กมธ.ตร. ขึ้นชั้น 14 รพ.ตำรวจ ติดตามอาการป่วย ’ทักษิณ‘ แต่ไม่ได้เข้า มองเป็นหน้าที่กรมราชทัณฑ์ตอบคำถามสังคม ชมโรงพยาบาลตำรวจวันนี้ทำชัดเจนครบถ้วนแล้ว
เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 67 ที่โรงพยาบาลตำรวจ (รพ.ตร.) นายชัยชนะ เดชเดโช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) นครศรีธรรมราช และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการตำรวจ (กมธ.ตร.) สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยคณะทำงาน ข้าศึกษาดูงาน ที่อาคารศรียานนท์ กองบังคับการอำนวยการ โรงพยาบาลตำรวจ โดยมี พล.ต.ต.สามารถ ม่วงศิริ นายแพทย์ (สบ7) โรงพยาบาลตำรวจ และคณะร่วมชี้แจงรายละเอียด ข้อซักถามต่างๆ
สำหรับการมาศึกษาดูงานของกมธ.ตร.นั้น เพื่อสอบถาม ขั้นตอนการปฏิบัติผู้ต้องขังที่ส่งมารักษาตัวในโรงพยาบาลตำรวจ ว่ามีวิธี รูปแบบขั้นตอนอย่างไร ปฏิบัติกับผู้ต้องขังทุกคนเท่าเทียมหรือไม่ รวมถึงมาสอบถาม กรณีที่ประชาชนมีข้อสงสัยและให้ความสนใจ คือการรักษาตัวของนายทักษิณ ชินวัตร ที่เป็นผู้ต้องขังที่รักษาตัวอยู่ที่นี่ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2566 ว่ามีการปฏิบัติอย่างไร รักษาตัวอยู่ที่ชั้นไหน อย่างไรบ้าง
ต่อมาเวลา 11.55 น. นายชัยชนะ พร้อมด้วยทิพา ปวีณาเสถียร สส.ลำปาง พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษก กมธ.ตร. และทีมแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ
ได้เดินทางไปที่อาคารภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา ซึ่งเป็นอาคารพักรักษาตัวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก่อนเดินทาง นายชัยชนะ กล่าวเพียงว่าขออนุญาตไปตรวจดูตามหน้าที่จะกลับมาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนอีกครั้ง โดยทั้งหมดได้ขึ้นรถกอล์ฟ ไปพร้อมกับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลตำรวจ จากนั้นมีรายงานว่านายชัยชนะ และคณะกรรมาธิการฯ ได้ขึ้นไปถึงชั้น 14 และพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล บริเวณหน้าเคาน์เตอร์พยาบาลของสถานที่พักของผู้ป่วย แต่ไม่ได้เข้าไปภายในห้องพักของผู้ป่วย ซึ่งใช้เวลาพูดคุยประมาณ 10 นาที จากนั้นเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลตำรวจ ได้นำคณะกรรมาธิการฯ ไปเยี่ยมนักโทษที่รักษาตัวอยู่บริเวณชั้น 7 ของอาคารแห่งนี้ต่อด้วย
