กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มอบหมายทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 5 ราชบุรี ลงพื้นที่ปฏิบัติการร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนในพื้นที่ ดำเนินการเฝ้าระวังความเสี่ยงสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากภาวะฉุกเฉินโรงงานผลิตพลุระเบิด จังหวัดสุพรรณบุรี เบื้องต้นยังไม่พบผลกระทบต่อชุมชนเพราะตั้งกลางท้องนา ยังไม่มีสารเคมีปนเปื้อนในแหล่งน้ำกินน้ำใช้ แต่ยังเฝ้าระวังต่อเนื่อง
นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากเหตุการณ์โรงงานผลิตพลุระเบิด จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงพื้นที่เกิดเหตุและมอบหมายให้กรมอนามัย เฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยของประชาชน แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย ให้ความสำคัญกับเหตุระเบิดครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากสร้างความเสียหายและมีผู้เสียชีวิต จึงส่งทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 5 ราชบุรี ลงพื้นที่ปฏิบัติการร่วมกับทีมจังหวัด ทำการเฝ้าระวังความเสี่ยงสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
เบื้องต้นพบว่า เป็นโรงงานที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข และมีพื้นที่ตั้งอยู่กลางทุ่งนา ห่างจากชุมชนมากกว่า 1 กิโลเมตร จึงไม่กระทบต่อชุมชน และไม่มีการปนเปื้อนสารที่เป็นส่วนประกอบในการผลิตพลุในน้ำดื่มน้ำใช้ในชุมชน ทั้งนี้ หน่วยงานท้องถิ่นได้ประกาศให้จุดเกิดเหตุเป็นพื้นที่ประสบสาธารณภัยแล้ว ทีม SEhRT จึงเน้นเฝ้าระวังสารเคมีจากพลุระเบิดที่อาจปนเปื้อนในน้ำและอาหารในชุมชนโดยรอบ รวมทั้งตรวจสอบและประเมินสุขลักษณะ การสุขาภิบาลและอนามัยสิ่งแวดล้อมในศูนย์ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโรงงานพลุระเบิด ซึ่งพบว่ามีการระบายอากาศที่ดี มีส้วมสะอาด และมีน้ำดื่มสะอาดให้ประชาชนอยู่อย่างปลอดภัย
“จากเหตุการณ์โรงงานพลุระเบิดดังกล่าว กรมอนามัยให้ข้อแนะนำแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการประเมินความเสี่ยงและหลีกเลี่ยงประกอบกิจการในชุมชน ตรวจสอบด้านสุขลักษณะการประกอบกิจการให้เป็นไปตามมาตรฐาน มีกระบวนการผลิตที่ปลอดภัย และมีมาตรการควบคุมป้องกันภาวะฉุกเฉินที่เกิดจากโรงงาน เพื่อเป็นการเฝ้าระวังความเสี่ยงทางสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมของประชาชนที่อาศัยใกล้เคียง
สำหรับประชาชนในพื้นที่ขอให้ปฏิบัติตนตามคำแนะนำด้านสุขภาพจากเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด หลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่เกิดเหตุเนื่องจากมีสารโพแทสเซียมคลอเรต ซึ่งเป็นส่วนประกอบของพลุที่เป็นสารไวไฟ ติดไฟง่าย และหากสัมผัสเข้าร่างกายจะส่งผลต่อระบบประสาท หายใจไม่ออก หายใจถี่ ไอรุนแรง ระคายเคืองตา จมูก บางรายมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หมดสติได้ และหากได้รับผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือน หรือเสียงระเบิด ทำให้มีเกิดอาการมึนงง หูอื้อ ปวดหู ปวดหัว ขอให้รีบปรึกษาเจ้าหน้าที่และไปพบแพทย์เพื่อรักษาทันที และเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานเกิดความตระหนักและให้ความสำคัญกับการให้อนุญาตประกอบกิจการเกี่ยวกับการเก็บ สะสมพลุ หรือดอกไม้เพลิง รวมทั้งสารเคมีอันตรายอื่นที่ก่อให้เกิดระเบิดและไฟไหม้ เพื่อลดความเสี่ยงจากการระเบิดที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตอีกได้” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว