ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯ กล่าวหลังลงพื้นที่ตรวจราชการและรับฟังความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกร ณ เขื่อนราษีไศล โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่าง จ.ศรีสะเกษ โดยมีผู้บริหารส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ผู้บริหารส่วนราชการจ.ศรีสะเกษ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ว่า ได้ร่วมหารือกับผู้แทนสมาชิกสมัชชาเกษตรกรภาคอีสานและสมาพันธ์เกษตรกรภาคอีสาน (สพอ.)ในประเด็นแนวทางการช่วยเหลือและเยียวยาเกษตรกรในพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนราษีไศล โดยหน่วยงานภายในสังกัดกระทรวงเกษตรฯร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มีแนวทางการส่งเสริมเกษตรกรผ่านการพัฒนาองค์ความรู้ “Knowledge & Knowhow” เพื่อส่งเสริมเกษตรกรให้สามารถประกอบอาชีพภาคการเกษตรอย่างหลากหลายและยั่งยืน
ทั้งนี้ จะร่วมกันหาทางออกปัญหาจากผลกระทบดังกล่าวในประเด็นอื่น ๆ เพิ่มเติมในวันที่ 18 ม.ค. อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ ได้บูรณาการร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในการจัดทำฐานข้อมูลการเกษตรในระบบคลาวด์ เพื่อใช้ในการวางแผนการขับเคลื่อนนโยบายและพัฒนาอาชีพเกษตรกรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยในปี 67 กระทรวงเกษตรฯ จะจำแนกประเภทกลุ่มเกษตรกร เพื่อส่งเสริมเกษตรกรอย่างตรงจุดตามความเหมาะสม และสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรได้อย่างแท้จริง ประกอบด้วย 1.กลุ่มเกษตรกรประเภทเข้มแข็งมาก 2.กลุ่มเกษตรกรประเภทเข้มแข็ง และ 3.กลุ่มเกษตรกรประเภทเปราะบาง นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญในการบริหารจัดการน้ำทั้งในและนอกพื้นที่ชลประทานโดยมีการศึกษาแนวทางเพิ่มเติม เพื่อวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้มีความสอดคล้องกับลักษณะของลุ่มน้ำในแต่ละจังหวัด และส่งผลกระทบต่อเกษตรกรน้อยที่สุด
นอกจากนี้ ร.อ.ธรรมนัส ได้มอบหมายหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมบูรณาการทุกภาคส่วนในการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรอย่างครอบคลุมทั้งระบบการประกอบอาชีพภาคการเกษตรต่อไป