อ่านสนุกแบบมีทั้งศรัทธาและพาณิชย์ไปกับ คอลัมน์พระบ้าน by ต้นคนชอบพระ
คราวที่แล้วได้กล่าวถึงองค์พระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธและสวยงามที่สุดองค์หนึ่งของสยามประเทศ คือองค์พระพุทธชินราช และตัวผู้เขียนเองก็สงสัยอยู่ครามครันว่า ทำไมถึงตั้งชื่อว่า ชินราช และชินราชนั้นมีความหมายว่าอะไร ซึ่งจากการค้นข้อมูลก็พบว่า คำว่า ชินราชนั้นเกิดจากการผสมคำระหว่างคำว่า ชิน ที่อ่านว่า ชิ-นะ ที่มีความหมายว่าผู้ชนะ ส่วนราช ก็มาจากคำว่า ราชะ หรือราชา นั่นเอง พอเอามารวมกันก็เป็นคำว่า ชินราชา อ่านว่า ชิ-นะ-รา-ชา แปลว่า ราชาในหมู่ผู้ชนะ เป็นคำที่พบได้บ่อยในวรรณคดีพุทธศาสนาของไทย เช่น ในบท สวดชัยมงคลสิทธิคาถา มีข้อความว่า พญามารยกพลมารมา “หวังเพื่อผจญวรมุนิน ทะสุชินราชา” อ่านว่า หวัง เพื่อ ผะ -จน-วะ-ระ-ม-นิน ทะ-สุ-ชิน-นะ-รา-ชา ที่ใช้พระสมัญญานามนี้แด่พระพุทธเจ้าว่า ชินราชา ก็เพื่อเปรียบ เทียบชัยชนะของพระพุทธเจ้าที่มีเหนืออาสวกิเลสทั้งมวล ว่ามีความยิ่งใหญ่เหนือกว่าชัยชนะของผู้ชำนาญการรบจนมีชัย เหนือศัตรู เพราะเป็นชัยชนะที่เกิดจากการประหัตประหาร ทำลายศัตรูเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและ เพื่อความยิ่งใหญ่ทางการเมืองของตน แต่ชัยชนะของพระพุทธเจ้าเป็นชัยชนะที่มีเหนือศัตรูร้าย คือ ราคะ โทสะ โมหะ ของ พระองค์เอง, เป็นชัยชนะเหนือจิตใจของพระองค์เอง มิได้มาจากความพินาศหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น ชัยชนะของ พระพุทธเจ้ายิ่งใหญ่กว่าชัยชนะของวีรบุรุษอื่น ๆ พระองค์จึงทรงเป็นราชาแห่งวีรบุรุษ ราชาแห่งผู้ชนะทั้งหลาย ( ขอขอบคุณข้อมูลจาก ราชบัณฑิตยสภา )
โดยปางที่หล่อขึ้นมาเป็นองค์พระพุทธชินราชนั้น คือปาง พิชิตมาร หรือชนะมาร โดยต้นกำเนิดของปางพิชิตมารนี้มีความน่าสนใจและสนุก จึงขอรวบรวมมาเล่าสู่กันฟังดังนี้
( รูปพระพุทธเจ้าผจญมารก่อนตรัสรู้ )
ครั้งเมื่อกาลก่อนกำเนิดพุทธศักราชยังมีพระมหาบุรุษพุทธางกูรเจ้านามว่า สิทธัตถะ ทรงบำเพ็ญพรตอยู่ยังสาลวันริมฝั่งแม่น้ำ เนรัญชรา
ในคืนหนึ่ง พระมหาบุรุษเสด็จขึ้นประทับบนรัตนบัลลังก์ หลังจากตั้งจิตทำสมาธิด้วยการกำหนดลมหายใจเข้าออกจนจิตนิ่งแล้ว พระองค์จึงทรงดำรัส ตั้งพระสัตยาธิษฐานบารมีว่า ถ้าตัวข้าพเจ้าไม่สามารถตัดกิเลสทั้งปวงได้ตราบใดถึงแม้มาตรว่า หฤทัย เนื้อ หนังจะแห้งเหือด ตลอดถึงเลือดและ มันข้นจนทั่วสรีรกาย ข้าพเจ้าก็จะมิออกจากสมาธิบัลลังก์อันนี้ จะพยายามให้บรรลุเสวยพุทธาภิเษกสมบัตินี้ให้จนได้
ครั้งนั้น เทพยดาและพรหมทุกสถาน มีท้าวสหัมบดีพรหมและท้าวมัฆวานเป็นต้น ก็พากันชื่นชมโสมนัส มีการนำเครื่องสักการบูชาบุบผามาลัยต่าง ๆ พากันมาสโมสรสันนิบาตห้อมล้อม โห่ร้องซ้องสาธุการบูชาพระมหาบุรุษ สุดที่จะประมาณเต็มตลอดมงคลจักรวาลนี้
เสียงดังอื้ออึงไปถึง พญามารวัสวดี ชะรอยว่ากำลังจะมีหน่อพระพุทธางกูรล่วงพ้นวิสัยแห่งตัวข้า ผู้เป็นเจ้าแห่งกิเลสมายาทั้งปวง ถือเป็นการสูญเสียศักดิ์ อันน่าอัปยศอดสูอย่างยิ่ง ควรที่ตัวข้าจะไปทำอันตรายให้พระองค์ทรงลุกหนีไปให้พ้น จากบัลลังก์ อย่าให้พระองค์ล่วงพ้นวิสัยไปได้ ว่าแล้วพญามาร จึงให้พลเสนามารทั้งสิ้นมาประชุมกันพร้อมด้วยสรรพาวุธและสรรพวาหนะอันแรงร้ายเหลือที่ประมาณ มีจำนวนมากมายเต็มท้องฟ้า พญาวัสวดีขึ้นช้างคีรีเมขล์ นิรมิตรมือหนึ่งพันมือถืออาวุธพร้อมสรรพ นำกองทัพมารเหาะ มาเข้าล้อมเขตบัลลังก์รัตน์ของพระมหาบุรุษไว้อย่างแน่นหนา
บรรดาเทพเจ้าที่พากันมาแวดวงถวายสักการบูชาหน่อพระชินศรีอยู่ต่างก็มีความกลัว พากันหนีไปยัง ขอบจักรวาล ทิ้งให้พระองค์ทรงต่อสู้กับพญามารเพียงพระองค์เดียว ( เอิ่ม…)
องค์พระมหาบุรุษพุทธางกูรเมื่อเหลียวหามองไม่เห็นคนและเทพจะช่วย แต่พระองค์ก็มิได้ทรงย่อท้อห่อเหี่ยว ตรัสเรียกทวยทหารของพระองค์ ๓๐ เหล่า กล่าว คือ พระบารมี ๓๐ ทัศ ด้วยพระคาถาดำรัสว่า อายนตุ โภนโต อิธ ทานสีลา เป็นอาทิ ความว่า มาเถิดพวกท่านทั้ง ๓๐ กอง พร้อมกันจับอาวุธรบกับหมู่มารในบัดนี้ ครั้งนั้นบารมีธรรม ๓๐ ประการ ต่างสำแดงกายให้ปรากฏดุจทหารเกล้า ถือ อาวุธพร้อมที่จะเข้าสัปประยุทธ์ชิงชัยกับหมู่มวลมาร รอพระบรมโองการประทานโอกาสอยู่เท่านั้น
พญามารวัสวดี เห็นพระมหาบุรุษทรงประทับนิ่งไม่หวั่นไหวแต่ประการใด ก็พิโรธสั่งให้เสนามารรุกเข้าทำอันตราย หลายประการ ระดมบรรดาสรรพาวุธ ศัตรา ยาพิษที่พุ่งซัดไป ก็กลายเป็นบุบผามาลัยบูชาพระองค์จนสิ้น พญามารวัสวดี เห็นแบบนั้นจึงตรัสกับพระมหาบุรุษว่า สิทธัตถะกุมาร บัลลังก์แก้วนี้เป็นของเรา เกิดเพื่อบุญเรา ท่าน เป็นคนไม่มีบุญ ไม่ควรจะนั่ง จงลุกไปเสียโดยเร็ว
พระมหาบุรุษพุทธางกูรเจ้าก็ตรัสตอบว่า “ดูกรพญามาร บัลลังก์แก้วนี้เกิดขึ้นด้วยบุญของอาตมะ ที่ได้บำเพ็ญมาแต่อสงค์ไขยกัปป์จะนับประมาณมิได้ ดังนั้นอาตมะผู้เดียวเท่านั้นสมควรจะนั่ง ผู้อื่นไม่สมควรเลย”
พญามารวัสวดีก็แย้งว่า ที่พระมหาบุรุษพูดมานั้นไม่เป็นความจริง แน่จริงให้พระองค์หาพยานมายืนยันว่า พระองค์ได้ บำเพ็ญกุศลมาจริง ให้ประจักษ์เป็นสักขีพยานในที่นี้
แต่ๆ ใครจะกล้ามาเป็นพยานในที่นั้นได้ เพราะขนาดเหล่าเทพยังเผ่นไปสุดขอบจักรวาล พระมหาบุรษจึงตรัสเรียกนางวสุนธราเจ้าแห่งธรณีว่า ดูกร วสุนธรา นางจงมาเป็นพยาน ในการบำเพ็ญกุศลของอาตมะในกาลบัดนี้ด้วยเถิด
( รูปพระแม่ธรณีบีบมวยผม )
ลำดับนั้น นางวสุนธรา เจ้าแม่ธรณีก็ปรากฏกายทำอัญชลีถวายอภิวาทแล้วเปล่งวาจาประกาศให้พญามารทราบว่า พระมหาบุรุษได้บำเพ็ญบุญกุศลมามากมายเหลือที่จะนับ แค่เพียงน้ำที่กรวดรดลงผืนดินที่ข้าพเจ้าเอามวยผมรองรับไว้บนเศียรเกล้า ก็มี มากพอจะถือเอาเป็นหลักฐานได้ นางวสุนธรากล่าวแล้ว ก็บรรจงหัตถ์อันงามปล่อยมวยผม บีบน้ำที่พระมหาบุรษทรงกรวดสะสมไว้ นับแต่เอนกชาติ ให้ไหลออกมามากมายกลายเป็นมหาอุทกภัยท่วมทับเสนามารทั้งปวงให้จมลงวอดวาย กำลังน้ำได้ชัดช้างคีรีเมขล์ ให้ถอยร่น ลงไปติดขอบจักรวาล ( เอาเซ่ ให้รู้บ้างไผเป็นไผ อิๆ)
พญามาร เห็นเป็นอัศจรรย์ ด้วยมิเคยเห็นมาแต่กาลก่อนก็ประนมหัตถ์ถวายมนัสการ ยอมปราชัยพ่ายแพ้ ต่อบุญบารมีของพระมหาบุรุษแล้วก็อันตรธานหนีไป ให้พระมหาบุรุษทรงมารวิชัย กำจัดมารให้พ่ายแพ้ได้เด็ดขาด ตั้งแต่ เวลาเย็นพระอาทิตย์ยังมิทันอัสดงคต ด้วยพระไตรทศบารมี
จบตำนานพระพุทธรูปปางมารวิชัยแต่เพียงนี้
ขออนุญาตดัดแปลงและตัดทอนข้อความกับสำนวนบางส่วนเพื่อให้อ่านง่ายขึ้น หาอ่านสำนวนและเนื้อหาต้นฉบับที่งดงามทางภาษาได้จากหนังสือ “ตำนานพระพุทธรูปปางต่าง ๆ” นิพนธ์ของ พระพิมลธรรม ราชบัณฑิต (ชอบ อนุจารีมหาเถร) ผู้เขียนกราบขออัยและขอบพระคุณ มา ณ ที่นี้
