วันศุกร์ที่20 ก.ค 2561 นี้สนช.จะพิจารณาผ่านร่างพรบ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ ….โดยสาระสำคัญในการแก้ไขคือนิยามของรัฐวิสาหกิจ ที่ในพรบ.เดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปี2502 นิยามรัฐวิสาหกิจไว้ 4ชั้น คือ แม่ , ลูก ,หลาน , เหลน ร่างพรบ.ใหม่นี้แก้ให้เหลือแค่ ชั้น แม่ และลูกเท่านั้น
การนิยามรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายเดิมใช้สัดส่วนหุ้นของรัฐที่ถือในบริษัทแต่ละชั้นว่าเกิน50% หรือไม่เป็นตัวกำหนดความเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีความรัดกุมอยู่แล้ว แต่รัฐบาลคสช.+ สนช กำลังแก้ไขโดยตัดรัฐวิสาหกิจให้เหลือแค่2ชั้น โดยไม่พิจารณาว่ารัฐจะมีหุ้นในบริษัทนั้นๆเกิน50% หรือไม่ หรือยังมีสิทธิผูกขาดสิทธิพิเศษของรัฐที่ติดไปกับบริษัทเหล่านั้นด้วยหรือไม่
การแก้ไขนิยามรัฐวิสาหกิจเช่นนี้ จะเป็นการปลดล็อคบริษัทที่เคยเป็นรัฐวิสาหกิจชั้นหลานและเหลนออกไปเป็นเอกชนโดยอาจพ่วงเอาสาธารณสมบัติ และอำนาจมหาชนที่บริษัทแม่ หรือบริษัทลูกถ่ายโอนไปเก็บไว้ที่บริษัทเหล่านั้นในชั้นหลานเเละเหลนเอาไว้ก่อนก็เป็นได้ ใช่หรือไม่
คำอธิบายที่ต้องแก้ไขนิยามตัดบริษัทชั้นหลานและเหลนออกไป ก็เพื่อให้บริษัทในลำดับที่มีความห่างจากการเป็นรัฐวิสาหกิจให้มีความเป็นอิสระคล่องตัว ทั้งที่กฎหมายเดิมที่กำหนดความเป็นรัฐวิสาหกิจนั้นก็เหมาะสมอยู่แล้ว จึงมีข้อสังเกตว่าการแก้ไขนิยามเช่นนี้ นอกจากเพื่อไม่ต้องถูกตรวจสอบโดยสตง.ไม่ต้องขึ้นอยู่กับกฎหมายว่าด้วยการทำสัญญากับหน่วยงานรัฐที่รู้จักกันในชื่อ กฎหมายฮั้วแล้วแล้ว สิ่งที่ต้องการจริงๆ คือการถ่ายโอนทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติ และสิทธิพิเศษของรัฐออกไปเป็นของเอกชนหรือไม่ กรณีเช่นนี้ทำให้มีคำถามว่าเป็น ”การแปรรูปอำพราง” ที่ต้องการหลบเลี่ยงพรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 ใช่หรือไม่
การแปรรูปกิจการของรัฐวิสาหกิจตามพรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 นั้น ต้องมีการแยกสาธารณสมบัติ สิทธิพิเศษต่างๆ และอำนาจมหาชนออกเสียก่อน แม้กฎหมายบัญญัติไว้ชัดเจน แต่ในการแปรรูปปตท.ที่ผ่านมา ก็มีการหลบเลี่ยงไม่ปฏิบัติ ต่อเมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาคดีการแปรรูปปตท.ที่ไม่ได้แยกสาธารณสมบัติ สิทธิและอำนาจมหาชนของรัฐคืนให้กระทรวงการคลังก่อนนำหุ้นไปกระจายในตลาดหลักทรัพย์ และมีคำสั่งให้แบ่งแยกทรัพย์สิน สิทธิและอำนาจมหาชนออกจากปตท.คืนให้กับกระทรวงการคลัง
ตามคำพิพากษาเมื่อมีการแปรรูปแล้ว ปตท.ไม่ถือเป็นองคาพยพของรัฐอีกต่อไป แม้รัฐยังถือหุ้นส่วนข้างมากอยู่ก็ตาม เพราะไม่มีความแน่นอนว่ารัฐจะคงการถือหุ้นส่วนข้างมากไว้จนตลอดไปหรือไม่ ดังนั้นปตทจึงไม่สามารถครอบครองสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่เป็นทรัพย์สินเพื่อการใช้ร่วมกันของคนในชาติ และไม่สามารถคงสิทธิและอำนาจมหาชนของรัฐเอาไว้ด้วย เพราะจะเกิดความไม่เป็นธรรมต่อเอกชนรายอื่นที่ไม่มีสิทธิและอำนาจรัฐ
การแก้นิยามของกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณที่ให้รัฐวิสาหกิจลดเหลือแค่2ชั้น จึงอาจเป็นการเปิดช่องให้มีการถ่ายโอนทรัพย์สินและสิทธิพิเศษบางประการไปไว้ในบริษัทชั้นหลานและเหลนก่อน ซึ่งจะกลายเป็นบริษัทเอกชนไปโดยผลของกฎหมายได้ ใช่หรือไม่
ที่น่าสนใจคือพรบ.หนี้สาธารณะที่ได้ผ่านสภาสนช.เป็นกฎหมายไปแล้ว ได้นิยามรัฐวิสาหกิจไว้ 3 ชั้น แต่ร่างพรบ.วิธีการงบประมาณ กลับแก้ไขให้เหลือ แค่2ชั้น เพราะเหตุใด ?
