สรุปเวทีสัมมนา สานต่อความสัมพันธ์ไทย-จีน ‘ไพศาล พืชมงคล’ ฟันธงส.ว.สายประชาธิปไตย 75 คนจะโหวตให้พรรคก้าวไกล ชี้ รัฐบาลใหม่พบ‘ขยะใต้พรม’!ต้องรีบแก้ไขด่วน
สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน และ สมาคมวารสารศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ร่วมกันจัดงานเสวนา ภายใต้หัวข้อ “อนาคตประเทศไทย จุดเปลี่ยนที่ท้าทาย” เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2566 โดยมีนักการเมือง และนักวิชาการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเสวนา ซึ่งนายภูวนารถ ณ สงขลา นายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน และนายกสมาคมวารสารศาสตร์ ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า แม้ว่าประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งไปแล้วเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา และผลการเลือกตั้งก็มีความชัดเจนถึงความต้องการของประชาชนที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้น จึงเชื่อว่าทิศทางในอนาคตของประเทศจากนี้ไป จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงทั้งในมิติของเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ดังนั้น ทั้ง 2 สมาคมจึงร่วมมือกันจัดกิจกรรมเสวนาครั้งนี้ขึ้นมา เพื่อสะท้อนภาพให้รัฐบาลในอนาคตได้รับรู้ถึงมุมมองของการเปลี่ยนแปลงที่แต่ละภาคส่วนต้องการที่จะเห็น
ศาสตราจารย์ นพ.กระแส ชนะวงษ์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน กล่าวปาฐกถาว่า ภายหลังจากที่มีการเลือกตั้งแล้ว ยังมีกระบวนการที่ต้องดำเนินการต่อ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีความจำเป็นในการที่ต้องเร่งพัฒนาทั้งในทุกๆด้านๆ โดยเฉพาะในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งการสานต่อความสัมพันธ์ที่ดีให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นกับประเทศจีน ให้สมกับคำว่า ‘ไทย-จีนใช่อื่นไกล พี่น้องกัน’ ถือเป็นความสำคัญอย่างมาก เพราะจีนมีการเติบโต มีพัฒนาการในทุกด้าน และนับวันก็มีบทบาทในระดับโลกเพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญจีนมีการพัฒนาด้านการศึกษา และนวัตกรรมอย่างมาก ซึ่งประเทศไทยควรที่จะสานสัมพันธ์ในเรื่องของการศึกษา และด้านนวัตกรรม เทคโนโลยีจากจีน ขณะเดียวกัน ในแง่ความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา ก็ต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันต่อไป แต่ต้องไม่มีลักษณะให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดรู้สึกว่ามีการเลือกข้าง
น.ส.วทันยา บุนนาค ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมืองกทม. พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ความท้าทายของประเทศไม่ใช่แค่เรื่องการเมืองเท่านั้น แต่มีส่วนสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกับหลายเรื่อง ทั้ง คุณภาพชีวิต คุณภาพของสังคมและกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งในสังคมที่ระบบอุปถัมภ์ยังไม่เสื่อมสลาย หรือคลายตัว วันนี้จึงมีโจทย์สำคัญ คือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ที่ขยายตัวและกดทับเยาวชน ทำให้เกิดคำถามกับสังคม เช่น การปฏิรูปกระบวนการศึกษา ระบบการเรียน รวมถึงภาวะความผันผวนในประเทศไทย ทำให้คนรุ่นใหม่ต้องการความเปลี่ยนแปลงที่สอดคล้องกับอนาคตของตนเอง