( รูปพระปางพิชิตมาร )
จากตำนานพระปางมารวิชัยนี้ทำให้เป็นหนึ่งปางยอดฮิตที่นิยมหล่อเป็นพระพุทธรูปหรือสร้างสรรค์เป็นวัตถุมงคลไว้ห้อยคอ และส่วนมากพระประธานของวัดต่าง ๆ ก็มักจะเป็นปางนี้ เพื่อสื่อถึงการบูชาให้ชนะกิเลสที่เกิดขึ้น ทั้งในใจและสิ่งรอบกาย รวมทั้งชนะศัตรูภัยพลาล อุปสรรคทั้งปวง
ลักษณะของพระพุทธรูปปางนี้จะเป็นท่านั่ง ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนหน้าตัก พระหัตถ์ขวาวางคว่ำลงที่เข่า เป็นอุปเท่ห์ในหลักธรรมที่ชี้ให้เห็นว่ามารที่มาผจญพระโพธิสัตว์แท้ที่จริงแล้วคือ กิเลส ตัณหา ราคะ โลภ โกรธ หลง ที่มาในรูปต่าง ๆ เพื่อหลอกล่อขัดขวางให้ พระพุทธองค์เสียสมาธิ ขณะที่พระพุทธองค์หลับตาทำสมาธิ อยู่นั้น มารร้ายในรูปของสตรีงามก็มาร่ายรำยั่วยวน สันนิษฐานว่าพระองค์น่าจะเคลิ้มตามมายาของหมู่มารขยับจะผุดลุกขึ้นยืนคล้อยตามมายาของมาร แต่ ทันใดนั้นท่านกลับข่มใจจน “พิชิตมาร” ได้ จึงเอาพระหัตถ์ขวากดเข่าไว้ไม่ให้ลุกขึ้น และยังคงอยู่ในท่าประทับนั่งตามเดิม
เมื่อพระพุทธองค์ทรง “พิชิตมาร” ได้แล้ว ก็ได้ทำวิปัสนาสมาธิจนตรัสรู้สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในกาลต่อมา
ด้วยพุทธคุณที่เด่นด้านชนะศัตรูหมู่มาร ฝ่าฟันอุปสรรคทั้งปวง แถมหลายครั้งที่บรรดาครูบาอาจารย์ท่านทำรูปลักษณ์ออกมาได้สวยงามปราณีตจับตาจับใจ อีกทั้งยังเป็นปางยอดนิยมที่มีคณาจารย์จำลองแบบไปทำวัตถุมงคลกันมาช้านาน นับตั้งแต่สุโขทัยไปจนสมัยอยุธยา แถมมีผู้ที่นำไปใช้แล้วได้ผลด้านเมตตามหานิยมทำให้พระเครื่องปางพิชิตมารนี้ถูกโยงเกี่ยวพันกับตำนานพื้นบ้านของไทยอันจะกล่าวต่อไปครับ
คราวหน้ามาลุ้นกัน ว่าจะนำเสนอองค์ไหนหรือตำนานอะไรครับ
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก สื่อโซเซี่ยล ครับ
ปล. หากมีวัด ศาสนถาน โรงเรียน โรงพยาบาล ฯลฯใดที่ต้องการประชาสัมพันธ์การขายวัตถุมงคลหรือบริจาคเพื่อการกุศลอย่างแท้จริง ทางคอลัม์พระบ้าน ยินดีประชาสัมพันธ์ให้ฟรีครับ
สนใจลงโฆษณาประชาสัมพันธ์ ติดต่อ 0818214442 ต้น