หน้าแรกกระบวนการยุติธรรม"พล.ต.อ.รอย"กำชับตำรวจทั่วประเทศอำนวยความสะดวกจราจร ปชช.เดินทางหยุดยาว พร้อมสั่งกวดขัน 10 ข้อหาหลักลดอุบัติเหตุ 28 ก.ค. - 2 ส.ค.นี้

“พล.ต.อ.รอย”กำชับตำรวจทั่วประเทศอำนวยความสะดวกจราจร ปชช.เดินทางหยุดยาว พร้อมสั่งกวดขัน 10 ข้อหาหลักลดอุบัติเหตุ 28 ก.ค. – 2 ส.ค.นี้

พล.ต.อ.รอยฯ /ผอ.ศจร.ตร.” กำชับตำรวจทั่วประเทศอำนวยความสะดวกจราจร ปชช.เดินทางหยุดยาว ตามสั่งการ ผบ.ตร. สั่งกวดขัน 10 ข้อหาหลักลดอุบัติเหตุ 28 ก.ค. – 2 ส.ค.นี้ คุมเข้มขายเหล้า ห้ามดื่มสุราบนรถ สกัดเมาขับ กรณีอุบัติเหตุสั่งตรวจแอลกอฮอล์ทุกราย เช็กประวัติเพิ่มโทษ ดำเนินคดีทุกข้อหา เปิด 3 เบอร์ฮอตไลน์ รับแจ้งเหตุ ขอความช่วยเหลือ

วันนี้ (27 กรกฎาคม 2566) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศจร.ตร.) และ พล.ต.ท.ธนา ชูวงศ์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. / รอง ผอ.ศจร.ตร. สั่งการไปยังข้าราชการตำรวจทั่วประเทศ ตามแนวทางในวิทยุราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ที่กำชับการดูแลประชาชนในช่วงวันหยุดราชการติดต่อกัน วันที่ 28 ก.ค.-2 ส.ค.66 ทั้งนี้ ศจร.ตร.กำชับการปฏิบัติในการอำนวยความสะดวกด้านการจราจรแก่พี่น้องประชาชนที่เดินทาง รวมทั้งกำหนดมาตรการการป้องกัน และลดอุบัติเหตุทางถนน


พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. /ผอ.ศจร.ตร. แจ้งว่า ผบ.ตร. ได้สั่งการให้ทุกหน่วยถอดบทเรียนจากเทศกาลสงกรานต์ 2566 ที่ผ่านมา เพิ่มความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมายจราจร 10 ข้อหาหลัก ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของอุบัติเหตุ อาทิ ขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร ขับขี่ขณะเมาสุรา แซงในที่คับขับ ไม่สวมหมวกกันน็อก ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ฯลฯ ในห้วงระหว่างวันที่ 28 กรกฎาคม ถึง 2 สิงหาคม 2566 โดยให้พิจารณาตั้งจุดกวดขันวินัยจราจร จุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ ในบริเวณที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ หรือฝ่าฝืนกฎหมาย โดยให้พิจารณาจากความเหมาะสมจากสถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุในพื้นที่ และไม่ซ้ำซ้อนกันระหว่างหน่วยงาน รวมทั้งจัดชุดเคลื่อนที่เร็วเพื่อบังคับใช้กฎหมาย โดยให้ถือปฏิบัติตามหนังสือสั่งการของ ตร.เกี่ยวกับการตั้งด่านฯ


นอกจากนี้ ผบ.ตร. ยังกำชับให้ ทุกหน่วยเข้มงวดกวดขันบังคับใช้กฎหมายกรณีการจำหน่ายสุรา ห้ามจำหน่ายในห้วงเวลาที่กำหนด ห้ามจำหน่ายให้กับบุคคลที่อายุต่ำกว่า 20 ปี และบุคคลที่มีอาการมึนเมาจนครองสติไม่ได้ ห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางในขณะขับขี่ หรือโดยสารบนรถ พร้อมย้ำแนวทางปฏิบัติ กรณีเกิดอุบัติเหตุรถเฉี่ยวชนที่มีคู่กรณี มีผู้ได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต ให้พนักงานสอบสวนทำการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ทุกราย หากตรวจพบให้ดำเนินคดีให้ครบทุกข้อหา และตรวจสอบประวัติการต้องโทษเพื่อประกอบการบวก หรือเพิ่มโทษแล้วแต่กรณี นอกจากนี้ หากพบว่าผู้ขับขี่ที่เมาสุราอายุต่ำกว่า 20 ปี จะต้องขยายผลดำเนินคดีกับผู้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ และกรณีผู้ขับขี่รถในขณะเมาสุราอายุน้อยกว่า 18 ปี จะต้องมีการขยายผลดำเนินคดีกับบุคคลที่ชักจูงส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควร หรือบุคคลที่จำหน่ายสุราให้กับเด็ก ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ เพื่อให้การป้องกันและลดอุบัติเหตุในห้วงหยุดยาวนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ


ผอ.ศจร.ตร. ยังได้สั่งการให้ตำรวจจราจรทั่วประเทศ พร้อมอำนวยความสะดวกด้านการจราจรให้กับประชาชนที่เดินทางท่องเที่ยวหรือกลับภูมิลำเนา โดยให้พิจารณาเปิดช่องทางเดินพิเศษในเส้นทางที่มีความจำเป็น เช่น มีเหตุฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุ ให้จัดเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรตามจุดต่างๆ ดูแลการจราจรและจัดระเบียบการจอดรถโดยเฉพาะในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ พร้อมกำชับให้ตำรวจทุกหน่วยสำรวจและปรับปรุงเครื่องหมายและสัญญาณจราจรในพื้นที่ ให้มีไฟส่องสว่างที่สามารถใช้งานได้จริง เร่งรัดการคืนผิวจราจรให้มากที่สุด รวมถึงประชาสัมพันธ์เส้นทางที่มีการก่อสร้าง ซ่อมแซม จุดเตือน หรือมีการจราจรหนาแน่น พร้อมเส้นทางเลี่ยง เพื่อลดการจราจรที่ติดขัด ทำให้ประชาชนสามารถเดินทางได้อย่างคล่องตัว


พล.ต.ท.ธนา ชูวงศ์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. / รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศจร.ตร.) ได้กำชับทุกหน่วยในที่ประชุมบริหารงานจราจรประจำเดือน ก.ค.66 ในวันที่ 26 ก.ค.66 ที่ผ่านมาเผยสถิติการเกิดอุบัติเหตุจราจรตั้งแต่ ม.ค.66 – มิ.ย.66 ในระบบฐานข้อมูลอุบัติเหตุทางถนน (PRS) พบว่า 4 อันดับแรก คือ เกิดจากการไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย คือ หมวกนิรภัย/เข็มขัดนิรภัย (13,434 ราย) ขับรถเร็วเกินกำหนด (4,984 ราย) เปลี่ยนเลนหรือเลี้ยวรถระยะกระชั้นชิด (2,271 ราย) และหลับใน (1,119 ราย) จึงขอความร่วมมือจากประชาชน เดินทางด้วยความไม่ประมาท เตรียมพร้อมและสวมใส่หมวก/คาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งที่ขับขี่ ไม่ขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด รวมถึงหยุดพักเมื่อเกิดอาการเหนื่อยหรือง่วง เพื่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่และผู้ร่วมทาง


ด้าน พล.ต.ท.นิธิธร จินตกานนท์ ผู้บัญชาการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานเสริมสร้างภาพลักษณ์ตำรวจจราจร ศจร.ตร. กล่าวย้ำว่า หากเกิดอุบัติเหตุ หรือเหตุฉุกเฉินต้องการความช่วยเหลือ ประชาชนสามารถสอบถาม แจ้งขอความช่วยเหลือ และแจ้งเหตุขัดข้องด้านการจราจร ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ที่
• โทร. 191 จราจรทุก สน./สภ.
• โทร. 1197 สายด่วนตำรวจจราจรในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล
• โทร. 1193 ตำรวจทางหลวงทั่วประเทศ
ในห้วงหยุดยาวนี้ ขอให้ประชาชนทุกท่านขับขี่ด้วยความระมัดระวัง เคารพกฎจราจร มีน้ำใจกับเพื่อนร่วมทาง เดินทางท่องเที่ยว และกลับภูมิลำเนาโดยสวัสดิภาพ ด้วยความห่วงใยจาก ศูนย์บริหารงานจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

#thaitabloid

RELATED ARTICLES
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img