ข่าวปลอม อย่าแชร์! เช็กว่าเป็นโรคหลอดเลือดตีบที่สมองด้วยตนเอง เพียงแค่ยืนและก้มศีรษะ

25145

ตามที่ได้มีคลิปวิดีโอเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องเช็กว่าเป็นโรคหลอดเลือดตีบที่สมองด้วยตนเอง เพียงแค่ยืนและก้มศีรษะ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

จากกรณีที่มีคำแนะนำด้านสุขภาพโดยเช็กว่าเป็นโรคหลอดเลือดตีบที่สมองด้วยวิธีการยืนและก้มศีรษะ จับความรู้สึกของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นอาการหัวขยายใหญ่ หูอื้อ แน่นจมูก ปวดเบ้าตานั้น ทางสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า โรคหลอดเลือดสมอง ไม่ว่าจะเป็นชนิด ตีบ อุดตัน หรือแตก วินิจฉัยจากอาการเป็นหลัก เพราะความผิดปกติที่ถือเป็นโรค ส่วนใหญ่ทำให้เกิดอาการแบบฉับพลันหรือทันทีทันใด อาทิ อาการพูดลำบาก ปากตก แขนขายกไม่ขึ้น หรือการทรงตัวผิดปกติ ซึ่งการทดสอบอาการตามคำกล่าวอ้าง ได้แก่

(1)การยืนและก้มศีรษะต่ำตามคลิปนั้น เป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับผู้สูงอายุ เพราะเมื่อเงยหน้าขึ้นอาจจะทำให้มีอาการหน้ามืด หมดสติ หรือล้ม เกิดอันตรายได้ และในบางรายที่มีปัญหาเรื่องกระดูกสันหลังหรือหมอนรองกระดูก อาจจะทำให้อาการบาดเจ็บเป็นมากขึ้นได้

(2)การจับความรู้สึกว่าหัวขยายใหญ่ขึ้นหรือไม่ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เนื่องจากกะโหลกศีรษะในผู้ใหญ่ปกติ จะไม่สามารถขยายขนาดได้

(3) การจับความรู้สึกหูอื้อ แน่นจมูก หายใจไม่สะดวก หรือปวดเบ้าตา ไม่ใช่อาการของโรคหลอดเลือดสมอง แต่ท่าทางดังกล่าว สามารถทำให้เกิดอาการเหล่านี้ได้

(4)ไม่มีการตรวจไม่พบโดยแพทย์แผนปัจจุบัน หรือการตรวจด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีแต่ตรวจพบมากเกินไป ที่บางครั้งอาจจะไม่ได้ทำให้เกิดความผิดปกติ แต่บังเอิญเจอ

(5)อาการผมร่วง และหน้ามีจ้ำ ไม่ใช่อาการของโรคหลอดเลือดสมอง

โดยท่าดังกล่าวเป็นอันตรายมาก ๆ โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุ ไม่ควรทำ และหากมีอาการ พูดลำบาก ปากตก แขนขายกไม่ขึ้น ทรงตัวไม่ได้ ที่เป็นฉับพลันหรือทันทีทันใด ควรไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที หรือโทร 1669 เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษา ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและทุพพลภาพจากโรคหลอดเลือดสมองได้

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามได้ที่ https://nit.go.th/ หรือโทร 02-306-9899

#Thaitabloid #สำนักข่าวไทยแทบลอยด์