เพราะได้วางเส้นทางให้ไปเชื่อมต่อกับอีกร่างกฎหมายหนึ่งเพื่อพรางสายตาประชาชนใช่หรือไม่
ร่างที่พูดถึงคือ”ร่างพรบ.การพัฒนาการกำกับการบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ…” เรียกสั้นๆว่า ”ร่างพรบ. บรรษัทวิสาหกิจ (ซูเปอร์โฮลดิ้ง) ” ที่ยังค้างอยู่ในชั้นการพิจารณาของกรรมาธิการในสนช. เพราะถูกสหภาพรัฐวิสาหกิจ และประชาชน คัดค้านอย่างหนักจนหยุดชะงักไปว่าเป็นกฎหมายเพื่อทำลายความเป็นรัฐวิสาหกิจ และเป็นช่องทางในการนำรัฐวิสาหกิจไปหาประโยชน์ในตลาดหลักทรัพย์ และอาจเปิดทางให้เกิดการทุจริตเหมือนกรณี บริษัท1 MDB ของมาเลเซีย ที่มีข่าวฉาวโฉ่ที่อดีตนายกรัฐมนตรีสามารถถ่ายโอนทรัพย์สินเกือบ1หมื่นล้านบาทเข้าบัญชีตัวเองจากบริษัทที่เป็นซูเปอร์โฮลดิ้งแบบบรรษัทวิสาหกิจในร่างกฎหมายดังกล่าว
ที่ต้องจับตากันอย่างจริงจังคือหากร่างกฎหมายบรรษัทวิสาหกิจจะถูกหักดิบผ่านออกมาเป็นกฎหมายในสภาเสียงเอกฉันท์อย่างสนช.ที่ไม่มีฝ่ายค้าน เป็นลำดับต่อจากร่างพรบ.วิธีการงบประมาณหรือไม่ ร่างพรบ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ ….เป็นที่เชื่อแน่ว่าสนช.จะโหวตผ่านเป็นกฎหมายในวันศุกร์ที่20ก.ค นี้อย่างแน่นอน
สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ กฎหมาย2ฉบับนี้ เหมือนการแยกชิ้นส่วนออกจากกันก่อน ค่อยนำมาประกอบร่างกันภายหลัง นิยามรัฐวิสาหกิจในร่างพรบ.บรรษัทวิสาหกิจ จะมี2ชั้นเหมือนร่างพรบ.วิธีการงบประมาณ ในร่างกฎหมายฉบับนี้ บรรษัทวิสาหกิจจะเป็นชั้นแม่ ส่วนรัฐวิสาหกิจ11 แห่ง (ปตท.การบินไทย การท่าอากาศยาน ทีโอที กสท. การไปรษณีย์ไทย เป็นต้น)ที่จะโอนจากกระทรวงการคลังมาอยู่ภายใต้บรรษัทวิสาหกิจ จะกลายเป็นลูก ดังนั้นบรรดาลูกของบริษัทเหล่านี้ จะหลุดจากการเป็นรัฐวิสาหกิจโดยผลของกฎหมายทันที ยกตัวอย่างบรรดาบริษัทลูกและหลานของปตทที่มีอยู่อย่างมากมาย เช่น ปตท.สผ. PTTOR ฯลฯ จะกลายเป็นบริษัทหลานและเหลน และจะกลายเป็นบริษัทเอกชนไปโดยผลของกฎหมาย ไม่ว่ารัฐจะมีหุ้นเกิน50% หรือไม่
กรณีความพยายามที่จะแยกท่อก๊าซมาตั้งเป็นบริษัทลูกของปตท.แต่ถูกคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินวินิจฉัยว่าท่อในทะเลต้องคืนให้รัฐ เรื่องจึงคาอยู่ สมมติมีการหักดิบตั้งบริษัทท่อก๊าซเป็นบริษัทลูกสำเร็จ บริษัทท่อก๊าซก็จะกลายเป็นบริษัทหลาน และโดยผลของกฎหมายก็จะกลายเป็นทรัพย์สินของเอกชน ใช่หรือไม่
คสช.+สนช.กำลังเดินหน้าอย่างเต็มสูบในการเข็นกฎหมายถ่ายโอนทรัพย์สินต่างๆของรัฐวิสาหกิจในแต่ละชั้นออกไปเป็นของทรัพย์สินของเอกชนโดยลำดับ ใช่หรือไม่
และเหล่านี้คือโร้ดแม็ปของแท้ที่คสช.ไม่ได้ประกาศ แต่กำลังขมีขมันเดินหน้าอย่างเต็มสูบให้สำเร็จก่อนจะถึงโร้ดแม็ปเลือกตั้ง ใช่หรือไม่”
“ถ่ายโอนทรัพย์สินรัฐให้เอกชนโดยกฎหมายโร้ดแม็ปคสช.ที่ไม่ได้ประกาศ !?!”วันศุกร์ที่20 ก.ค 2561…
โพสต์โดย Rosana Tositrakul เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 19 กรกฎาคม 2018