“คนรุ่นใหม่ไม่ได้ชังชาติ แต่เขามีจุดหมายเดียวกัน คือ อยากเห็นประเทศไทย เห็นคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะทุกคนเจอภาวะปัญหาที่แตกต่างกัน ทำให้วิธีเรียกร้องต่างกัน ส่วนผู้ใหญ่บางคนกลับมองการเรียกร้องของเด็กคือความก้าวร้าว ปิดกั้นการรับฟังความเห็นโดยไม่มองแก่นของปัญหาที่เกิดขึ้น”น.ส.วทันยา กล่าว
ส่วนประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะ จีนกับอเมริกา น.ส.วทันยา กล่าวว่า โดยส่วนตัวในฐานะนักการเมืองและคนที่อาสามาทำงาน มองว่า ไม่ใช่หน้าที่ของไทยที่จะไปเลือกข้าง แต่ประเทศไทยควรรักษาความสัมพันธ์กับทุกประเทศ โดยมุ่งการรักษาประโยชน์ของคนไทยและประเทศเป็นสำคัญ
นายไพศาล พืชมงคล อดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกฯ กล่าวว่า ในการจัดตั้งรัฐบาลขณะนี้ ยังคงมีความพยายามที่จะตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยแข่งกับเสียงข้างมาก ซึ่งอาจจะสร้างวิกฤตให้ประเทศ ขณะที่ท่าทีของส.ว. ที่มีต่อแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคก้าวไกล นั้น ยังคงมีประเด็นว่าสุดท้าย การตัดสินใจของ ส.ว.จะเป็นอย่างไร แต่ยังเชื่อว่าก่อนที่จะทำหน้าที่ ส.ว.ต้องถวายสัตย์ปฏิญาณว่าจะทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประเทศ ดังนั้นหากส.ว.ยึดมั่นในคำถวายสัตย์ปฏิญาณบ้านเมืองจะผ่านพ้นวิกฤตนี้ได้
“สัญญาณที่เกิดขึ้น ผมทราบว่า ส.ว.ส่วนหนึ่งรู้ชะตากรรม มีอย่างน้อย 75 คนจะโหวตให้พรรคการเมืองที่รวบรวมเสียงข้างมากได้ เพื่อเคารพฉันทามติของประชาชน และเพราะนายพิธามีความชอบธรรมที่จะตั้งรัฐบาล”นายไพศาล กล่าว
ในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นายไพศาล กล่าวว่า ไทยเรามีหลักวิเทโศบายมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 แล้วว่า ประเทศไทยต้องมี 2 หลักด้วยกัน คือ 1.ประเทศไทยจะต้องไม่เป็นศัตรูกับใครในโลกนี้ 2.ไทยต้องเป็นมิตรกับทุกประเทศ ทั้งนี้ จากประวัติศาสตร์ จีนไม่เคยชวนไทยไปรบกับใคร แต่อเมริกาชอบชวนไทยไปรบ ดังนั้น ไทยต้องมีจุดยืนของตนเอง เพราะสหรัฐฯก็มีความสำคัญที่ไทยทิ้งเขาไม่ได้ ทะเลาะกับเขาก็ไม่ได้ แต่ต้องไม่ใช่การยอมอยู่ใต้อาณัติของเขา ดังนั้น การที่ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ไปร่วมลงนามในแถลงการณ์อินโดแปซิฟิก ถือเอาจีนเป็นภัยคุกคามนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง รวมทั้งท่าทีในเรื่องนาโต้ 2 ก็เป็นเรื่องไม่เหมาะสม ถือเป็นการเสียสมดุล จึงเป็นเรื่องผิดพลาดใหญ่หลวงที่รัฐบาลใหม่จะต้องรีบแก้ไข และจำเป็นที่รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ต้องมีความสามารถ จะตั้งรัฐมนตรีที่ผิดพลาดเหมือนที่ผ่านมาไม่ได้อีกแล้ว
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาตร์และนโยบายพรรคเสรีรวมไทย เปิดเผยว่า ช่วง 60 วันหลังการเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องรับรองผลการเลือกตั้ง ส่วนตัวเชื่อว่า กกต. จะไม่ให้ใบเหลือง หรือ ใบแดง จำนวนมาก เพื่อรับรองส.ส.ให้ครบ 95% เพียงพอจะเปิดประชุมสภาฯ ซึ่งหลังรับรองส.ส.แล้ว จะมีข้อสรุปต่อคุณสมบัติของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าและแคนดิเดตนายกฯพรรคก้าวไกล เชื่อว่า กกต. จะวินิจฉัยหลังจากที่รับรองนายพิธา เป็นส.ส.ก่อนที่จะเสนอชื่อให้รัฐสภา เพื่อให้เรื่องนำไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญ หากคำวินิจฉัยผ่าน ด่านที่ต้องเจอ คือ การโหวตเลือกนายกฯ โดยที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งดูบรรยากาศแล้วไม่ค่อยดี การเสนอชื่อ นายพิธา อาจจะโหวตไม่ถึง 376 เสียง แต่ก็ไม่เชื่อว่าจะมีการตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย เพราะมีปัญหาต่อการทำงาน แค่มติร่างกฎหมายงบประมาณไม่ผ่าน รัฐบาลเสียงข้างน้อยก็อยู่ไม่ได้แล้ว