นายชัยชนะ กล่าวว่า มีผู้ต้องขังมารักษาที่โรงพยาบาลค้างคืนท่านเดียว คือนายทักษิณ รายอื่นเป็นผู้ต้องขังมารักษาแบบเช้าเย็นกลับ ทั้งนี้ตนเองได้หารือตามกรอบระเบียบกับทางโรงพยาบาลตำรวจ จึงได้อนุญาตให้ขึ้นไปชั้น 14 เพื่อไปดูขั้นตอนวิธีการคุมขัง ได้พบทั้งเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ตำรวจในท้องที่รวม 8 นาย ส่วนที่ถามว่าได้เจอตัวนักโทษหรือไม่ เรื่องนี้เป็นความเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.ส่วนบุคคลฯที่อนุญาตให้ได้เท่านี้ ฉะนั้นสิ่งที่อนุญาตตามกฎหมายคือได้พบเจ้าหน้าที่ประจำชั้น
นายชัยชนะ กล่าวอีกว่า ส่วนจะยืนยันว่านายทักษิณ พักอยู่ที่โรงพยาบาลหรือไม่เป็นหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งก็แจ้งมาก่อนหน้านี้ว่าเป็น พ.ร.บ.ส่วนบุคคล ทั้งนี้เรายืนยันว่าไม่ได้มาขอเยี่ยมใครคนใดคนหนึ่ง เพียงมาดูว่าวิธีปฏิบัติเท่าเทียมหรือไม่ ส่วนวิธีการรักษาก็ชี้แจงไม่ได้ ตนขอย้ำว่ามาดูขั้นตอน วิธีการ เจ้าหน้าที่ควบคุมอย่างไรเมื่อมีผู้ต้องหามาค้างคืน โดยจากที่ได้พูดคุย คือทางเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะมีการผลัดเปลี่ยนเวรเพื่อดูแล 24 ชั่วโมง และต้องมีการรายงานผู้บังคับบัญชาทุก 2 ชั่วโมง เป็นการถ่ายภาพในห้องที่ผู้ต้องขังที่เป็นผู้ป่วยพักอยู่ ห้องพักไม่ได้มีการล็อคผู้คุมจะเดินเข้าออกได้ทุกเวลา
นายชัยชนะ กล่าวว่า ตนไม่ก้าวล่วงในการรักษาของแพทย์ จากนี้ต้องไปถามทางอธิบดีกรมราชทัณฑ์ว่าเอกสารที่ กมธ.ตร.ขอไปว่าแต่ละวันผู้คุมคนไหนที่มาเข้าเวร ผลัดเปลี่ยนเวรอย่างไร ลงชื่ออย่างไร และส่วนของเอกสารค่ารักษาพยาบาล ที่แจ้งว่าใช้สิทธิ์ สปสช.และถ้าเกินจะใช้เงินส่วนตัวได้ ได้เตรียมให้ตามที่ขอไปแล้วหรือไม่ ตนยืนยันว่าส่วนของโรงพยาบาลตำรวจวันนี้ได้ทำชัดเจนครบถ้วนแล้ว ภาพการรักษาที่ให้ไม่ได้เพราะเป็นข้อมูลส่วนบุคคล
“ทักษิณชินวัตรไม่ได้ผิดอะไร แต่ถ้ากรมราชทัณฑ์ไม่ต้องการเป็นจำเลยสังคมนี้ ก็ต้องชี้แจงกับสังคมให้เข้าใจ เมื่อไรที่ชี้แจงไม่เข้าใจจำไว้เลยว่าจำเลยของสังคมก็คือกรมราชทัณฑ์ ส่วนโรงพยาบาลตำรวจ ต้องยอมรับว่าสิ่งที่โรงพยาบาลทำวันนี้ถูกต้องที่สุดให้ความร่วมมือให้ข้อเท็จจริง การจะยืนยันว่านายทักษิณ อยู่หรือไม่เป็นหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ ตนขอยืนยันว่ามาดูกระบวนการขั้นตอนเท่านั้น“ นายชัยชนะ กล่าว
นายชัยชนะ กล่าวถึงประเด็นที่กล้องวงจรปิดของอาคารรักษาตัวของ นายทักษิณ เสียทั้งอาคาร โดยฝากข้อความไปถึงนายกรัฐมนตรีว่าขอให้ใช้งบประมาณจำนวน 2 ล้านบาทที่นำไปท่องเที่ยวต่างประเทศมาซ่อมแซมกล้องวงจรปิดให้ใช้งานได้ นอกจากภายในอาคารแล้ว บริเวณรอบข้างก็พบว่าก็วงจรปิดเสียด้วยเช่นกันและเสียมาหลายปีแล้ว