ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์ 217 คะแนนเห็นชอบให้ร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ โดยการพิจารณาของสนช.นั้น ได้พิจารณาสามวาระทั้งวาระรับหลักการ การพิจารณาเป็นรายมาตรา และให้ความเห็นชอบไปในคราวเดียวกัน โดยขั้นตอนหลังจากนี้ ประธาน สนช. จะส่งร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ให้นายกรัฐมนตรี เพื่อเตรียมนำขึ้นทูลเกล้าฯ ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ มีสาระสำคัญ คือ
มาตรา 3 ที่บัญญัติว่า เพื่อให้การอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ตลอดจนการดูแลการปกครองคณะสงฆ์เป็นไปเพื่อส่งเสริมการเผยแพร่หลักของพระพุทธศาสนาให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และมีการรักษาพระธรรมวินัยของคณะสงฆ์ให้เป็นไปอย่างถูกต้องดีงามโดยเคร่งครัด เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชนทั่วไป
พระมหากษัตริย์คงทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการแต่งตั้ง สถาปนา และถอดถอนสมณศักดิ์ของพระภิกษุในคณะสงฆ์ และแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) ขณะที่ องค์ประกอบของมหาเถรสมาคม ประกอบด้วย สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการอื่นอีกไม่เกิน 20 รูป ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากสมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ หรือพระภิกษุซึ่งมีพรรษาอันสมควรและจริยวัตรในพระธรรมวินัยที่เหมาะสมแก่การปกครองสงฆ์ ซึ่งการแต่งตั้งให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย โดยจะทรงปรึกษาหารือกับสมเด็จพระสังฆราชก่อนก็ได้
สำหรับกรรมการมหาเถรสมาคมซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งคราวละ 2 ปี และอาจะได้รับการแต่งตั้งอีกก็ได้ ส่วนการพ้นจากตำแหน่งนั้นนอกจากพ้นจากตำแหน่งตามวาระการดำรงตำแหน่งแล้ว ยังพ้นจากตำแหน่งเมื่อมรณภาพ พ้นจากความเป็นพระภิกษุ ลาออก พระมหากษัตริย์มีพระบรมราชโองการให้ออก
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ย้ำถึงความจำเป็นในการแก้ไขกฎหมาย ว่า เพื่อให้กรรมการ มส. มาทำหน้าที่ปฏิรูปองค์กรสงฆ์ ซึ่งการแก้ไขดังกล่าวไม่ได้มีการไปแก้ไของค์ประกอบกรรมการ มส. โดยให้มีไม่เกิน 20 รูปเช่นเดิม ซึ่งสมเด็จพระสังฆราช จะเป็นองค์ประธานโดยตำแหน่ง แต่ให้ยกเลิกกรรมการโดยตำแหน่งอื่น ๆ
พร้อมชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนของกฎหมายฉบับเดิมว่า แม้กรรมการมหาเถระสมาคม จะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี แต่โดยหลักสงฆ์ มักจะเกรงใจกัน ทำให้ปฏิบัติหน้าที่ยืดยาวกันมา ไม่มีการปรับเปลี่ยน และอาจอาพาธระหว่างดำรงตำแหน่ง จึงขาดประชุมไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นเวลานานหลาย 10 ปี
ทั้งนี้นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธณะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงสาระสำคัญการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ ว่า เพื่อให้การอุปถัมภ์ และคุ้มครองพระพุทธศาสนา เป็นไปอย่างเรียบร้อย ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภกตามโบราณราชประเพณี จึงสมควรแก้ไขเพิ่มพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ให้การแต่งตั้งกรรมการมหาเถระสมาคม หรือ มส. หรือให้ มส.พ้นจากตำแหน่ง เป็นพระราชอำนาจ และให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งหลักการดังกล่าว จะรวมถึงการแต่งตั้งและถอดถอน เจ้าคณะใหญ่ และเจ้าคณะภาคด้วยตามที่มีพระราชอัธยาศัยเห็นสมควร ทั้งนี้ ให้กรรมการ มส. ชุดปัจจุบัน ปฏิบัติภาระกิจต่อไป จนกว่าจะมีกรรมการ มส. ชุดใหม่ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มาปฏิบัติหน้าที่ต่อไป