นายสมชัย กล่าวถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ว่า โดยปกติทุกประเทศล้วนต้องมองผลประโยชน์ของประเทศตนเองเป็นหลัก ไม่ว่าอเมริกาหรือจีน ก็มองเช่นนี้เหมือนกัน ดังนั้น ประเทศไทยจะมองเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างไร ก็เห็นว่าคงต้องมองผลประโยชน์ของประเทศไทยเป็นหลักเช่นกัน
ดังนั้น ไทยจึงต้องระมัดระวังไม่ให้ถูกมองหรือถูกตีตราว่าเลือกข้างใดข้างหนึ่ง หรืออย่างกรณีการค้าอาวุธต่างๆ ก็อย่ามองในเรื่องค่านายหน้า หรือรายได้จากการค้าอาวุธเป็นหลัก ส่วนในทางเศรษฐกิจต้องมองทั้งด้านการส่งออกและนำเข้า ที่เป็นประโยชน์กับประเทศ ซึ่งไทยกับจีนน่าจะมีธุรกิจใกล้ชิดกันมากกว่า ดังนั้น โดยสรุปคือ รัฐบาลจากนี้ไปควรมีนโยบายต่างประเทศที่ชาญฉลาด รู้จักสร้างดุลอำนาจเพื่อให้ไทยได้ประโยชน์
นายยิ่งยง นิลเสนา นายกสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย มองอนาคตของประเทศไทยว่า ในด้านเศรษฐกิจและการลงทุน ยังคงมีความท้าทายอยู่อย่างมากสำหรับจุดเปลี่ยนจากนี้ไป เพราะในความเป็นจริงแม้ว่าเศรษฐกิจจะเริ่มมีทิศทางของการฟื้นตัวบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้ฟื้นตัวกลับไปถึงจุดเดิมก่อนที่จะเกิดวิกฤตโควิดจนทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ ดังนั้นรัฐบาลใหม่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในหลายๆเรื่อง เพื่อที่จะสร้างความเชื่อมั่นในทางเศรษฐกิจให้กลับคืนมา
“อย่างเรื่องที่รัฐบาลที่ผ่านมามีนโยบายที่จะเก็บภาษีขายหุ้น ซึ่งตัวเลขคาดการณ์ที่ว่าจะเก็บได้ประมาณหมื่นกว่าล้านบาทนั้น หลายฝ่ายยังมองว่าถึงเวลาจริงๆ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะทำให้มูลค่าการซื้อขายลดลง ซึ่งอาจจะทำให้สุดท้ายแล้วเก็บภาษีขายหุ้นได้แค่ไม่กี่พันล้านบาท ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจะเป็นการได้ไม่คุ้มเสีย ดังนั้นรัฐบาลใหม่ควรจะต้องพิจารณาทบทวนเรื่องนี้ให้รอบคอบ”
นายยิ่งยง มองเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ว่า เนื่องจากไทยเป็นประเทศเล็ก ก็ต้องพยายามที่จะอยู่ตรงกลาง ปัญหาคือ ปัจจุบันจีนกับอเมริกาก็มีเคืองๆกันอยู่ระดับหนึ่ง พอเวลาที่ 2 ขั้วนี้ คิดไม่ตรงกัน แล้วไทยควรจะทำอย่างไร ตรงนี้หลายเรื่องที่ไทยควรมีจุดยืนให้ชัดเจน และเป็นที่ยอมรับได้จากทุกฝ่าย ขณะเดียวกันทิศทางของโลกก็มีความสำคัญ เช่นโลกให้ความสำคัญสภาวะสิ่งแวดล้อม ไทยก็ต้องไม่ทำอะไรที่ทำให้ไปขัดแย้งกับทิศทางนี้ เพราะอาจจะไม่เป็นที่พอใจของขั้วใดขั้วหนึ่งได้ ดังนั้นจึงเห็นด้วยว่าในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น ไทยควรมีรัฐบาลที่ชาญฉลาด
