“ปารมี” เสียใจ เหตุครูเชียงรายถูกชายบุกเข้าทำร้ายระหว่างปฏิบัติหน้าที่ “ครูนอนเวร” ตอกย้ำปัญหาระบบครูนอนเวรที่สร้างภาระ-อันตรายให้กับครู ชี้หากรัฐบาลจริงใจแก้ปัญหาสามารถออกมติ ครม.ยกเลิกได้ทันที จัดสรรงบฯ เปลี่ยนใช้กล้องวงจรปิดแทนครูนอนเวร
วันที่ 21 มกราคม 2567 ปารมี ไวจงเจริญ หรือ”ครูจวง” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้ความเห็นต่อกรณีครูโรงเรียนบ้านโป่งเกลือ ต.ดอยลาน อ.เมืองเชียงราย ถูกชายบุกเข้ามาทำร้ายร่างกายระหว่างปฏิบัติหน้าที่อยู่เวรรักษาการณ์สถานที่ราชการ หรือ “ครูนอนเวร” ภายในโรงเรียนเมื่อวานนี้ (20 มกราคม 2567)
ปารมีระบุว่า ตนรู้สึกเสียใจและเศร้าสลดกับเหตุการณ์นี้มาก จึงถึงเวลาแล้วที่กระทรวงศึกษาธิการต้องยกเลิกครูนอนเวร ทั้งนี้ ตนได้ยื่นหนังสือขอปรึกษาหารือประเด็นดังกล่าวในคณะกรรมาธิการการศึกษาไปตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ตนก็จะยิ่งเร่งผลักดันเรื่องนี้ให้สำเร็จให้ได้
ตนขอเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีและผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ให้ยกเลิกครูนอนเวรเสียที เพราะนอกจากจะก่อให้เกิดภาระและสร้างความลำบากให้กับบรรดาครูไทยเรื้อรังมายาวนานหลายสิบปีแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อร่างกายและจิตใจของครูตามข่าวที่ปรากฏออกมาด้วย
ปารมีกล่าวต่อไปว่า การยกเลิกการนอนเวรของครูไม่ได้เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก เพราะอาศัยเพียงการแก้ไขมติ ครม. เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2542 ว่าด้วยหลักเกณฑ์การอยู่เวรรักษาการณ์สถานที่ราชการ โดยแก้ไขในข้อ 9. เดิมที่ระบุแต่เพียงว่า “หากส่วนราชการมีหน่วยรักษาความปลอดภัยหรือมีการจ้างเอกชนอยู่แล้ว จะไม่จัดให้มีเวรรักษาการณ์และผู้ตรวจเวรก็ได้” โดยเพิ่มเติมเข้าไปว่า “หรือหากมีการติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ก็ไม่ต้องจัดให้มีเวรรักษาการณ์และผู้ตรวจเวร”
และให้ยกเลิกข้อ 10. ที่บัญญัติไว้ว่า “กรณีที่ส่วนราชการ หรือหน่วยงานใดมีความจำเป็นไม่อาจปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ข้อ 9. ข้างต้นได้ ให้ผู้บังคับบัญชาใช้ดุลพินิจในการที่จะสั่งการการอยู่เวรรักษาการณ์ตามความเหมาะสมได้ โดยไม่ให้เกิดผลเสียหายกับงานและทรัพย์สินของราชการหรือหน่วยงาน”
ปารมีระบุว่า การที่ตนเห็นว่าควรต้องยกเลิกข้อ 10. นี้ไปเลย เพราะคำว่า “ให้ผู้บังคับบัญชาใช้ดุลพินิจ” มักหมายถึงการบังคับสถานเดียวเท่านั้น โดยไม่ถามความสมัครใจของผู้ใต้บังคับบัญชา ซึ่งเป็นเรื่องน่ากลัวที่เกิดขึ้นเสมอในระบบราชการไทย
สิ่งที่ตนเสนอนี้เป็นวิธีที่จะสร้างขวัญกำลังใจให้กับครูไทยได้อย่างแท้จริง ซึ่งทางฝ่ายบริหาร ทั้งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หากมีความจริงใจที่จะแก้ไขปัญหาภาระงานครูและปัญหาครูนอนเวร ก็สามารถลงนามทำได้ทันที
“นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ถ้าจริงใจจะทำก็ทำได้เลย เพราะใช้แค่การออกมติ ครม. ใหม่มายกเลิกมติ ครม. เก่า ไม่ได้เป็นการออกกฎหมายที่ต้องผ่านสภาฯ และเมื่อไม่มีครูเวรก็ต้องติดกล้องวงจรปิด ซึ่งเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานของโรงเรียนที่ควรต้องมีอยู่แล้ว และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการก็ควรต้องจัดสรรงบประมาณลงไปในส่วนนี้ด้วย” ปารมีกล่าว