สรุปผลการประชุม ผบ.เหล่าทัพ ครั้งที่ 2 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

383

วันอังคารที่ 23 มกราคม 2567 เวลา 10.00 นาฬิกา กองบัญชาการกองทัพไทย จัดการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ ครั้งที่ 2 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมี พลเอก ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธาน พร้อมด้วย ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 241 อาคาร 2 ชั้น 4 กองบัญชาการกองทัพบก
ถนนราชดำเนิน เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

ในโอกาสนี้ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้กล่าวขอบคุณเหล่าทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ได้ร่วมปฏิบัติภารกิจในการสนับสนุนรัฐบาลเป็นอย่างดี โดยเฉพาะเรื่องการช่วยเหลือประชาชน ที่ประสบภัยพิบัติต่าง ๆ ซึ่งช่วยให้สถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งวันนี้ที่ประชุมฯ ได้รับทราบแนวทางการพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพและสำนักงานตำรวจแห่งชาติในด้านการฝึก โดยมีสาระสำคัญดังนี้

กองบัญชาการกองทัพไทย ได้ชี้แจงให้ที่ประชุมได้รับทราบ จำนวน 2 เรื่อง ได้แก่ นโยบายการฝึกของกองทัพไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566-2570 ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางดำเนินการด้านการฝึกของกองทัพไทย ประกอบด้วย นโยบายทั่วไป จำนวน 14 ข้อ และนโยบายเฉพาะ จำนวน 4 แผนงาน เรื่องที่สอง ได้แก่ การฝึกร่วม และการฝึกร่วม/ผสม ของกองทัพไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งมีการฝึกที่สำคัญที่เหล่าทัพจัดกำลังเข้าร่วมการฝึก ได้แก่ การฝึกปฏิบัติการร่วม พลเรือน ตำรวจ ทหาร ประจำปี 2567 (กฝร.พตท.67) ซึ่งจะมีพิธีเปิดการฝึกในวันที่ 24 มกราคม 2567 การฝึกร่วม/ผสม Cobra Gold 2024 (CG24) ซึ่งเป็นครั้งที่ 43 ในวงรอบปี Heavy Year ใช้พื้นที่กองทัพภาคที่ 1 และพื้นที่อ่าวไทยตอนบน เป็นพื้นที่ฝึกหลัก โดยนำแนวคิดตามหลักนิยม Combined/Joint All-Domains Operations (CJADO) มาใช้เพื่อยกระดับและเพิ่มความซับซ้อนของปฏิบัติการร่วมระหว่างมิติการรบ และการฝึกร่วมกองทัพไทย ประจำปี 2567 (กฝร.67) ซึ่งเป็นวงรอบการฝึก Light Year บนพื้นฐานของแผนป้องกันประเทศด้านตะวันตก (แผนนเรศวร : ทน.62) นอกจากนี้ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดยังได้มีดำริให้กองทัพไทยพิจารณาริเริ่มการบูรณาการการฝึกร่วมด้านการต่อต้านโดรนและการใช้โดรนโจมตี ด้านการข่าว และการฝึกการปฏิบัติการพิเศษร่วม อีกด้วย

