เมื่อมีประชาชนมาร้องเรียนว่าข้างบ้านประกอบกิจการค้าขายปิ้งไก่ก่อให้เกิดควันทุกวันและส่งผลกระทบต่อสุขภาพ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในการหาหลักฐานว่าควันที่เกิดจากการปิ้งย่างสร้างผลกระทบต่อพื้นที่บริเวณนั้นๆ จริงหรือไม่ ผลที่ได้มีตัวเลขที่น่าสนใจ คือ ที่สถานีตรวจวัดที่บางนา 2 จุด จุดที่ 1 ติดตั้งที่กรมอุตุนิยมวิทยา และจุดที่ 2 อยู่ไม่ห่างกันมาก ตั้งอยู่บริเวณใกล้ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง และใกล้กับบริเวณที่มีการปิ้งย่าง ผลการตรวจวัดช่วงเวลาเดียวกันทั้งสองจุด ช่วงวันที่ 2 – 15 ธันวาคม 66 พบว่าในช่วงที่มีการค้าขายจุดที่ 2 ค่าฝุ่น PM2.5 มีค่าสูงขึ้นกว่าจุดที่ 1 ซึ่งต้องตรวจสอบต่อว่าส่งผลกระทบต่อประชาชนในบริเวณใกล้เคียงหรือไม่ และหากค่าฝุ่น PM2.5 จากร้านปิ้งย่างสร้างผลกระทบจริง ไม่ได้หมายความว่าจะต้องให้หยุดขาย แต่ได้ให้โจทย์กับสำนักสิ่งแวดล้อมไปว่าจะสามารถทำอุปกรณ์หรือที่ดักควันเพื่อลดผลกระทบกับประชาชนได้อย่างไร
ทั้งนี้ ในกรุงเทพฯ มีการประกอบกิจการปิ้งย่างในลักษณะนี้โดยทั่วไปทำให้เกิดควันเยอะมากขณะที่ทำ และในภาวะที่สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 สูงอยู่แล้วอาจเป็นการเพิ่มฝุ่นให้เฉพาะบริเวณนั้น หากอยู่ในบริเวณข้างเคียงและสูดควันเข้าไปเป็นประจำ ด้วยระยะเวลาติดต่อกันนานหลายปี ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ แต่ไม่ใช่ว่าการปิ้งย่างจะทำให้ฝุ่น PM2.5 เพิ่มขึ้นทั้งกทม.
ส่วนกรณีที่มีสำนักข่าวรายงานข่าวว่าจะมีการ ”ควบคุมหมูกระทะ” เพื่อป้องกันฝุ่น PM2.5 นั้น ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า ยังไม่ใช่และไม่ได้กล่าวถึงประเด็นนี้