พลันที่ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล นั่งตำแหน่ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.)เต็มตัว มีกรณีที่เกี่ยวพันในเชิงบริหารองค์กรเชื่อมโยงกัน 3 เรื่อง
ประเด็นแรก พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ มีคำสั่งตร.ที่ 0009.231/3920 ลงวันที่ 4 ตุลาคม ถึงผู้บัญชาการ(ผบช.) จเรตำรวจ(จตร.)หรือตำแหน่งเทียบเท่า เรื่องการคัดเลือกแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ระดับรอง ผบ.ตร. จตช.ถึงระดับผู้บังคับการ(ผบก.)วาระประจำปี 2566 หนังสือระบุว่าเพื่อให้การแต่งตั้งระดับผบช. เป็นไปด้วยความเป็นธรรมรอบคอบ สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล ขอให้หน่วยต่างๆตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของข้อมูล ส่งให้ ตร.ภายในวันที่ 6 ตุลาคม 2566
ประเด็นที่ 2 พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กำหนดนโยบายเพื่อขับเคลื่อนองค์กร กำหนดวิสัยทัศน์”เป็นองค์กรปราบปรามอาชญากรรมและบังคับใช้กฎหมายในระดับมาตรฐานสากล ที่ประชาชนเชื่อมั่นศรัทธา”โดยเน้นหนัก 4 เรื่องเร่งด่วนต้องทำทันที คือการแก้ปัญหายาเสพติด การดูแลนักท่องเที่ยว การปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และการดูแลสวัสดิการและขวัญกำลังใจตำรวจ
โดยกำหนดแผนปฏิบัติการเร่งรัด หรือ Quick Win 5 ด้าน ทำสิ่งที่สามารถทำได้รวดเร็ว สร้างผลลัพธ์เป็นรูปธรรม ภายใต้แนวคิด Police’s Home ประกอบด้วยบุคลากร ระบบ สวัสดิการ ความสามัคคีความเป็นธรรมและช่องทางสื่อสารในองค์กร และการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้ประชาชนเชื่อมั่นศรัทธา อาทิ
การคืนเวลาให้ตำรวจ ด้วยการลดภาระของพนักงานสอบสวนและลดแบบฟอร์มที่ไม่จำเป็น ลดเวลาประชุมให้ตำรวจไปดูแลประชาชน ลดความซ้ำซ้อนการรายงานเหตุกว่า 20 หน่วย ให้เหลือเพียงหน่วยเดียว
คืนตำรวจให้ประชาชน ยกเลิกคำสั่งช่วยราชการให้กลับไปปฏิบัติหน้าที่เดิม ให้ความสำคัญกับโรงพัก การสั่งช่วยราชการต้องมีความจำเป็นและเกิดประโยชน์ ต่อทางราชการ สวัสดิการตำรวจ ลดภาระค่าใช้จ่ายตำรวจจบใหม่ ให้ผู้กำกับการหัวหน้าโรงพัก ตรวจสอบผู้หมดสิทธิ์อาศัยในอาคารบ้านพัก และยังไม่ย้ายออก ให้รายงานภายใน 30 วัน เร่งรัดให้ย้ายออกแล้วรายงานความคืบหน้าทุกเดือน
ความเป็นธรรม ความสามัคคีธรรมและสร้างช่องทางการสื่อสารให้องค์กร สร้างการสื่อสาร 2 ทาง ให้ตำรวจที่อาจได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม สามารถร้องเรียน แจ้งเบาะแสข้อคิดเห็นผ่านแอพพลิเคชั่นแทนใจ จะมีทีมงาน ผบ.ตร.ตรวจสอบตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมเปิดให้ส่งข้อมูลทางตู้ปณ.191 สำหรับผู้ไม่ประสงค์จะออกนาม
