“ย้อนที่มา”กฎกรมราชทัณฑ์ เปลี่ยนบ้านให้เป็นตาราง ”สมศักดิ์“เซ็นปูทางรับ”แม้ว”                           

545

   
               กรมราชทัณฑ์สร้างความฮือฮาให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์อีคำรบหนึ่ง เมื่อนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม รักษาการอธิบดีกรมราชทัณฑ์  ลงนามในคำสั่งเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม เรื่องระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขัง พ.ศ.2566 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัด

           เนื้อหาระบุว่า ด้วยกรมราชทัณฑ์ประกาศใช้ระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขัง ในสถานที่คุมขังพ.ศ.2560 ระเบียบนี้กำหนดสถานที่คุมขังอื่นที่มิใช่เรือนจำ หรือจำคุกนอกเรือนจำ ตามมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560และพัฒนาพฤติกรรมผู้ต้องขัง แต่ละประเภทและการอื่นตามมาตรา 34

           ระหว่างที่เผยแพร่คำสั่ง ทางรักษาการอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ดำเนินการจัดทำระเบียบรองรับกฎ กระทรวงกำหนดสถานที่อื่น ที่ไม่ใช่เรือนจำเป็นสถานที่คุมขังทันที่ และอาจจะประกาศใช้ในสัปดาห์นี้

        หากย้อนดูที่มาของกฎกระทรวงยุติธรรมฉบับนี้จะพบว่า ในปี 2563 ที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน คนใกล้ชิดนักโทษชาย(น.ช.)ทักษิณ ชินวัตร นั่งกุมบังเหียนกระทรวงยุติธรรม ได้ ออกกฎกระทรวง กำหนดสถานที่คุมขัง 2563 โดยระบุว่าอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 วรรคหนึ่งและมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมออกกฎระทรวงไว้ โดยสรุปดังนี้

   ข้อ 1 ในกฎกระทรวงนี้”สถานคุมขัง”หมายความว่าสถานที่อื่น ที่ไม่ใช่เรือนจำซึ่งเป็นสถานที่ของทางราชการหรือเอกชนที่เจ้าของหรือผู้ปกครองดูแลรักษาสถานที่อนุญาตหรือยินยอมให้ใช้ประโยชน์ในการควบคุมผู้ต้องขัง

   ข้อ 2 การกำหนดอาณาเขตสถานที่คุมขัง จะกำหนดอาณาเขตของอสังหาริมทรัพย์ทั้งแปลง หรือส่วนใดส่วนหนึ่งที่ตั้งอยู่บนอสังหาริมทรัพย์ก็ได้ พร้อมกำหนดคุณสมบัติไว้ อาทิ มีขอบเขตแน่นอน อาคารสิ่งปลูกสร้างมีลักษณะเป็นการถาวร เป็นต้น

 ข้อ 3 สถานที่คุมขังต้องมีวัตถุประสงค์ในการใช้คุมผู้ต้องขังเพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง อาทิการปฏิบัติตามระบบจำแนกและการแยกคุมขัง และการรักษาพยาบาลผู้ต้องขัง เป็นต้น

 ข้อ 4 สถานที่คุมขังกำหนดไว้ 6 ประเภท อาทิ สถานที่ราชการหรือหน่วยงานของรัฐใช้ประโยชน์ในการจัดทำบริการสาธารณะ  วัด มัสยิด และสถานที่ทำการหรือสถานประกอบการของเอกชน เป็นต้น

   กฎกระทรวงให้อำนาจอธิบดีกรมราชทัณฑ์ดำเนินการจัดทำสถานที่คุมขัง ซึ่งนายสมศักดิ์ ลงนามไว้เมือวันที่ 25 กันยายา 2563 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 137ตอนที่ 84 ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2563

    ถ้าอ่านกฎกระทรวงฉบับนี้ให้จบสิ้นกระบวนความคงไม่ต้องสงสัยเลยว่า การกลับประเทศของ น.ช.ทักษิณ ได้เตรียมแผนไว้ล่วงหน้าแล้ว มีนายสมศักดิ์ ทำหน้าที่ขับเคลื่อน

     จึงไม่แปลกที่นายสมศักดิ์ ได้รับการปูนบำเหน็จนั่งตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน และมีโอกาสจะขยับนั่งกระทรวงเกรดเอ หากมีการปรับคณะรัฐมนตรี

