ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB ผนึกพันธมิตรทางธุรกิจ บริษัท สวัสดีช้อป จำกัด ฟินเทคผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม DeeMoney (ดีมันนี่) แพลตฟอร์มด้านธุรกรรมข้ามพรมแดนสัญชาติไทยที่รองรับมากกว่า 26 สกุลเงิน ครอบคลุมกว่า 50 ประเทศทั่วประเทศ สนับสนุนระบบบริการโอนเงินระหว่างประเทศ (Money Transfer Operators) เพื่ออำนวยความสะดวกชาวเมียนมาที่ทำงานและประกอบธุรกิจในประเทศไทยกว่า 2 ล้านราย ให้โอนเงินกลับประเทศได้อย่างสะดวก รวดเร็ว รับเงินทันที
นายธนวัฒน์ กิตติสุวรรณ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Digital Juristic ธนาคาร ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ภาพรวมการโอนเงินระหว่างประเทศของธุรกิจธนาคารในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 มีทิศทางที่ดีขึ้นแสดงถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าต่างประเทศโดยรวม ขณะเดียวกันธุรกรรมการเงินในโลกไร้พรมแดนได้ขยายไปยังกลุ่มลูกค้าที่กว้างขวาง และในประเทศใหม่ๆ มากยิ่งขึ้น จึงทําให้ตลาดมีความต้องการในการโอนเงินในหลากหลายรูปแบบ เพื่อตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนไปโดยเฉพาะลูกค้าบุคคลธรรมดาและกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กถึงขนาดกลางที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนที่คล่องตัว และรวดเร็วกว่าการโอนเงินแบบเดิม ธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งมุ่งให้บริการไร้รอยต่อในทุกช่องทางด้วยการนําเสนอโซลูชั่นทางการเงินเพื่อตอบสนองความต้องของลูกค้าในโลกปัจจุบันให้ได้อย่างไร้ขีดจํากัด ธนาคารจึงร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ DeeMoney ฟินเทคที่มีความเชี่ยวชาญการให้บริการโอนเงินระหว่างประเทศและครอบคลุมเครือข่ายที่กว้างขวางนําเสนอบริการการโอนเงินระหว่างประเทศรูปแบบใหม่ผ่าน แอปพลิเคชัน DeeMoney ให้แก่กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบธุรกิจเมียนมาในประเทศไทยที่มีบัญชีกับ ธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการโอนเงินกลับประเทศที่รวดเร็ว ปลอดภัย และ ค่าธรรมเนียมที่ดีที่สุด
“ปัจจุบันกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบธุรกิจเมียนมาในประเทศไทยมีบัญชีเงินฝากกับธนาคารไทยพาณิชย์จํานวนกว่า 3 แสนบัญชี ซึ่งธนาคารคาดหวังว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยขยายฐานบัญชีและเพิ่มโอกาสในการนําเสนอบริการทางการเงินอื่นๆ ให้แก่ชาวเมียนมาในประเทศไทย นอกจากนี้ความร่วมมือครั้งนี้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของไทยพาณิชย์ในการเป็นศูนย์กลางการโอนเงินในภูมิภาคอาเซียน และแสดงถึงความสําเร็จครั้งสําคัญในภาคฟินเทคและการธนาคาร ซึ่งนําไปสู่ยุคใหม่ของบริการโอนเงินข้ามพรมแดนด้วยการโอนเงินทั่วโลกที่ราบรื่นและขับเคลื่อนการเข้าถึงบริการทางการเงินในประเทศไทย และประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยอนาคตธนาคารมีแผนต่อยอดความร่วมมือดังกล่าวกับ DeeMoney เพื่อให้บริการแก่กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบธุรกิจเพื่อนบ้านที่อยู่ในประเทศไทย” นายธนวัฒน์ กล่าว
นายอัศวิน พละพงศ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง DeeMoney กล่าวว่า บริษัท สวัสดีช้อป จำกัด ฟินเทคผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม DeeMoney (ดีมันนี่) แพลตฟอร์มด้านธุรกรรมข้ามพรมแดนสัญชาติไทย รองรับกว่า 26 สกุลเงิน ครอบคลุมกว่า 50 ประเทศทั่วโลก ผนึกพันธมิตรทางธุรกิจกับ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB ประกาศความร่วมมือสนับสนุนระบบบริการโอนเงินระหว่างประเทศ (Money Transfer Operators) จากประเทศไทยไปยังประเทศเมียนมา มุ่งเน้นการพัฒนาบริการโอนเงินข้ามประเทศให้เป็นเรื่องง่าย สะดวก รวดเร็ว พร้อมให้อัตราแลกเปลี่ยนที่ดีกว่าตลาด เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับแรงงานชาวเมียนมา กว่า 2 ล้านราย รวมไปถึงผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง(SMEs) ที่ต้องการโอนเงินไป
