นายกฯ”ฝืนกฎ-หลุดปาก”บ่อย หวั่นถูกองค์กรอิสระสอยร่วง ชี้อย่ายึดแนว”บิ๊กตู่”เหตุเครดิตห่างชั้น                 

1378

นับแต่นายเศรษฐา ทวีสิน นั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ถูกสังคมและสื่อทุกประเภทจับอากัปกริยาและความเคลื่อนไหวแทบทุกอิริยาบท แม้กระทั่งการแต่งกายยังถูกจับไปวิพากษ์วิจารณ์ว่า บางกรณีไม่ถูกกาลเทศะไม่เหมาะสมในฐานะที่เป็นผู้นำประเทศ

   ยิ่งการขับเคลื่อนนโยบายที่เคยประกาศช่วงหาเสียง ถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าไม่ตรงปก อย่างกรณีนโยบายแจกเงินดิจิตอลเคยประกาศว่าจะไม่มีการกู้ พอถึงเวลาจะผลักดันนโยบายแม้จะยังไม่ชัดเจนว่ากลับบอกว่าต้องกู้เงิน

  โดยอ้างว่าเศรษฐกิจประเทศตกต่ำกว่าที่คิด จนถูกฝ่ายค้านแย้งว่าเป็นการกล่าวเพียงเพื่อจะดันให้นโยบายแจกเงิน 10,000 บาทเป็นจริง ซึ่งสวนทางกับที่นายเศรษฐา เดินสายชักชวนนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุน เพราะหากเศรษฐกิจเลวร้ายกว่าที่คิดคงไม่มีนักลงทุนชาติไหนเข้ามาลงทุนอย่างแน่นอน

    ยิ่งในเชิงบริหารประเทศแล้ว มีบ่อยครั้งที่เกิดอาการหลุดโค้งจากกรอบของกฎหมาย จึงไม่แน่ใจว่าก่อนที่จะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐาได้ศึกษาระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน รัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรงมาแค่ไหน

   เพราะอย่าลืมว่าการบริหารราชการแผ่นดินจะแตกต่างกับการบริหารภาคธุรกิจ เนื่องจากระบบราชการมีการออกแบบกลไกต่างๆไว้เป็นจำนวนมาก มีเป้าหมายปกป้องผลประโยชน์ของประเทศและช่วยปกป้องข้าราชการน้ำดีมิให้ถูกฝ่ายการเมืองหรือผู้บังคับบัญชารังแกได้ง่ายๆ

  ขณะที่บริบททางการเมือง ถูกมองว่าไม่ค่อยมีความมั่นใจเท่าที่ควร เพราะมีเงาของหัวหน้าเพื่อไทยและนักโทษชาย(นช.)ทักษิณ ชินวัตร ทาบทับอยู่ ซึ่งอาการไม่มั่นใจนี้พอจับเค้าได้ โดยสะท้อนผ่านการประชุม สส.เพื่อไทย ที่ นายเศรษฐา บอกต่อที่ประชุมถึงกรณีการแต่งตั้งตำรวจระดับผู้กำกับการ(ผกก.)มีผู้ผิดหวังมากกว่าสมหวังในห้องนี้ที่ขอตำแหน่งไป  

         จึงพออนุมานได้ว่านายเศรษฐาเกรงใจบรรดา สส.ที่ฝากให้แต่งตั้งตำรวจแล้วไม่สมหวัง ซึ่งแตกต่างกับในยุครัฐบาลทักษิณ และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ไม่เคยบอกกล่าวเพราะเชื่อมั่นว่าบรรดา สส.ไม่แตกแถวแน่นอน

       ในห้วง2-3 เดือนนี้นายเศรษฐา ต้องผจญกับการบริหารงานผิดพลาดฝ่าฝืนกฎกติกาหลายครั้งและถูกบรรดานักร้องนำไปร้องต่อองค์กรอิสระ อาทิ นโยบายไม่ตรงกับที่เคยประกาศไว้ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง การบังคับใช้กฎหมายดำเนินไปในลักษณะเลือกปฏิบัติ กรณี นช.ทักษิณ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน

ประเด็นที่ถูกกล่าวขานถึงมากที่สุดคือการแต่งตั้ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)ที่ไม่ยึดหลักกฎหมายอย่างเคร่งครัด ด้วยการตั้งรองผบ.ตร.อาวุโสต่ำสุดเป็นผบ.ตร. จนถูก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียาเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ยื่นเรื่องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ให้สอบสวน

    รวมถึงประเด็นการแต่งตั้งผกก.อาจจะตามมาแบบติดๆก็เป็นได้ ซึ่งคราวนี้อาจจะพ่วง สส.เพื่อไทยแบบยกพวงมาเป็นเพื่อนด้วยก็ได้

     นี่เป็นเพียงบางส่วนที่นายเศรษฐา ถูกร้องให้ป.ป.ช.สอบสวน ยังไม่นับรวมที่นักร้องไปร้องต่อองค์กรอิสระอื่นๆในหลากหลายประเด็น หากนายเศรษฐา อยากนั่งในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนานๆ คงต้องระมัดระวังมากกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นปากไวหรือจังหวะก้าวในการบริหารประเทศ ต้องคิดให้รอบคอบ ยึดกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญแบบเคร่งครัด

     ถ้าก้าวพลาดมีโอกาสถูกองค์กรอิสระสอยร่วงแบบไม่เป็นท่าก็เป็นได้ แม้ว่าสิ่งที่นายเศรษฐากระทำจะมีลักษณะคล้ายๆกับการกระทำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี

    แต่พล.อ.ประยุทธ์ สามารถยืนระยะได้ครบเทอม ทั้งที่มีหลายประเด็นที่ถูกนักร้องไปร้องให้องค์กรอิสระตรวจสอบ มิได้ระคายผิวแต่อย่างใด

   ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะองค์กรอิสระเหล่านั้นพล.อ.ประยุทธ์ ตั้งมากับมือ บ่อยครั้งที่องค์กรอิสระจะชี้เป็นชี้ตายพล.อ.ประยุทธ์ มักจะมีเสียงรอดออกมาว่าตั้งมาเองจะทำได้ลงคอหรือ?? นี่คือความต่างระหว่างนายเศรษฐากับพล.อ.ประยุทธ์

   ดังนั้นถ้านายเศรษฐา อยากนั่งบัลลังก์เบอร์ 1 ทำเนียบรัฐบาลแบบครบเทอมหรือแบบครึ่งเทอม ต้องจัดระเบียบตัวเองให้อยู่ในกฎกติกาของประเทศอย่างเคร่งครัด ดึงความเป็นตัวตนที่จัดเจนในเชิงบริหารทางธุรกิจมาปรับใช้ให้เข้ากับการบริหารราชแผ่นดินอย่างลงตัว บริหารแบบตรงไปตรงมา ไม่เลือกปฏิบัติ ศรัทธาก็จะเกิด

  แต่ถ้านายเศรษฐา ยังยึดแนวเดิมเกรงใจสส.ในพรรค เกรงใจเจ้าของพรรคตัวจริงมากเกินไป โอกาสถูกองค์กรสอยร่วงเป็นไปได้สูง เพราะเครดิตที่องค์กรอิสระมีให้นั้นต่ำกว่า พล.อ.ประยุทธ์ อย่างแน่นอน

   ที่สำคัญอย่าลืมองค์กรอิสระเหล่านั้นล้วนเป็นไม้เบื่อไม้เมากับพรรคเพื่อไทยและเจ้าของพรรคเพื่อไทย มาโดยตลอด !!!