เมื่อวานนี้ (17 ก.ค.) รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว กล่าวถึงกรณีการเกณฑ์ทหาร โดยระบุว่า “การเกณฑ์ทหารในวันนี้มีรากมาจากระบบศักดินาเกณฑ์แรงงานไพร่ตั้งแต่ต้นกรุงฯ จึงไม่แปลกที่ “นาย” จะเอาทหารเกณฑ์ไปใช้แรงงานบังคับสารพัดที่ละเมิดศักดิ์ศรีและสิทธิ์ส่วนบุคคล รวมทั้งกรณีทรมาณทำร้ายร่างกายต่าง ๆ ทำกันเป็นปกติมาร้อยปีถึงปัจจุบัน
กรุงเทพฯสืบทอดการเกณฑ์แรงงานไพร่มาจากกรุงศรีอยุธยา ซึ่งลดลงจาก “เข้าเดือนออกสองเดือน” เป็น “เข้าเดือนออกสามเดือน” จนให้บางส่วนจ่าย “เงินค่าราชการ” หรือ “เงินรัชชูปการ” แทนการเข้าเวรได้
สยามมีกฎหมายประกาศเลิกทาสเป็นลำดับ แต่ไม่เคยมีกฎหมาย “เลิกไพร่” อย่างเป็นทางการ หากแต่แทนที่ด้วย พ.ร.บ.ลักษณะเกณฑ์ทหาร ร.ศ.124 ขณะที่เงินรัชชูปการเพิ่งถูกยกเลิกด้วย พรบ.ประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481 หลังปฏิวัติ 2475 นี้เอง การเกณฑ์ทหารปัจจุบันมาจาก พรบ.รับราชการทหาร พ.ศ.2497 ซึ่งแก้ไขหลายครั้ง
สิ่งหนึ่งที่ต้องทำเมื่อมีประชาธิปไตยสมบูรณ์ก็คือ ปฏิรูปกองทัพตามแบบหลายประเทศที่เจริญแล้ว เช่น ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร แทนด้วยทหารสมัคร ให้กองทัพมีขนาดเล็ก แต่มีคุณภาพ ยกเลิกระบบผบ.เหล่าทัพ แทนด้วยคณะเสธ. การเคลื่อนกำลังต้องเป็นคำสั่งของคณะกก. ปฏิรูปหลักสูตรโครงสร้างรร.ทหารทุกเหล่าทุกระดับ เป็นต้น
#ยกเลิกเกณฑ์ทหาร #ปฏิรูปกองทัพ”
https://www.facebook.com/pichitlk/posts/1821358487931961