เศรษฐกิจโลกในปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง จากผลของนโยบายการเงินตึงตัวต่อเนื่องและตลาดแรงงานอ่อนแอลง อีกทั้ง ยังต้องเผชิญความไม่แน่นอนรอบด้าน โดยในปีนี้จะมีการเลือกตั้งใหญ่กว่า 60 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจรวมสูงกว่า 60% ของโลก นอกจากนี้ การค้าและห่วงโซ่อุปทานโลกเผชิญความเสี่ยงใหม่จากการโจมตีเรือขนส่งสินค้าในบริเวณทะเลแดงและปัญหาน้ำแล้งในคลองปานามา ก่อให้เกิดความแออัดในการขนส่งทางเรือหรือต้องปรับเส้นทางเดินเรือ ทำให้ระยะเวลาการเดินทางและต้นทุนขนส่งสูงขึ้น ธนาคารกลางในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักมีแนวโน้มจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงไตรมาส 2 จากเงินเฟ้อที่มีทิศทางชะลอลง สำหรับจีนมีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อเนื่องผ่านการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราเงินสดสำรอง
ตามกฎหมาย (Required Reserve Ratio : RRR) ขณะที่ญี่ปุ่นมีแนวโน้มยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบปีนี้
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในไตรมาสแรกของปี 2567 แรงส่งหลักมาจากการบริโภคภาคเอกชน
ตามความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับดีขึ้น มาตรการลดค่าครองชีพและโครงการ Easy e-receipt กระตุ้นการใช้จ่าย ทั้งนี้ผลบวกของโครงการนี้อาจไม่มากเท่าในอดีต เนื่องจากเงื่อนไขจำกัดเฉพาะร้านที่ออก e-Tax Invoice ได้ นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีแรงหนุนจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นต่อเนื่องและการส่งออกที่กลับมาขยายตัวได้ สอดคล้องกับการผลิตบางอุตสาหกรรมที่เริ่มฟื้น เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ปัจจัยกดดันเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปมาจากการประกาศใช้ พ.ร.บ.
งบประมาณฯ ปี 2567 ล่าช้ากดดันการลงทุนภาครัฐในช่วงครึ่งปีแรก ตลอดจนความไม่แน่นอนจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะความเสี่ยงใหม่ในตะวันออกกลางที่อาจกระทบการขนส่งทางทะเล และทำให้ห่วงโซ่อุปทานโลกชะงักขึ้นได้อีก สำหรับเงินเฟ้อไทย แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะติดลบต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีก่อน แต่ส่วนใหญ่เป็นผลจากมาตรการช่วยค่าครองชีพประชาชน โดย SCB EIC ประเมินว่า ประเทศไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด เงินเฟ้อติดลบยังไม่กระจายตัวรายสินค้าเป็นวงกว้าง และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังเป็นบวก มองไปข้างหน้าเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานเป็นหลัก กดดันปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยที่ยังอยู่ในระดับสูงและรายได้กลุ่มเปราะบางฟื้นช้า
สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยยังน่ากังวลสอดคล้องกับผลสำรวจ SCB EIC Consumer survey 2023 พบว่า กลุ่มคนรายได้น้อยเผชิญปัญหาหนี้สินเพิ่มขึ้นหลังวิกฤตโควิดและยังมีปัญหารายได้ไม่พอรายจ่ายอยู่มาก โดยผู้มีรายได้น้อยกว่า 1 ใน 3 ประกอบอาชีพอิสระ/รับจ้างทั่วไป ซึ่งมีแนวโน้มเป็นแรงงานนอกระบบที่รายได้ไม่มากและเข้าไม่ถึงระบบประกันสังคม ประกอบกับกลุ่มนี้มีวิธีบริหารจัดการหนี้ที่ยังไม่ดีนัก จึงพึ่งพาหนี้นอกระบบสูง และมีแนวโน้มติดอยู่ในวงจรหนี้อีกนาน จึงต้องอาศัยนโยบายระยะสั้น เพิ่มสภาพคล่องและแก้หนี้ให้กลุ่มครัวเรือนเปราะบาง ควบคู่กับนโยบายระยะยาว เพิ่มภูมิคุ้มกันคนไทย เช่น ปรับทักษะช่วยยกระดับรายได้ยั่งยืน เพิ่มสัดส่วนแรงงานทำงานในระบบให้เข้าถึงสวัสดิการประกันสังคม และเสริมความแข็งแกร่งทางการเงินส่วนบุคคล
SCB EIC คาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะคงอยู่ที่ระดับ 2.5% ตลอดปีนี้เนื่องจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มองว่าเป็นระดับที่เหมาะสมกับแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจสู่ศักยภาพและเอื้อให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมาย อีกทั้ง ยังสื่อสารสนับสนุนให้ใช้มาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนในการดูแลกลุ่มเปราะบางที่ฟื้นตัวช้า ค่าเงินบาทอ่อนค่าเร็วในช่วงต้นปี เป็นผลจากเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าตามมุมมอง Fed ลดดอกเบี้ยช้าลงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ และความเชื่อมั่นนักลงทุนในตลาดทุนที่ยังไม่ค่อยดีนัก มุมมองเงินบาทในระยะต่อไปคาดว่าจะแข็งค่าต่อเนื่องได้สู่ระดับ 32-33 ณ สิ้นปีนี้
สามารถอ่านบทวิเคราะห์ฉบับเต็มได้ที่นี่…https://www.scbeic.com/th/detail/product/eic-monthly-0124