กองทัพบก ได้ชี้แจงแนวทางการปรับปรุง พัฒนา และจัดการฝึกประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567ของกองทัพบก โดยมุ่งเน้นการพัฒนาความรู้และความชำนาญให้กับกำลังพลและหน่วย ด้วยการปรับปรุง/พัฒนา การจัดการฝึกตามวงรอบประจำปี การฝึกพิเศษ และหลักสูตรการฝึกอบรมทุกระดับ ควบคู่กับการนำเทคโนโลยีและยุทโธปกรณ์ด้านการป้องกันประเทศที่มีความทันสมัยเข้ามาใช้งานในกองทัพชดเชยการปรับลดกำลังพลทั้งในด้านการฝึก โดยนำบทเรียนจากการรบ การปฏิบัติการ และการฝึก มาประยุกต์ใช้เป็นแนวทางจัดการฝึก ด้านการฝึกร่วม/ผสมกับกองทัพมิตรประเทศ ซึ่งมีเป้าหมายในการทำการฝึก แยกเป็น กลุ่มกองทัพมิตรประเทศที่มีหลักนิยมเหมือนหรือใกล้เคียงกับกองทัพบก, กลุ่มกองทัพมิตรประเทศที่มีหลักนิยมไม่เหมือนกับกองทัพบก และกลุ่มกองทัพประเทศเพื่อนบ้าน ด้านการฝึกอบรม มุ่งพัฒนาระบบการฝึกอบรมทั้งระบบ เริ่มต้นจากการปรับปรุงหลักสูตรตามแนวทางรับราชการ โดยปรับลดเวลาการบรรยายในห้องเรียน ปรับลดวิชาที่ไม่ใช่วิชาหลัก ลดความซ้ำซ้อนของวิชาในหลักสูตรแต่ละระดับ ใช้การถกแถลง แลกเปลี่ยนการเรียนรู้และเพิ่มการฝึกปฏิบัติตามความชำนาญการทางทหาร รวมทั้งใช้ระบบสารสนเทศในการเตรียมความพร้อมให้กับกำลังพลก่อนเข้ารับการฝึกอบรม

กองทัพเรือ ได้นำเสนอแนวทางการฝึกกองทัพเรือประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งถือเป็นการฝึกที่สำคัญที่สุดของกองทัพเรือ ภายใต้แนวคิดการบูรณาการกำลังรบ ครบทั้ง 4 มิติ โดยมีหัวข้อการฝึกที่สำคัญ แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ การฝึกแลกเปลี่ยนความรู้, การฝึกปัญหาที่บังคับการ CPX และการฝึกภาคสนาม/ภาคทะเล โดยในห้วงแรกเป็นการฝึกการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติทางทะเล HADR บริเวณพื้นที่อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในระหว่างวันที่ 1-5 เม.ย. 2567 ห้วงที่ 2 เป็นการฝึกในทะเล ระหว่างวันที่ 7-15 พฤษภาคม 2567 เป็นการจัดตั้งกองเรือเฉพาะกิจปฏิบัติการระยะไกล ทำการฝึกปฏิบัติการทางเรือสาขาต่าง ๆ ได้แก่ การฝึกยกพลขึ้นบก การฝึกยิงตอร์ปิโดแบบ MK 46 จำนวน 4 ลูก โดย ร.ล.ภูมิพลอดุลยเดช และ ร.ล.นเรศวร การฝึกยิงอาวุธปล่อยนำวิธีพื้น – สู่ – อากาศ แบบ Evolved Sea Sparrow Missile หรือ ESSM โดย ร.ล.ภูมิพลอดุลยเดช และ ร.ล.ตากสิน การฝึกปฏิบัติการร่วมระหว่างเรือของกองทัพเรือ และอากาศยานของกองทัพอากาศ ในการป้องกันภัยทางอากาศให้กับกองเรือ ตลอดจนการฝึกป้องกันพื้นที่ และการฝึกป้องกันฐานทัพท่าเรือของทัพเรือภาค จากนั้นเป็นการฝึกภาคสนาม ในห้วงวันที่ 20-24 พฤษภาคม 2567 โดยเป็นการฝึกการยิงอาวุธทางยุทธวิธีในพื้นที่อ่าวไทย จังหวัดชลบุรี และการฝึกดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง ของหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ร่วมกับกองทัพบก และกองทัพอากาศ ณ สนามฝึกกองทัพเรือ หมายเลข 16 บ้านจันทเขลม จังหวัดจันทบุรี ทั้งนี้ กองทัพเรือ ยังคงตั้งมั่น และดำรงแนวทางในการฝึกที่ว่า “รบอย่างไร ฝึกอย่างนั้น” เพื่อให้ผู้รับการฝึกสามารถนำบทเรียนจากการฝึกไปใช้ในการปฏิบัติงานในสนามรบได้จริง และได้รับการพัฒนาการฝึกอย่างต่อเนื่อง

