ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินพืชเกษตรหลัก ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา และอ้อย สร้างรายได้ให้ประเทศเป็นอย่างมาก แต่รายได้สุทธิต่อครัวเรือนเกษตรกรต่ำ ในขณะที่กลุ่มพืชไม้ผลไม้ยืนต้นและพืชสวนกลับสร้างรายได้สุทธิต่อครัวเรือนเกษตรกรได้มากกว่า แนะเกษตรกรสร้างรายได้จากพืชเศรษฐกิจหลักด้วยการรวมกลุ่มทำเกษตรแปลงใหญ่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนลงได้ นอกจากนี้ ควรพิจารณาจัดสรรทรัพยากรพื้นที่เพาะปลูกไปยังกลุ่มพืชอื่น ๆ ที่สร้างรายได้ต่อครัวเรือนมากขึ้น เพื่อเสริมรายได้เกษตรกรให้ยั่งยืนและดีขึ้นกว่าเดิม
ภาคเกษตรมีความสำคัญกับเศรษฐกิจไทยคิดเป็น 8.8% ต่อจีดีพี สร้างการจ้างงานกว่า 12.2 ล้านคน คิดเป็น 30% ต่อแรงงานรวมทั้งประเทศ อย่างไรก็ตาม ภาคเกษตรในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2555-2565) เติบโตค่อนข้างต่ำมีการขยายตัวเฉลี่ย 0.4% ต่อปีเท่านั้น เมื่อเทียบกับการเติบโตของเศรษฐกิจภาพรวมทั้งประเทศที่ขยายตัวเฉลี่ย 1.9% ต่อปี ดังนั้น โจทย์ใหญ่สำคัญของประเทศคือทำอย่างไรให้ภาคเกษตรสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทยซึ่งเป็นประชาชนฐานใหญ่ของประเทศที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคให้มีรายได้เติบโตมากขึ้นเพื่อยกระดับกำลังซื้อของภูมิภาคให้สูงขึ้น
• ttb analytics ศึกษาโครงสร้างภาคเกษตรไทยในปี 2560-2565 ได้แก่ รายได้ ต้นทุนการผลิตรวม พื้นที่เพาะปลูก จำนวนครัวเรือนเกษตรกร พบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มูลค่ารายได้ภาคเกษตร เฉลี่ยอยู่ที่ 1.04 ล้านล้านบาทต่อปี แบ่งออกเป็นรายได้จากพืชไร่ 52% พืชไม้ผลไม้ยืนต้นและพืชสวน 48% โดยมีจำนวนครัวเรือนเกษตรกรที่ทำการเพาะปลูกจำนวน 9.5 ล้านครัวเรือน แบ่งเป็นพืชไร่ 72% พืชไม้ผลไม้ยืนต้นและพืชสวน 28% แม้ว่ากลุ่มพืชไร่จะสร้างมูลค่ารายได้ภาคเกษตรมากกว่า แต่หากพิจารณารายได้สุทธิของครัวเรือนเกษตร พบว่า กลุ่มพืชไม้ผลไม้ยืนต้นและพืชสวนจะให้รายได้สุทธิมากกว่าพืชไร่ กล่าวคือ กลุ่มพืชไม้ผลไม้ยืนต้นและพืชสวน ได้แก่ เงาะ ทุเรียน มังคุด ลำไย ลิ้นจี่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน กระเทียม หอมแดง และหอมหัวใหญ่ สร้างรายได้สุทธิเฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ 182,921 บาทต่อปี ในขณะที่กลุ่มพืชไร่ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง มันสำปะหลัง สับปะรด และอ้อย รายได้สุทธิเฉลี่ยต่อครัวเรือนเท่ากับ 88,600 บาทต่อปี ชี้ให้เห็นว่าในภาพรวมภาคเกษตรของไทยมีการจัดสรรทรัพยากรที่ดินและแรงงานเน้นไปที่การเพาะปลูกพืชไร่ซึ่งสร้างรายได้ต่อครัวเรือนเกษตรกรที่ค่อนข้างน้อยกว่าพืชอื่น ๆ ที่สร้างรายได้ให้เกษตรกรมากกว่า
มูลค่ารายได้เกษตรกรไทยกระจุกตัวใน 5 พืชเศรษฐกิจของไทย ซึ่งมีการใช้จำนวนพื้นที่เพาะปลูกมาก แต่กลับสร้างรายได้สุทธิต่อครัวเรือนเกษตรกรน้อย เมื่อพิจารณา 5 พืชเศรษฐกิจหลักของไทย ได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และอ้อย พบว่า มูลค่ารายได้คิดเป็น 77% ของรายได้เกษตรกรรวม โดยใช้พื้นที่เพาะปลูกคิดเป็น 88% ของพื้นที่ทำการเพาะปลูกรวมทั้งประเทศและมีครัวเรือนเกษตรกรทำการเพาะปลูกมากถึง 92% จากจำนวนเกษตรกร 9.5 ล้านครัวเรือน อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณารายได้สุทธิต่อครัวเรือนเฉลี่ยต่อปีของ 5 พืชเศรษฐกิจในช่วงปี 2560-2565 พบว่า อยู่ในระดับที่ไม่สูงนักเมื่อเปรียบเทียบกับพืชไม้ผลไม้ยืนต้นและพืชสวน โดยพืชเศรษฐกิจหลักที่ให้รายได้สุทธิเฉลี่ยต่อครัวเรือนเกษตรกรอันดับแรกคือ ปาล์มน้ำมันอยู่ที่ 83,775 บาทต่อปี รองลงมาเป็น ข้าว 18,546 บาทต่อปี มันสำปะหลัง 13,098 บาทต่อปี ยางพารา -28,785 บาทต่อปี และอ้อย -38,676 บาทต่อปี