ประเด็นที่ 3 นิดาโพล สำรวจเรื่อง”ประชาชนเชื่อมั่นตำรวจแค่ไหน” ชี้คนส่วนใหญ่ไม่เชื่อมั่น การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ อาทิ ร้อยละ 38.09 ไม่ค่อยเชื่อมั่นว่าตำรวจสามารถบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด โปร่งใส่และไม่เลือกปฏิบัติ ร้อยละ 38.78 ค่อนข้างเชื่อมั่นด้านบริการและอำนวยความสะดวก แต่ร้อยละ41.98 ไม่เชื่อว่าองค์กรตำรวจปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง และร้อยละ 41.37 ไม่เชื่อมั่นเลยว่าการแต่งตั้งโยกย้ายจะมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม มีเพียงร้อยละ8.01 เชื่อมั่นว่าแต่งตั้งโยกย้ายเป็นธรรม
ถ้าพิจารณาทั้ง 3 ประเด็น จะเห็นถึงความเชื่อมโยงการบริหารองค์กรตำรวจ
โดยประเด็นที่ 1 พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ให้ผบช.จัดส่งข้อมูลเพื่อใช้พิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายระดับ รอง ผบ.ตร.-ผบก. โดยยึดความเป็นธรรมสอดคล้องกับหลักธรรมาธิบาล โยงกับประเด็นที่ 3 ที่ประชาชนไม่เชื่อมั่นว่าการแต่งตั้งโยกย้ายจะมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม ซึ่งย้อนแยงกับประเด็นที่ 1
ผลโพลพอจะบ่งบอกได้ว่าประชาชนทั่วไปแม้จะไม่ได้อยู่ในองค์กรตำรวจ พอสัมผัสได้ว่าตำรวจต้องวิ่งเต้นหาเส้นสาย วิ่งเข้าหาฝ่ายการเมืองถึงจะได้รับตำแหน่งที่ต้องการหรือสูงขึ้น สะท้อนได้ชัดเจนว่า ผบ.ตร.ทุกยุคไม่กล้าพอที่จะแข็งขืนกับฝ่ายการเมือง จึงไม่แปลกใจที่ชาวสีกากีส่วนใหญ่ไร้ซึ่งศรัทธากับผู้นำที่มุ่งแต่รักษาเก้าอี้ จนขาดภาวะผู้นำ
ทั้งสองประเด็นล้วนแต่เป็นโจทย์ที่ต้องให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ในฐานะผบ.ตร.ป้ายแดง ต้องแก้เพื่อคืนความเป็นธรรมให้ชาวสีกากีพร้อมกู้ศรัทธาคืนจะประชาชนให้ได้ แต่ถ้า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ยังคงยึดแนวทางเดียวกับบรรดาอดีต ผบ.ตร.ทั้งหลาย นโยบายที่สัญญาไว้กับประชาชนและชาวสีกากี จะเป็นเหมือนเซลส์แมนมาขายฝัน
“ดังนั้นถ้าไม่อยากให้นโยบายและแผนปฏิบัติเป็นเพียงแค่การขายฝัน การแต่งตั้งโยกย้ายระดับ รอง ผบ.ตร.-สารวัตร ที่กำลังจะมีขึ้นในเดือนตุลาคม พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ต้องกล้าประกาศจุดยืนว่ายึดตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ 2565 อย่างเคร่งครัด ไร้การเมืองแทรกแซง เมื่อตำรวจได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งโยกย้าย ย่อมเกิดขวัญกำลังใจที่จะสนองนโยบายและแผนปฏิบัติการให้บรรลุเป้าหมายได้ แล้วศรัทธาของประชาชนจะกลับคืนมา”
หากทำได้จริง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ จะเป็น ผบ.ตร.คนแรกในรอบ 9 ปี ที่มีภาวะผู้นำสูง ข้อครหาที่ถูกดูแคลนว่าการขยับสู่ตำแหน่งมากด้วยข้อยกเว้นนั้น จะเลือนหายไปจากความทรงจำของชาวสีกากี ถึงเวลาเกษียณอายุ ตำรวจจะยืนเข้าแถวส่งด้วยความสมัครใจและปลื้มปิติแน่นอน !!! เรามาจับตาดูการแต่งตั้ง ระดับ รอง ผบ.ตร. ถึง ผบช.ในวันที่ 16 ตุลาคม นี้ รวมถึงการแต่งตั้งระดับ รอง ผบช. ถึง ผบก. กันว่าใช้กฏหมายตาม พรบ.ตำรวจป้ายแดง แทน หรือ จะใช้ ข้ออ้าง เหตุยกเว้นคนของตน หรือไม่.?