พม. เปิด ศรส. ทั่วประเทศ ปฎิบัติการเต็มรูปแบบ ช่วย เร่งรัด – จัดการ แก้ปัญหาสังคมให้ประชาชน พร้อมส่งหน่วยเคลื่อนที่เร็ว เพียงแจ้งเหตุผ่าน ฮอตไลน์ 1300 ตลอด 24 ชม.
วันนี้ (8 ม.ค. 67) เวลา 10.00 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) แถลงข่าวการเปิดศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) หรือ Human Security Emergency Management Center : HuSEC ทั่วประเทศ เพื่อปฏิบัติการอย่างเต็มรูปแบบ ครอบคลุมทุกพื้นที่ พร้อมส่งทีมปฏิบัติการหน่วยเคลื่อนที่เร็ว ลงพื้นที่เข้าคุ้มครองช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในกรณีวิกฤติอย่างทันท่วงที ด้วยระบบการบริหารจัดการที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ
นายวราวุธ กล่าวว่า ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) หรือ HuSEC ได้เริ่มปฏิบัติการคุ้มครองช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนทางสังคม ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 66 ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ วันที่ 31 ธ.ค. 66 ศรส. ได้รับแจ้งเหตุในทุกช่องทางรวมทั้งสิ้น 24,369 กรณี โดยปัญหาที่พบมากที่สุดคือ ปัญหารายได้และความเป็นอยู่ รองลงมาคือ ปัญหาคนเร่ร่อน ขอทาน ปัญหาการใช้ความรุนแรง และปัญหาสัมพันธภาพในครอบครัว ทั้งนี้ ศรส. ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาจนเสร็จสิ้นกระบวนการไปแล้วทั้งสิ้นกว่า 20,000 กรณี และอยู่ระหว่างกระบวนการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหรือที่ยังต้องดูแลอย่างต่อเนื่อง จำนวน 3,633 กรณี ซึ่งเห็นได้ว่า ตลอดระยะ 2 เดือนที่ผ่านมา ศรส. เริ่มปฏิบัติการเร่งรัด – จัดการ ปัญหาพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะเรื่องความรุนแรงในครอบครัว การถูกล่วงละเมิดทางเพศ และผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อนทางสังคมอื่น ๆ ที่อยู่ในความสนใจของสังคม กระทรวง พม. ได้เร่งรัด – จัดการ ปัญหาอย่างเป็นระบบ โดยมี ผู้บริหารระดับสูง (รองอธิบดี) เป็นผู้กำกับติดตามอย่างใกล้ชิด และเป็นที่ปรึกษาให้กับหน่วยงาน พม. ส่วนภูมิภาค อีกทั้ง ศรส. ได้อำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน โดยสามารถติดตามการช่วยเหลือได้ทุกขั้นตอนผ่านระบบ E – tracking เพียงใช้หมายเลขโทรศัพท์ของผู้แจ้งเหตุหรือเลขบัตรประจำตัวประชาชน ทั้งนี้ ประชาชนสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือจาก ศรส. ผ่าน Hotline 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่ง เราจะส่งทีมปฏิบัติการหน่วยเคลื่อนที่เร็ว พร้อมลงพื้นที่คุ้มครองช่วยเหลืออย่างรวดเร็วทันเหตุการณ์
นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า ปี 2566 ที่ผ่านมา ทางกระทรวง พม. ได้ทดลองการทำงานของ ศรส. ตลอดสองเดือนที่ผ่านมา ศูนย์นี้แสดงให้เห็นถึงมิติใหม่ของกระทรวง พม. เป็นการบูรณาการทุกหน่วยงานของกระทรวง ทั้งเรื่องเด็ก เยาวชน สตรีและสถาบันครอบครัว คนพิการ ผู้สูงอายุ รวมถึงปัญหาด้านที่อยู่อาศัย และเรื่องรายได้ โดยได้รับการร้องเรียนเกือบ 25,000 เรื่อง จนถึงวันนี้ เราได้ดำเนินการแก้ไขจนเสร็จสิ้นเรียบร้อยไปแล้วกว่า 20,000 เรื่อง ตอนนี้ ยังเหลืออีกกว่า 3,600 เรื่องนั้น กำลังแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนอยู่ และที่สำคัญนั้น จะไม่ใช่การสื่อสารทางเดียวคือไม่ใช่รับเรื่องร้องเรียนทางเดียว แต่ว่าจะเป็นการสื่อกลับไปยังประชาชน โดยที่ผู้ที่ร้องเรียนเข้ามานั้น สามารถใช้เบอร์โทรศัพท์หรือแม้แต่หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก ในการติดตามเรื่องที่ท่านร้องเรียนเข้ามา ว่าวันนี้ได้มีการดำเนินการถึงขั้นตอนใดแล้ว และได้แก้ไขปัญหาหรือไม่ ซึ่งในวันนี้ เราจะขยายการทำงานของ ศรส. ที่ทำงานกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยจะขยายให้ครบทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศไทย ที่มีพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) เป็นศูนย์กลางของ ศรส. ในแต่ละพื้นที่ โดยจะมีทีมปฏิบัติการหน่วยเคลื่อนที่เร็วไปบูรณาการการทำงานในพื้นที่ แต่ขอย้ำว่า ศรส. จะไม่มีการนำข่าวเคสแต่ละเคสมาออกข่าวบนหน้าจอทีวี ซึ่งเป็นจรรยาบรรณที่จะไม่สามารถเปิดเผยหน้าเคสออกทีวีได้ เพราะเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล รวมถึงจะต้องปกป้องทั้งร่างกายและจิตใจของเคส ดังนั้น ตนดีใจที่ได้เห็นการขยายการทำงานของ ศรส. และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะเป็นกำลังสำคัญและเป็นที่พึ่งให้กับพี่น้องประชาชนในการแก้ไขปัญหาทั้งเรื่องภายในครอบครัวและปัญหาทางสังคมอีกหลาย ๆ ประเด็น
นายวราวุธ กล่าวต่อไปอีกว่า ในรอบสองเดือนที่ผ่านมา เรื่องค่าครองชีพเป็นเรื่องที่มีการแจ้งเข้ามามากที่สุด รวมไปถึงเรื่องความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีการประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปแก้ปัญหา มีการเยียวยาทั้งกายและจิตใจ หากมีความเดือดร้อนเรื่องปัญหาที่อยู่อาศัย จะมีงบประมาณในการเข้าไปซ่อมแซมบ้าน ในขณะเดียวกัน บ้านที่ประสบภัย เช่น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ประสบปัญหาอุทกภัย เรามีทีมสหวิชาชีพเข้าไปเยียวยาจิตใจ และทำกิจกรรมเพื่อช่วยผ่อนคลายความเครียดให้กับพี่น้องประชาชน ในส่วนของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของ ศรส. ขอให้มั่นใจว่า เราจะดำเนินการได้ เพราะมีบุคลากรที่พร้อมทำงานทั้ง 76 จังหวัด โดยขอให้ พมจ. เป็นแกนหลักของจังหวัด และบูรณาการหน่วยงานในสังกัดกระทรวง พม. ทั้งหมด เข้ามาช่วยแก้ปัญหาต่างๆ โดยไม่มีการแบ่งภารกิจของกรม ภายใต้ ทีม พม.หนึ่งเดียว โดยมีรองปลัดกระทรวง พม. เป็นเซ็นเตอร์ของ ศรส.
นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกระบวนการทำงานของ ศรส. ด้วยระบบการบริหารจัดการที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน (A – R – M – O – R) ได้แก่ 1) A – Alert: แจ้งเหตุผู้ประสบปัญหาในภาวะวิกฤต ผู้พบเห็นเหตุการณ์ฉุกเฉินทางสังคม หรือประชาชนทั่วไปสามารถแจ้งเหตุผ่านช่องทาง 1. ฮอตไลน์ 1300 2. Line OA ที่ @hotline1300 และ @esshelpme 3. เพจเฟซบุ๊ก กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ 4. youtube ช่อง HUSEC ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน 2) R – Rapidity: เร่งรัด ส่งทีมปฏิบัติการหน่วยเคลื่อนที่เร็ว (Rapid Response Unit: RRU) เพื่อให้การคุ้มครองช่วยเหลือเฉพาะหน้าตลอด 24 ชั่วโมง 3) M – Management: จัดการ ศรส. คุ้มครองช่วยเหลือ หรือส่งต่อ โดยกำหนดระยะเวลาการดำเนินงานตามความเร่งด่วน ด้วยการแบ่งระดับความรุนแรงของกรณี/เหตุการณ์ 4) O – Oversight: ติดตามผู้ประสบปัญหาทุกกรณี โดยสามารถติดตามสถานการณ์ให้ความช่วยเหลือผ่านระบบ E-Tracking โดยใช้เลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ในการตรวจสอบ และ 5) R – Raising Awareness : สร้างความตระหนักรู้ในสังคม สื่อสารประชาสัมพันธ์สถานการณ์ทางสังคมเชิงรุก เข้าใจปัญหาและสถานการณ์ทางสังคม ไม่นิ่งเฉย ไม่ละเลย และมีภูมิคุ้มกันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง