“ผยง ศรีวณิช” ชูแนวคิด “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยฐานข้อมูล” พลิกขีดความสามารถไทย สู่การเติบโตยั่งยืน ในเวที THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2023

211

ประธานสมาคมธนาคารไทย ชูแนวคิด “Data Driven Economy ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยฐานข้อมูล” ฝ่าความท้าทาย 4 ด้าน คือ ความสามารถการแข่งขัน ความเหลื่อมล้ำ เศรษฐกิจนอกระบบ และ หนี้ครัวเรือน แนะใช้เทคโนโลยีรับมือโลกที่เข้าสู่ยุค “Never Normal” เพื่อยกระดับขีความสามารถการแข่งขันของประเทศ สู่การเติบโตที่ยั่งยืน ในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2023 FUTURE READY THAILAND เศรษฐกิจไทยไล่ล่าอนาคต

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “Reshaping Country Competitiveness Towards Sustainable Growth พลิกขีดความสามารถไทย สู่การเติบโตที่ยั่งยืน” ในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2023 FUTURE READY THAILAND เศรษฐกิจไทยไล่ล่าอนาคต ว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบอย่างยั่งยืน ยังมีช่องว่างที่เป็นความท้าทายหลักๆ ในหลายด้าน ประกอบด้วย

1.ความสามารถการแข่งขัน ที่ยังด้อยกว่าคู่เทียบ สะท้อนจากการจัดอันดับขีดความสามารถการแข่งขันของ IMD ในปี 2566 ไทยอยู่ที่อันดับ 30 ขณะที่สิงคโปร์และมาเลเซียที่อยู่อันดับ 4 และ 27 ตามลำดับ และดัชนีการค้ายั่งยืนที่ไทยอยู่อันดับ 17 เป็นรองประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย

  1. ความเหลื่อมล้ำสูง โดย Credit Suisse ประเมินว่า คนไทยที่รวยที่สุด 1% ของประเทศถือทรัพย์สินเฉลี่ยคนละ 33 ล้านบาท สูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มคนรายได้น้อยที่สุด 20% แรกของประเทศมากถึง 2500 เท่า สอดคล้องกับข้อมูลเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ ณ เดือนกันยายน ปี 2566 พบว่า 89% ของบัญชีเงินฝากประเภทบุคคลธรรมดามียอดเงินฝากไม่ถึง 5 หมื่นบาท และมีเพียง 2% ที่มีเงินฝากมากกว่า 1 ล้านบาท

3.เศรษฐกิจนอกระบบมีขนาดใหญ่ นำมาสู่หลายปัญหา ทั้งการจัดเก็บภาษีไม่พอกับรายจ่าย โดยเศรษฐกิจนอกระบบคิดเป็นสัดส่วน 47.6% ของ GDP สูงกว่าหลายประเทศในเอเชีย ทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้ ซึ่งมีสัดส่วนเศรษฐกิจนอกระบบต่อ GDP ที่ราว 14-38% โดยไทยมีแรงงานนอกระบบราว 20 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 51% ของแรงงานทั้งระบบ ขณะที่ มีผู้อยู่ในฐานะระบบภาษีเพียง จำนวน 10-11 ล้านคน และมีผู้ที่มีภาระภาษีต้องจ่ายราว 4 ล้านคนเ ท่านั้น ทำให้ภาครัฐมีฐานรายได้ที่แคบ และไม่เพียงพอรองรับรายจ่ายสวัสดิการที่จะเพิ่มขึ้นจากการเข้าสู่สังคมสูงวัย

