ปปง.จับมือ ตร.จัดประชุมหารือแนวทางการบังคับใช้กฎหมายฟอกเงินแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ

372

วันที่ 4 ธันวาคม 2566 นายวิทยา นีติธรรม ผู้อำนวยการกองกฎหมาย และโฆษกประจำสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) เปิดเผยว่า ตามที่ นายกรัฐมนตรีได้กำหนดให้การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ และเป็นนโยบายสำคัญที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน เนื่องจากส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมบูรณาการในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว นั้น

วันนี้ (4 ธันวาคม 2566) พลตำรวจตรี พุฒิเดช บุญกระพือ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะคณะทำงาน/เลขานุการศูนย์ป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปน. ตร.) เข้าประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางในการบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ที่เกี่ยวกับหนี้นอกระบบกับผู้แทนสำนักงาน ปปง.โดย นายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการ ปปง. ได้มอบหมายให้ นายกมลสิษฐ์ วงศ์บุตรน้อย ผู้ช่วยเลขาธิการ ปปง. นายวิทยา นีติธรรม ผู้อำนวยการกองกฎหมาย นายสุทธิศักดิ์ สุมน ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฎหมาย ร่วมประชุมฯ ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อหารือแนวทาง ในการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับแนวนโยบายของนายกรัฐมนตรี โดยผลการหารือมีแนวทาง ดังนี้

(1)การกำหนดให้ความผิดเกี่ยวกับการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมายว่าด้วย การห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราเป็นความผิดมูลฐาน โดยสำนักงาน ปปง. ได้แจ้งว่า ตามร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่..) พ.ศ. ….(ร่าง พรบ.) มาตรา 10 ได้มีการเพิ่มมูลฐานความผิดเกี่ยวกับการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมายว่าด้วยการห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราซึ่งได้ทวงหนี้โดยวิธีการอันฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการทวงหนี้ และได้กระทำในลักษณะเป็นเครือข่ายอาชญากรรม เป็นความผิดมูลฐานแล้ว ทั้งนี้ ร่าง พรบ. ดังกล่าว คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้ตรวจพิจารณาเสร็จแล้ว ปัจจุบันสำนักงาน ปปง. ได้ส่งร่าง พรบ. ดังกล่าวไปยังเลขาธิการ ครม. ให้เสนอร่างต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) ต่อไป

(2) ในระหว่างที่ร่าง พรบ. ดังกล่าวยังไม่ได้ตราเป็นกฎหมาย เห็นควรนำความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น ความผิดเกี่ยวกับการกรรโชก หรือรีดเอาทรัพย์ที่กระทำโดยอ้างอำนาจอั้งยี่ หรือซ่องโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดเกี่ยวกับการประทุษร้ายต่อชีวิตหรือร่างกายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายสาหัส ตามประมวลกฎหมายอาญา เพื่อให้ได้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สิน หรือความผิดเกี่ยวกับการลักทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง หรือยักยอก ตามประมวลกฎหมายอาญา อันมีลักษณะเป็นปกติธุระมาบังคับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบไปก่อนเพื่อดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว

#Thaitabloid #สำนักข่าวไทยแทบลอยด์