ขณะที่ นายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และอดีตผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย มองว่า อนาคตของประเทศไทยมีจุดเปลี่ยนที่ท้าทายทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เพราะที่ผ่านมาหลายๆเรื่องมีความไม่ชัดเจน มีการปกปิดข้อมูล และมีข้อสงสัยในเรื่องของการเอื้อประโยชน์ และไม่มีการชี้แจงอย่างขณะนี้มีประเด็นเกี่ยวกับเรื่องของการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ก็มีข่าวว่า มีความพยายามจะแก้ไขสัญญาในลักษณะที่เอกชนเป็นฝ่ายได้ประโยชน์ หรืออาจจะถึงขั้นยกเลิกสัญญา โดยเอกชนจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากภาครัฐ ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาใต้พรมที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ในขณะที่เมื่อไปขอดูสัญญาว่าเป็นอย่างไร หน่วยงานรัฐจะไม่ให้ดู ประชาชนไม่ได้เข้าถึงข้อมูล
“เช่นเดียวกับโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง ที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ มีการไปทำสัญญาไว้ แล้วสามารถสร้างได้แค่ 3.5 กิโลเมตร แถมไปอยู่ในกลางป่าซึ่งไม่ใช่จุดที่ควรก่อนสร้าง ผมพยายามที่จะขอสัญญามาดู หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่ยอมให้ดู เช่นเดียวกับเรื่องของสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้า BTS ที่วันนี้ ก็ยังอ้างว่าติดข้อกำหนดเปิดเผยให้ประชาชนดูไม่ได้ ทำให้เกิดปัญหาทั้งเรื่องค่าโดยสารแพง และเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ ไปใช้อำนาจตามมาตรา 44 ให้ BTS วิ่งให้บริการในส่วนต่อขยาย และทำให้เกิดภาระหนี้สินจำนวนหลายหมื่นล้านบาท ที่วันนี้ยังมีกรณีพิพาททวงถามกันอยู่เลย”
นายประภัสร์ กล่าวในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกา ไทย จีน ว่า เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ที่ผ่านมา อย่างกรณีหลังสงครามเวียดนาม เมื่ออเมริกาล่าถอย หากไม่มีจีนยื่นมือเข้ามา ก็ไม่รู้ว่าระหว่างไทยกับเวียดนามจะเป็นอย่างไร เรื่องของประวัติศาสตร์จะสอนให้เรารู้ว่าใครเป็นมิตรที่ดี ใครพึ่งได้ใครพึ่งไม่ได้ ซึ่งวันนี้ ใครก็ดูเหมือนกับเป็นมิตรที่ดีกับเราทั้งนั้น แต่พอถึงเวลาในเรื่องผลประโยชน์ก็ไม่รู้จะอย่างไร ดังนั้น ไทยจึงควรต้องมีจุดยืนของตัวเองที่ชัดเจน ว่าควรจะมั่นใจในฝั่งไหนได้อย่างไรบ้าง ซึ่งมิตรแท้นั้นมีค่า และต้องดูในภาวะคับขันว่าใครคือมิตรแท้ อย่างอเมริกาในยุคทรัมป์ ได้ทำให้เห็นแล้วว่าเขาให้ความสำคัญกับอเมริกาเป็นที่ 1 เขาทำสงครามการค้ากับจีน ใครจะเดือดร้อนเขาก็ไม่ได้สนใจ ดังนั้น ในการที่ไทยจะอยู่ตรงกลาง พูดง่ายแต่ทำจริงๆไม่ง่าย จึงต้องมีจุดยืนที่ชัดเจน และอธิบายได้ รัฐบาลต้องบอกความจริงกับประชาชนว่าทำไมมีจุดยืนแบบนั้น
ด้าน นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ระบุว่า การจัดตั้งรัฐบาลไม่ว่าแบบไหน ประเทศไปได้ เพราะทุกพรรคบริหารงานในภาครัฐ แต่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจคือ เอกชนที่มีความต้องการมั่นคง ราบรื่น ไม่มีความวุ่นวาย ซึ่งมองว่า ขณะนี้ไม่มีความวุ่นวาย สำหรับ ในขั้นตอนหลังเลือกตั้งจะเป็นไปตามขั้นตอนทางกฎหมาย ขณะที่การเสนอนโยบายแก้ไขเรื่องต่างๆ ต้องใช้กระบวนการนิติบัญญัติที่ไม่ง่ายและต้องใช้เวลา โดยเห็นด้วยที่จะถึงเวลาจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เริ่มในขั้นตอนของการทำประชามติ แต่หากตั้ง ส.ส.ร. เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ก็ไม่อยากให้นักการเมืองชี้นำการทำงาน
#สำนักข่าวไทยแทบลอยด์ สื่อออนไลน์ ที่ยึดถือจรรยาบรรณครบถ้วน