“เนติบริกร”อ้างกฎหมาย แต่งตั้ง ผบ.ตร.หลงยุค

พ.ร.บ.ตำรวจฯปี 2565 ระบุชัดเจน เน้นอาวุโส บวกความรู้ความสามารถ ยึดหลักธรรมาภิบาล ผู้ใดแอบอ้าง มีโทษหนักถึงจำคุก 5 ปี

“ประดู่แดง”มานั่งครุ่นคิดถึง คำให้สัมภาษณ์ ของเนติบริกร อย่างท่าน รองวิษณุ ยกตัวอย่างการแต่งตั้ง ผบ.ตร.เชิงเปรียบเทียบ พล.ต.อ.สุวิระ ทรงเมตตา อดีต รอง ผบ.ตร.กับ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข อดีตผบ.ตร. โดยกล่าวอ้าง ว่า พล.ต.อ.สุวิระ อาวุโสกว่า แต่ ผบ.ตร.อธิบายเหตุผลได้นั้น เป็นการยกตัวอย่างหลงยุคไม่ตรง เพราะบริบทกฎหมายเปลี่ยนไปต่างยุคกันในครั้งนั้นเป็นการแต่งตั้งตาม พ.ร.บ.ตำรวจฯ 2547 ที่บัญญัติไว้หลวมฯๆ ตาม ม.51(1) และ ม.53(1)

แต่การแต่งตั้ง ผบ.ตร. ครั้งนี้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ตำรวจฯ 2565 ที่บัญญัติไว้ค่อนข้างชัดเจนจำกัดการใช้ดุลยพินิจตาม ม.77(1) และ ม.78(1)เน้นอาวุโส บวกความรู้ความสามารถ โดยเฉพาะประสบการณ์งานสืบสวนสอบสวน หรืองานป้องกันปราบปรามและเจตนารมณ์กฎหมาย
พรบ.ตำรวจฯ 2565 ให้ความสำคัญเกณฑ์อาวุโสที่ปรากฏชัดตาม ม.82 รอง ผบ.ตร.- ผู้ช่วย ผบ.ตร.เรียงอาวุโส 100%, ผบช.- ผบก. เรียงอาวุโส 50%, รอง ผบก.- ส.ว. เรียงอาวุโส 33% ที่สำคัญดูเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ปรากฏตามหมายเหตุ ท้าย พรบ.มีจุดที่สำคัญของ พ.ร.บ.ตำรวจฯ พ.ศ.2565 วรรคท้าย การแอบอ้างอำนาจของบุคคลใดฯมีโทษทางอาญา

ซึ่งราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2565 ระบุไว้ดังนี้ : หมายเหตุ : เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา 258 ง. ด้านกระบวนการยุติธรรม (4) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้ดำเนินการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมให้เกิดผลในการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับหน้าที่ อำนาจ และภารกิจของตำรวจให้เหมาะสมและแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจให้เกิดประสิทธิภาพ มีหลักประกันว่าข้าราชการตำรวจจะได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งและโยกย้าย และการพิจารณาบำเหน็จความชอบตามระบบคุณธรรมที่ชัดเจน

“ซึ่งในการพิจารณาแต่งตั้งและโยกย้ายต้องคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกันเพื่อให้ข้าราชการตำรวจสามารถปฏิบัติหน้าที่ตามวิชาชีพได้อย่างมีอิสระ ไม่ตกอยู่ใต้อาณัติของบุคคลใด มีประสิทธิภาพและภาคภูมิใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตน “

จึงสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยตำรวจแห่งชาติ โดยโอนย้ายภารกิจที่ไม่ใช่ภารกิจหลักออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สามารถปฏิบัติหน้าที่ที่เป็นภารกิจหลักและบริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว แก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจให้เกิดประสิทธิภาพ โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มสายงานต่าง ๆ เพื่อให้ข้าราชการตำรวจในแต่ละกลุ่มสายงานสามารถเจริญเติบโตตามกลุ่มสายงานด้วยความรู้ความชำนาญในสายงานของตน การกำหนดกระบวนการในการแต่งตั้งและเลื่อนตำแหน่งไว้ให้ชัดเจน