     ขณะที่ นายสหการณ์ มีโอกาสนั่งตำแหน่งอธิบดีกรมคุก เต็มตัว เพราะกำลังขับเคลื่อนระเบียบเปลี่ยนบ้านให้เป็นคุก ด้วยการร่างระเบียบคุณสมบัติของผู้ต้องขัง

      โดยเฉพาะหมวดที่ 2 ระบุว่าคุณสมบัติของผู้ต้องขัง ที่ได้รับการพิจารณาให้ออกไปคุมขังยังสถานที่คุมขัง เช่นเป็นผู้ต้องขังตามกฎหมายราชทัณฑ์ ผ่านการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังหรือทบทวนแผนปฏิบัติต่อผู้ต้องขังรายบุคคลและคณะทำงานเพื่อจำแนกลักษณะของผู้ต้องขังประจำเรือนจำเห็นว่าควรกำหนดแผนปฏิบัติต่อผู้ต้องขังรายบุคคลโดยให้คุมขังในสถานที่คุมขังตามระเบียบนี้ มีคุณสมบัติเฉพาะและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในประกาศกำหนดคุณสมบัติเฉพาะ ลักษณะต้องห้ามและวิธีการคุมขังในสถานที่คุมขังสำหรับผู้ต้องขังแต่ละกลุ่มของกรมราชทัณฑ์

     ระเบียบยังระบุอีกว่าคณะทำงานพิจารณาการคุมขังในสถานที่คุมขัง ในการพิจารณากลั่นกรองการให้ผู้ต้องขังรายใดคุมขังในสถานที่คุมขัง และการเพิกถอนการคุมขัง การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุม คณะทำงานคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งเสียง

   ส่วนสถานที่คุมขังในสถานที่สำหรับอยู่อาศัย สถานที่สำหรับควบคุมกักขัง หรือกักตัวตามกฎหมายของทางราชการที่มิใช่เรือนจำ เช่นบ้านที่มีทะเบียนบ้าน อาคารหรือสิ่งปลูกสร้างต้องมีเลขที่อาคาร เลขที่ห้อง อักษรหรือสัญลักษณ์อื่นใด เป็นต้น

    เมื่อคำสั่งและระเบียบนี้แพร่ออกไปจึงไม่แปลกที่สังคมจะนำไปเทียบเคียงว่ากำลังเอื้อประโยชน์ให้น.ช.ทักษิณ ที่ไม่เคยเข้านอนคุกแม้แต่วันเดียว เพราะอ้างป่วยและถูกคุมขังอยู่ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจกว่า 100 วัน

     ยิ่งประจักษ์ว่านี่คือการเอื้อให้ น.ช.ทักษิณ เมื่อผู้สื่อข่าวถามนายเศรษฐา ว่ากรมราชทัณฑ์ออกระเบียบคุมขังและกำหนดสถานที่คุมขังเป็นการเอื้อประโยชน์ให้น.ช.ทักษิณหรือไม่ นายเศรษฐา ตอบว่ายังไม่เห็นระเบียบ เมื่อถามว่าส่งผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ นายเศรษฐา ไม่ตอบแล้วเดินเลี่ยงออกไป

   ถ้าไม่เอื้อ นายเศรษฐา คงไม่รับบทเตมีใบ้ เท่ากับเป็นการตอกย้ำว่าคุกไม่ได้มีไว้ เพื่อขังผู้มีเงิน อำนาจและอิทธิพล

    จึงขอฝากสมาชิกรัฐสภาช่วยแก้รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายในมาตราที่ระบุว่าทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันทางกฎหมาย เป็นคนจนต้องถูกบังคับใช้กฎหมายกันอย่างเท่าเทียม ยกเว้นคนมีอำนาจ มีเงิน มีอิทธิพล ไม่ต้องดำเนินคดีในทุกคดีที่กระทำผิด

    จากผลงานครั้งนี้เขียนชื่อ นายสหการณ์ แปะไว้ที่เก้าอี้อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้เลย และปัจจัยที่การันตีว่าเก้าอี้ตัวนี้เป็นของนายสหการณ์  นั่นคือเสียงสนับสนุนจากญาติผู้ใหญ่นาม”สมชาย วงศ์สวัสดิ์”อดีตนายกรัฐมนตรีน้องเขย น.ช.ทักษิณ นั่นเอง !!!