“วราวุธ” รมว.พม. ทดลองนั่งวีลแชร์ – ปิดตาเดินใช้ไม้เท้า ย่านใจกลางกรุง รับรู้ความรู้สึกคนพิการ พร้อมดึงทุกส่วนราชการพัฒนาอารยสถาปัตย์
วันที่ 31 ตุลาคม 2566 เวลา 14.00 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ลงพื้นที่สำรวจอารยสถาปัตย์ (Universal Design) เพื่อรับรู้ความรู้สึกของคนพิการด้วยการทดลองนั่งรถเข็นวีลแชร์ และทดลองปิดตาเดิน โดยใช้ไม้เท้าแบบคนตาบอด โดยเริ่มสำรวจตั้งแต่บริเวณด้านหน้าห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน และขึ้นลิฟต์คนพิการ เพื่อใช้บริการรถไฟฟ้า BTS จากสถานี สยาม ด้วยการทดลองนั่งรถเข็นวีลแชร์ ไปยังสถานี ชิดลม จากนั้น ได้สำรวจอารยสถาปัตย์ด้วยการทดลองปิดตาเดินโดยใช้ไม้เท้าแบบคนตาบอด ตั้งแต่บริเวณแยกราชประสงค์ ไปจนถึงด้านหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัล เวิลด์ ทั้งนี้ นายกันตพงศ์ รังษีสว่าง รองปลัดกระทรวง พม. นายกฤษนะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล และนายเอกกมล แพทยานันท์ นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย รวมทั้งเครือข่ายฑูตอารยสถาปัตย์ ขจัดความเหลื่อมล้ำในสังคม ส่งเสริมสิทธิผู้พิการ-มนุษย์ล้อ และการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล ร่วมลงพื้นที่
นายวราวุธ กล่าวว่า วันนี้ในนามของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นอกจากที่เราจะรู้เรื่องภารกิจของกระทรวงแล้ว ตนคิดว่าหัวใจสำคัญต้องรู้สึกด้วยเช่นกัน ไม่ใช่เพียงแค่มีองค์ความรู้ว่าการทำงานกับคนพิการไม่ว่าจะเป็นทางร่างกาย หรือตาบอด หรือหูหนวก การที่มาลงพื้นที่ในวันนี้มาเพื่อหาความรู้สึกว่าการที่เราจะนั่งอยู่บนรถเข็นวีลแชร์ แล้วจะไปตามสถานที่ต่างๆ นั้น โดยเฉพาะอยู่ที่บริเวณใจกลางกรุงเทพมหานคร ที่เราคิดว่าควรจะต้องมีทุกอย่างสำหรับคนพิการ โดยได้ทดลองนั่งอยู่บนรถเข็นวีลแชร์ด้วยตนเอง ซึ่งสิ่งที่ตนได้พบนั้น ถ้าเทียบกับสิ่งที่คนพิการได้เจอ ยังน้อยมาก โดยวันนี้ นอกจากทดลองนั่งอยู่บนรถเข็นวีลแชร์แล้ว ตนยังได้ปิดตาและใช้ไม้เท้าของคนตาบอดทดลองเดินบนทางเดินฟุตบาทของถนนเมืองไทย ซึ่งมีความท้าทายมาก ได้ใช้ไม้เท้าขึ้นและลงบันไดที่มีความท้าทายมากขึ้น และหลุมเล็กๆ ที่อยู่บนทางเท้าก็เกือบทำให้ตนล้มหน้าคว่ำคารถเข็นวีลแชร์ แต่โชคยังดีพอรถเข็นวีลแชร์คว่ำแล้ว ตนยังสามารถลุกขึ้นมายืนอยู่ได้ แต่สำหรับคนพิการที่ไม่สามารถลุกได้นั้น อาจจะเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาแน่นอน
นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า วันนี้ ตนจึงอยากมาสัมผัสความรู้สึกว่าคนพิการรู้สึกอย่างไรว่าการนั่งรถเข็นวีลแชร์จะไปยังสถานที่ต่างๆ สะดวกแค่ไหน มีปัญหาอย่างไร ลำบากอย่างไร ต้องใช้เวลาหมดไปกับการเดินทางแค่ไหน วันนี้ ได้มีโอกาสมาเรียนรู้ ซึ่งต้องขอขอบคุณเครือข่ายคนพิการที่ร่วมลงพื้นที่ผจญภัย ทั้งนี้อยากให้นึกภาพตามว่าทุกครั้งที่คนพิการก้าวขาออกจากบ้านคือการผจญภัย ไม่ว่าจะเป็นคนพิการประเภทใดก็ตาม เป็นการผจญภัยที่ไม่รู้ว่าจะเกิดอุบัติเหตุอะไรขึ้น ดังนั้น วันนี้ตนในฐานะ รมว.พม. จึงอยากจะมาให้เห็น ให้ได้พิสูจน์อละรู้สึกกับตัวเอง เพื่อจะได้นำข้อมูลเหล่านี้ไปแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องคนพิการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางลาดและความเรียบของถนนที่เดินหรือว่าเส้นทางที่ใช้สัญจรนั้น เป็นหัวใจสำคัญมากสำหรับพี่น้องคนพิการ ซึ่งทางเท้าที่เดินในวันนี้ยังไม่มีปัญหาเยอะ เดินลงถนนยังมีทางลาด บางพื้นที่เชื่อว่าความต่างกันระหว่างฟุตบาทกับถนน และยังมีร่องถนน ที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุสำหรับคนพิการ ซึ่งวันนี้ จะนำไปเป็นการบ้านให้กับข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวง พม. ไม่ใช่แค่กรมใดกรมหนึ่ง แต่ทุกกรมต้องทำงานร่วมกัน เพื่อให้การใช้ชีวิตของคนพิการมีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นเพราะคนพิการไม่ใช่คนด้อยโอกาส สำหรับการลงพื้นที่สำรวจอารยสถาปัตย์ในใจกลางกรุงเทพมหานครแล้ว จะมีการลงพื้นที่ต่างจังหวัด โดยจะเริ่มที่จังหวัดราชบุรี เพื่อไปสำรวจสถานที่ท่องเที่ยวว่ามีการอำนวยความสะดวกให้กับคนพิการมากน้อยเพียงใค