4.หนี้ครัวเรือนสูง มีสัดส่วน 90.7% เพิ่มขึ้นจาก 76% จาก 10 ปีก่อน และเมื่อรวมกับหนี้นอกระบบ ที่มีสัดส่วน19.8% ของหนี้ครัวเรือน (จากข้อมูลของหอการค้าไทย) อาจทำให้หนี้ครัวเรือนต่อ GDP อาจสูงถึง 110%
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจท่ามกลางความท้าทายดังกล่าว ต้องให้ทุกส่วนมีส่วนร่วมเป็นฟันเฟืองที่สอดประสานกันเป็นหนึ่งเดียว โดยต้องเริ่มจากความเข้าใจที่แท้จริง ตั้งอยู่บนข้อมูลที่ดีพอ นำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยอาศัยข้อมูล เป็น Data Driven Economy เปิดกว้างให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการอภิปรายและตัดสินใจบนหลักความจริง และได้ผลลัพภ์ร่วมที่คำนึงถึงทุกฝ่าย ซึ่งมีตัวอย่าง จากการทำ Thailand Open Digital Platform เพื่อส่งผ่านความช่วยเหลือของรัฐในช่วงโควิด-19 ซึ่งเป็นระบบเปิดที่เชื่อมโยงกับหน่วยงานรัฐทำให้สามารถเข้าถึงคนจน ผู้ด้อยโอกาส อย่างถูกฝาถูกตัว ใช้งบประมาณได้ถูกจุดมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ควรต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหาและขับเคลื่อนประเทศอย่างมียุทธศาสตร์ เพราะในอนาคตปัญหาต่างๆ จะยิ่งซับซ้อนเป็นทวีคูณ เป็นยุค “Never Normal” ซึ่งมีลักษณะ ไม่เป็นไปคาดการณ์ตามตรรกะเดิมๆ เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วกว่าในอดีตมาก ข้อมูลทุกอย่างเชื่อมโยงกันสูงรอบทิศทาง และ เป็นโลกแห่ง Agile ที่มีการปรับรูปแบบตลอดเวลา จึงต้องมียุทธศาสตร์ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ได้จริง โดยมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ด้าน คือ
Right infrastructure ดึงศักยภาพของเทคโนโลยีและข้อมูลมาใช้ต่อยอดให้เกิดประโยชน์กับทั้งรัฐและเอกชน เพื่อให้มี single source of truth เชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐ และฐานข้อมูลขนาดใหญ่อื่นๆ เพื่อทำให้การดำเนินนโยบายต่างๆ ถูกต้องแม่นยำมาก

Right operating environment มีนโยบายรัฐนำทาง เป็น “lighthouse” ให้กับทุกภาคส่วน เพื่อตอบโจทย์การยกระดับประเทศ แบบไม่ทั้งใครไว้ข้างหลัง เน้นไปการต่อยอดอย่างต่อเนื่อง ไปในทิศทางเดียวกันในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้น

Right decision & bold execution วางรากฐานที่จำเป็นในทุกมิติ เพื่อปลดล็อกการสร้างมูลค่า ให้กับประเทศ โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม เช่น การยกระดับกฎหมาย ยกระดับแนวทางการปฏิบัติทางการค้าที่เป็นธรรมกับ SMEs

“Future Ready Thailand เป็นเป้าหมายที่สำคัญของประเทศในระยะ 10 ปีข้างหน้า เราต้องเรียนรู้จาก 10 ปี ที่ผ่านมาถึงพลวัตของเศรษฐกิจ การเมือง และประชาสังคม ทั้งในและต่างประเทศ ที่ทำให้ประเทศอยู่ในจุดนี้ที่ยังมี Gap กับสิ่งที่เรียกว่าการเติบโตที่ยั่งยืน ซึ่งพลวัตเหล่านี้ภายใต้โลกข้างหน้าที่ Never Normal จะยิ่งเป็นความท้าทายที่มากกว่าเดิม ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องโฟกัสที่การลงมือทำ ซึ่งเป็นจังหวะที่ดี มีรัฐบาลใหม่เข้ามาปฏิรูป สร้างการเปลี่ยนแปลง โดยรัฐบาลสามารถนำความต้องการของแต่ละหน่วยงานมาตรวจสอบเพื่อจัดทำนโยบายที่ตอบโจทย์ โดยตั้งอยู่บนความเข้าใจที่แท้จริง โปร่งใส มีข้อมูลที่ดีพอที่จะนำไปสู่การตัดสินใจ เปิดกว้าง ให้
ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อพลิกประเทศให้เข้าสู่เส้นทางการเติบโตที่ยั่งยืน”