โดยคำนึงถึงอาวุโส ความรู้ความสามารถ และความพึงพอใจในบริการที่ประชาชนได้รับ ให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ(ก.พ.ค.ตร.)​ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์เรื่องร้องทุกข์ รวมทั้งการกำหนดระบบคุณธรรมให้เกิดขึ้น เพื่อเป็นที่พึ่งของข้าราชการตำรวจในการปลดเปลื้องทุกข์ของข้าราชการตำรวจที่เกิดจากผู้บังคับบัญชา รวมทั้งให้มีคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ เพื่อเป็นกลไกสำหรับประชาชนในการร้องเรียนการปฏิบัติที่ไม่ชอบของข้าราชการตำรวจอันเป็นการปลดเปลื้องทุกข์ของประชาชนที่เกิดจากการกระทำของตำรวจ ตลอดจนให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในกิจการตำรวจ โดยการให้เงินอุดหนุนแก่สถานีตำรวจเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจในสถานีตำรวจนั้น และจัดตั้งกองทุนเพื่อการสืบสวนสอบสวน การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา เพื่อเป็นแหล่งสนับสนุนค่าใช้จ่าย ในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 87 ข้าราชการตำรวจผู้ใดเห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมในการเรียงลำดับอาวุโสหรือในการแต่งตั้ง ให้มีสิทธิร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค.ตร. ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบคำสั่งแต่งตั้งคำร้องทุกข์ตามวรรคหนึ่ง ให้ ก.พ.ค.ตร. พิจารณาวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องทุกข์คำวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร. ให้เป็นที่สุด เว้นแต่ในกรณีที่ผู้ร้องทุกข์ไม่พอใจในผลการพิจารณาของ ก.พ.ค.ตร. ให้มีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งผลการพิจารณาของ ก.พ.ค.ตร.

ในกรณีที่ ก.พ.ค.ตร. หรือศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยหรือพิพากษาว่าในการเรียงลำดับอาวุโสหรือในการแต่งตั้ง ผู้บังคับบัญชาไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ในการเรียงลำดับอาวุโสหรือการแต่งตั้ง ให้ถือว่าผู้บังคับบัญชากระทำผิดวินัย และให้ผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจพิจารณาลงโทษผู้นั้นตามควรแก่กรณีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจาก ก.พ.ค.ตร. หรือนับแต่วันที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง โดยไม่ต้องดำเนินการสอบสวนอีก แล้วรายงานให้ ก.ตร.ทราบ ในกรณีที่ ก.ตร. มีมติว่าการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นการจงใจเพื่อช่วยเหลือบุคคลหนึ่ง บุคคลใดหรือเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใด ให้ถือว่าผู้บังคับบัญชาผู้นั้นกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงและให้ผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจดำเนินการลงโทษผู้นั้นโดยไม่ต้องดำเนินการสอบสวน

ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด หรือแอบอ้างอำนาจของบุคคลใดหรือเรียก รับ ยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด หรือกระทำการใดอันมิชอบ เพื่อให้มีการแต่งตั้งหรือไม่แต่งตั้งผู้ใดให้ดำรงตำแหน่งใด ไม่ว่าการแต่งตั้งหรือไม่แต่งตั้งนั้นจะชอบด้วยหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัตินี้หรือไม่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี “พ.ร.บ.ตำรวจฯมาตราดังกล่าว ระบุ”

ซึ่งการแต่ง ผบ.ตร.ในครั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ควรกระทำการเสนอ ก.ตร.ให้ความเห็นชอบการเห็นชอบ ก็ต้องอภิปรายทำโดยเปิดเผยเช่นเดียวกับสภาให้ความเห็นชอบเสนอแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีแล้วลงมติเช่นเดียวกันให้เป็นไปหลักธรรมาภิบาล เป็นธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้ โดยในบันทึกประชุม ก.ตร. ต้องชัดเจนว่าใครมี ความเห็นอย่างไร เพื่อไว้เป็นหลักฐาน ถ้าหากมีการฟ้องร้องต่อ ก.ตร.จากบรรดา รองแคนดิเดตจะได้เป็นข้อต่อสู้ ในทางกฎหมายต่อไป

จึงอยากจะขอฝากไปยังท่านประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ นั่นคือนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และบรรดา ก.ตร.ทุกท่านให้อ่านศึกษา พ.ร.บ.ตำรวจฯฉบับใหม่ป้ายแดง ปี 2565 มาตราที่ว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้แตกฉาน อย่าอ่านเพียงฉาบฉวย แล้วหยิบเอามาอ้างเหตุผล จะติดคุก นะจ๊ะ..!!!

RELATED ARTICLES
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img