กองทัพอากาศ ได้นำเสนอแผนการฝึกที่สำคัญของกองทัพอากาศในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมีแนวคิดในการจัดการฝึกเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการปฏิบัติภารกิจทั้งด้านการรบและมิใช่การรบ ตอบสนองทั้งในระดับยุทธวิธี ยุทธการ และยุทธศาสตร์ เพื่อให้กำลังพลมีขีดความสามารถในการวางแผน อำนวยการ ประสานงาน และปฏิบัติภารกิจ โดยอาศัยการฝึกต่าง ๆ ที่จัดขึ้นเป็นโอกาสในการพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถของกำลังพลให้มีความพร้อมตั้งแต่ระดับหมู่บิน ฝูงบิน และการประกอบกำลังขนาดใหญ่ในการปฏิบัติการร่วม/ผสม ตลอดจนการบูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในภารกิจด้านความมั่นคง การบรรเทาสาธารณภัยและช่วยเหลือประชาชน พร้อมรองรับภัยคุกคามและความท้าทายในทุกมิติในอนาคต อาทิ การแข่งขันการปฏิบัติการทางอากาศยุทธวิธี ประจำปี 2567, การทดสอบการใช้กำลังกองทัพอากาศ ประจำปี 2567, การฝึกร่วม/ผสม Cobra Gold 2024, การฝึกผสม Cope Tiger 2024, การฝึกผสม Pitch Black 2024, การฝึกผสม Falcon Strike 2024, การฝึกบินควบคุมไฟป่ากองทัพอากาศ ประจำปี 2567 และการฝึกซ้อมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัย ประจำปี 2567 หรือ SAREX 2024 เป็นต้น

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้บรรยายสรุป การฝึกร่วมที่สำคัญ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้แก่ โครงการฝึกอบรมหลักสูตรปฏิบัติการเรือเล็ก (Small Boat Operations Course) ซึ่งเป็นการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของข้าราชการสังกัดกองบังคับการตำรวจน้ำ การปฏิบัติงานในแม่น้ำ รวมทั้งเป็นการเสริมสร้างประสิทธิภาพในการป้องกันปราบปรามยาเสพติด และอาชญากรรมที่เกิดขึ้นตามแนวแม่น้ำ โดยความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายและยาเสพติด (International Narcotics and Law Enforcement Section – INL) จากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำราชอาณาจักรไทย การฝึกปฏิบัติการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ร่วมกับบริษัทรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ (รถไฟฟ้าใต้ดิน) ซึ่งเป็นการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ Urban Operation สำหรับการปฏิบัติการร่วมกัน เมื่อเกิดสถานการณ์ไม่ปกติภายในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินร่วมกับเจ้าหน้าที่รถไฟฟ้า MRT และบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เพื่อพัฒนาแผนการต่อต้านการก่อการร้าย ให้ทันสมัยกับสถานการณ์ในปัจจุบัน โครงการฝึกอบรมเตรียมความพร้อมหน่วยปฏิบัติการพิเศษ เพื่อค้นหาสุดยอดทีมปฏิบัติการพิเศษ เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขัน UAE S.W.A.T. Challenge 2024 ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-7 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งจะได้นำมาพัฒนาหน่วยปฏิบัติการพิเศษตำรวจไทย อีกทั้งเป็นการสร้างความสัมพันธ์กับหน่วยงานตำรวจทั่วโลก เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นใจให้กับพี่น้องประชาชน

ทั้งนี้ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้เน้นย้ำให้เหล่าทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงกลาโหม ด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ ทุ่มเท และเสียสละ เพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประชาชน และสถาบันพระมหากษัตริย์ ดำรงการสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจการรักษาความมั่นคงตามแนวชายแดนอย่างเต็มที่รวมทั้งเร่งดำเนินการจัดหายุทโธปกรณ์สนับสนุนการปฏิบัติให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น พัฒนากำลังพลให้มีความรู้ความสามารถ เพื่อรองรับภัยคุกคามในทุกรูปแบบ ร่วมกับการสร้างองค์ความรู้ในเรื่องการใช้ชีวิต การสร้างทัศนคติที่ดีในการปฏิบัติงาน เพื่อให้สามารถนำไปเป็นแนวทางการปฏิบัติ ภายใต้สถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน

#Thaitabloid #สำนักข่าวไทยแทบลอยด์