ยังประเทศเมียนมา โดยตั้งเป้าที่จะเป็นตัวเลือกแรกของชาวเมียนมาโดยมีผู้ใช้งานประจำ (Active user) ไม่น้อยกว่า 150,000 คน และมีมูลค่าการทำธุรกรรมมากกว่า 2 พันล้านบาท ในสิ้นปี 2567
จากการสำรวจของ DeeMoney ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา พบว่า กว่าร้อยละ 94 ของแรงงานชาวเมียนมา มีการโอนเงินกลับประเทศผ่านตัวแทนโอนเงินนอกระบบ (Hundi) โดยบางส่วนนำเงินกลับประเทศด้วยตนเองหรือผ่านคนรู้จัก และมีเพียงส่วนน้อยที่ใช้การโอนเงินผ่านระบบธนาคาร ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการที่ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างเต็มที่ (Unbanked) รวมไปถึงอัตราแลกเปลี่ยนในระบบการเงินปกติก็มีอัตราที่สูงกว่าบริการนอกระบบ (Hundi)
ผลสำรวจดังกล่าว จึงนำไปสู่การพัฒนาความร่วมมือระหว่างสองยักษ์ใหญ่ DeeMoney และ SCB ในการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนไทยบาทและเมียนมาจ๊าดโดยตรง ส่งผลให้ DeeMoney กลายเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการที่เสนออัตราแลกเปลี่ยนที่ดีที่สุดในการโอนเงินจากประเทศไทยไปยังประเทศเมียนมา โดยความร่วมมือดังกล่าวข้างต้นได้รับอนุญาตจากธนาคารกลางทั้งสองประเทศ กล่าวคือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (Bank of Thailand) และธนาคารกลางเมียนมา (Central Bank of Myanmar) อีกด้วย
ในส่วนของประเทศปลายทาง DeeMoney มุ่งมั่นที่จะขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมมากที่สุด เพื่อให้ลูกค้าสามารถโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารชั้นนำในประเทศเมียนมา อาทิเช่น A Bank, Aya Bank, CB bank, KBZ bank, Yoma bank และอีกมากกว่า 20 ธนาคาร นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายในการเปิดให้บริการโอนเงินเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) ที่มีกลุ่มผู้ใช้งานจำนวนมาก ได้แก่ WAVEPAY หรือ Wave Money, A+ Wallet และ AYA Pay เป็นต้น โดยที่เป้าหมายบัญชีปลายทางที่จะพร้อมรับเงินนั้น มีมากกว่า 8 ล้านบัญชี อีกทั้งผู้รับเงินยังสามารถเบิกถอนเงินสด (Cash-out) ได้ที่สาขาของธนาคาร ตู้ ATM และจุดให้บริการต่างๆ กว่า 130,000 จุดทั่วประเทศ
DeeMoney ให้ความมั่นใจว่าเงินที่ลูกค้าโอนจะสามารถถึงมือผู้รับได้ทันที หากเลือกที่จะโอนเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) ในขณะที่การโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารก็ใช้เวลาแค่เพียง 1 วันทำการเท่านั้น ทั้งนี้มูลค่าธุรกรรมสูงสุดที่ผู้โอนสามารถทำได้คือ ไม่เกิน 5 หมื่นบาทต่อรายการ
นายอัศวิน กล่าวว่า “DeeMoney และ SCB เป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่ดีต่อกัน ซึ่งเล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาบริการทางการเงินให้แก่ชาวเมียนมาที่มาพํานักและทํางานในประเทศไทยกว่า 2 ล้านราย ที่มีความต้องการส่งเงินกลับประเทศคิดเป็นมูลค่ากว่า 1.33 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี หรือราว 48,000 ล้านบาทต่อปี ให้สามารถทำการโอนเงินได้ด้วยตนเองผ่านแอปพลิเคชันของ DeeMoney ที่มีความปลอดภัยสูงแทนการโอนเงินแบบพึ่งพานายหน้าอย่างที่ผ่านมา โดยผู้ใช้งานสามารถทำรายการได้ทุกที่ทุกเวลา อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ผ่านแอปพลิเคชัน DeeMoney ด้วยค่าธรรมเนียมคงที่ (Flat Fee) เพียงรายการละ 49 บาท รวมถึงมีแอปพลิเคชัน และคอลเซนเตอร์ให้บริการในภาษาเมียนมาทุกวันอีกด้วย”
“ทั้งนี้ ปรากฎการณ์ความร่วมมือระหว่าง DeeMoney และ SCB รวมถึงธนาคารพันธมิตรในประเทศเมียนมา จะนำไปสู่ความร่วมมือในการพัฒนาระบบนิเวศการโอนเงินข้ามประเทศ (Cross-border remittance ecosystem) ที่สำคัญระหว่างประเทศไทยและประเทศเมียนมาในอนาคต”