กรมสุขภาพจิต ขอเชิญชวนครอบครัวร่วมมอบของขวัญวันเด็กด้วยการใช้เวลาร่วมกัน พร้อมสร้างความสัมพันธ์ เชิงบวกในบ้าน ด้วยหลักฉลาดรัก ฉลาดเลี้ยง ฉลาดดูแล
วันนี้ (10 มกราคม 2567) กรมสุขภาพจิต เผยแนวคิดมอบเวลาให้แก่เด็กและเยาวชนในครอบครัว เพื่อเป็นของขวัญ ในวันเด็กแห่งชาติ พร้อมแนะนำโปรแกรม 7 Days Parenting โดยใช้กลไก 3 ฉลาด ฉลาดรัก ฉลาดเลี้ยง ฉลาดดูแล เพื่อดูแลเด็ก และเยาวชนให้มีพัฒนาการสมวัย และรณรงค์ให้ครอบครัวไทยพูดคุยกับเด็กด้วยแนวคิดการสื่อสารเชิงบวก เปิดโอกาสให้เด็กได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นและความต้องการของตนเองอย่างถูกต้องและเหมาะสมมากกว่าการสอนอย่างเดียว
นายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ อยากเห็นทุกครอบครัว ให้ความสำคัญ กับการดูแลเด็ก โดยเฉพาะพ่อแม่ผู้ปกครองนับว่าเป็นเพื่อนแท้คนแรกในชีวิตของเด็ก และของขวัญที่ดีที่สุดที่เด็กต้องการจากผู้ปกครอง คือการให้เวลา ปัจจุบันปัญหาที่เกิดขึ้นคือการขาดแคลนเวลา การขาดการแสดงความห่วงใย และการสื่อสารในครอบครัวที่ใช้วิธีการสื่อสารแบบสอนสั่งมากกว่าที่จะเปิดโอกาสรับฟังและให้เด็กได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นหรือความต้องการ ซึ่งการใช้เวลาคุณภาพจะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจในครอบครัว ปัจจุบันกรมสุขภาพจิตได้มีเครื่องมือในการส่งเสริมการเลี้ยงดูให้กับพ่อแม่เพื่อส่งเสริมพัฒนาการให้เด็กและเยาวชน ผ่านโปรแกรม 7 Days Parenting สำหรับผู้ปกครองในการดูแลเด็กวัยเรียนอายุระหว่าง 6- 12 ปี เพื่อพัฒนาทักษะการเลี้ยงดูของพ่อแม่ผู้ปกครองเด็ก ผ่านกระบวนการเล่น การสร้างสัมพันธภาพ และการสร้างวินัยเชิงบวก เพื่อช่วยผู้ปกครองสร้างคุณภาพในการเลี้ยงดู และสามารถใช้กระบวนการเหลานี้เพื่อดูแลเด็กได้ทุกที่และทุกเวลา
นายแพทย์พงศ์เกษม กล่าวต่ออีกว่า หลักการในโปรแกรม 7 Days Parenting คือ การดูแลเด็กผ่านกลไก 3 ฉลาด ประกอบด้วย
(1) ฉลาดรัก หมายถึง การเตรียมความพร้อมด้านพัฒนาการและฝึกให้มีทักษะทางอารมณ์สังคม การยอมรับทั้งข้อดีและข้อเสียของเด็ก ให้เกียรติและเคารพความคิด และสนใจความรู้สึกและเชื่อมั่นในตัวเด็ก หากเด็กมีความสําเร็จเล็กๆ และได้รับการยอมรับ/ชื่นชมจากคน ที่เลี้ยงดูใกล้ชิด เพราะจะเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กมีความมุ่งมั่นพยายามยิ่งขึ้น
(2) ฉลาดเลี้ยง หมายถึง การจัดการกับพฤติกรรม ที่ไม่พึงประสงค์ของเด็กอย่างสร้างสรรค์ มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เด็กรู้จักเข้าใจและสามารถแยกแยะได้ว่าพฤติกรรมใดที่ควรทำ และพฤติกรรมใดควรหลีกเลี่ยง เพื่อให้เด็กเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในแนวทางที่ดีขึ้น เพิ่มการกอด หอม ชมเชย ให้รางวัล ลดพฤติกรรมไม่ดี ด้วยการลงโทษที่ไม่ใช้ความรุนแรง และ 3. ฉลาดดูแล ซึ่งหมายถึง ส่งเสริมความฉลาดรอบด้านให้กับเด็ก ผ่านกิจกรรมที่ทำร่วมกัน ซึ่งสามารถทําได้อย่างต่อเนื่องในทุกวัน เล่นกับเด็ก ไม่ใช้ความรุนแรง พ่อแม่ผู้ปกครองมีความสุข ลูกก็จะเก่ง ดี มีความสุขรวมไปถึง
การพัฒนาเด็กในช่วงที่เขาเติบโตมาในยุคเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อความสะดวกสบาย แต่เต็มไปด้วยการแข่งขัน การเลี้ยงดูที่สำคัญ
จึงต้องเน้นให้เด็กเท่าทันเทคโนโลยีด้วย
นายแพทย์จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่ออีกว่า ช่วงเวลาที่มีคุณภาพของครอบครัว คือการใช้เวลาในการทำกิจกรรมร่วมกัน หรือมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการที่พ่อแม่ผู้ปกครองจัดสรรเวลาให้เด็กเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการที่เด็กเปิดโอกาสให้พ่อแม่ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ตนเองสนใจ เพื่อลดช่องว่างระหว่างวัย ทั้งนี้แต่ละกลุ่มวัยจะมีระยะเวลาคุณภาพ ที่แตกต่างกัน เช่น ในกลุ่มเด็กปฐมวัยเวลาคุณภาพโดยเฉลี่ยอย่างน้อย 3 ชั่วโมงต่อวัน โดยกิจกรรมประกอบด้วย เล่านิทาน อ่านหนังสือ, เล่นด้วยกัน, ช่วยกันทำอาหารหรือทำงานบ้าน, ร้องเพลงเล่นดนตรี, ออกกำลังกาย เป็นต้น โดยเฉพาะวันหยุดให้ถือเป็นวันของครอบครัว และควรระลึกอยู่เสมอว่าผู้ปกครองเวลาในการดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดได้ไม่นาน เพราะเมื่อเขาเข้าสู่วัยรุ่น เวลาที่ใช้กับผู้ปกครองย่อมลดลง กลายเป็นเวลาส่วนตัวที่อยู่กับเพื่อนๆ จึงขอให้ผู้ปกครองใช้เวลากับเด็กอย่างสม่ำเสมออันจะเป็นพื้นฐานให้เป็นผู้ใหญ่คุณภาพต่อไป