สาเหตุที่รายได้สุทธิต่อครัวเรือนเกษตรกรของพืชเศรษฐกิจไม่มากนัก เนื่องจากสร้างรายได้สุทธิต่อไร่น้อย นอกจากนี้ ราคาสินค้าเกษตรกลุ่มดังกล่าวยังถูกกำหนดโดยกลไกตลาดซึ่งเป็นไปตามอุปสงค์และอุปทานของตลาดโลกและมีคู่แข่งมาก ทำให้รายได้สุทธิของครัวเรือนเกษตรกรไทยค่อนข้างต่ำและผันผวน ซึ่งแม้ว่าเกษตรกรจะใช้พื้นที่เพาะปลูกมาก แต่ก็สร้างรายได้สุทธิต่อครัวเรือนได้น้อย เป็นเหตุให้ภาครัฐต้องใช้งบประมาณเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรไม่ว่าจะเป็นด้านต้นทุนและการประกันราคาขั้นต่ำเป็นประจำทุกปี
เจาะรายได้สุทธิต่อไร่ของพืชเศรษฐกิจไทยค่อนข้างต่ำ ทำให้รายได้สุทธิต่อครัวเรือนน้อย ทั้งที่ใช้พื้นที่เพาะปลูกมาก ชี้การจัดสรรพื้นที่เพาะปลูกและกำลังแรงงานภาคเกษตรในพืชที่ทำกำไรได้มาก เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทบทวน
• ttb analytics ประเมินรายได้สุทธิต่อไร่ของพืชแต่ละชนิดในช่วงปี 2560-2565 และนำมาเปรียบเทียบการใช้ทรัพยากรที่ดินและแรงงานในการเพาะปลูก พบว่า พืชเศรษฐกิจให้รายได้สุทธิต่อไร่ค่อนข้างต่ำ กล่าวคือ ปาล์มน้ำมัน สร้างรายได้เฉลี่ย 5,315 บาทต่อไร่ มันสำปะหลัง 912 บาทต่อไร่ ข้าว 597 บาทต่อไร่ อ้อย -1,216 บาทต่อไร่ และยางพารา -2,634 บาทต่อไร่ ซึ่งมีครัวเรือนเกษตรกรเพาะปลูกจำนวน 8.38 ล้านครัวเรือน และใช้พื้นที่เพาะปลูกรวมกัน 123.8 ล้านไร่ คิดเป็นพื้นที่เพาะปลูกเฉลี่ย 14.8 ไร่ต่อครัวเรือน ในขณะที่พืชไม้ผลไม้ยืนต้นและพืชสวน ได้แก่ เงาะ ทุเรียน มังคุด ลำไย ลิ้นจี่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน กระเทียม หอมแดง และหอมหัวใหญ่ สร้างรายได้สุทธิต่อไร่ได้มากกว่าพืชเศรษฐกิจ โดยมีรายได้สุทธิเฉลี่ยอยู่ที่ 20,841 บาทต่อไร่ มีครัวเรือนเกษตรกรที่เพาะปลูก 1.11 ล้านครัวเรือน และมีการใช้พื้นที่เพาะปลูกรวมกัน 11.46 ล้านไร่ คิดเป็นพื้นที่เพาะปลูกเฉลี่ย 10.2 ไร่ต่อครัวเรือน จะเห็นว่าการเพาะปลูกพืชของไทยยังกระจุกตัวอยู่ใน 5 พืชเศรษฐกิจที่ใช้ทรัพยากรที่ดินและแรงงงานมาก แต่สามารถสร้างรายได้สุทธิต่อไร่ได้น้อย เมื่อเปรียบเทียบกับพืชชนิดอื่น ๆ เป็นสิ่งที่ต้องทบทวนเพื่อการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ อันจะนำไปสู่การสร้างผลประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศและภาคเกษตรให้เติบโตได้มากกว่าเดิม
รายได้สุทธิต่อครัวเรือนเกษตรกรในพืชเศรษฐกิจ แม้จะน้อยแต่ยังไปต่อได้ ทางออกต้องรวมกลุ่มทำเกษตรแปลงใหญ่เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่และลดต้นทุนลง ในขณะที่กลุ่มพืชไม้ผลไม้ยืนต้นและพืชสวน ที่สร้างรายได้สุทธิต่อครัวเรือนเกษตรกรได้มาก ต้องส่งเสริมและสนับสนุนจัดสรรพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น
• ttb analytics แนะการจัดสรรทรัพยากรที่ดินและแรงงานภาคเกษตรอย่างสมดุลจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้ภาคเกษตรไทยเติบโตได้อย่างมีคุณภาพ ดังนี้
▪ พืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และอ้อย ที่สร้างมูลค่ารายได้ให้กับประเทศมาก แต่กลับเป็นกลุ่มพืชที่สร้างรายได้สุทธิต่อไร่ให้เกษตรกรค่อนข้างต่ำ ดังนั้น ภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกรควรร่วมมือกันจัดการตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ กล่าวคือ
- การพัฒนาต้นน้ำในด้านการผลิต เริ่มตั้งแต่การวางแผนการเพาะปลูกอย่างเป็นระบบโดยวิเคราะห์ อุปสงค์และอุปทานของพืชแต่ละประเภท เพื่อจะได้วางแผนการผลิตที่สมดุลไม่มากหรือน้อยเกินไป และสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันทำเกษตรแปลงใหญ่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้มากขึ้นและลดต้นทุนลง ดังจะเห็นได้จากผลประเมินโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ปี 2559 – 2562 โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่พบว่าการรวมกลุ่มของเกษตรกรทำเกษตรแปลงใหญ่สามารถเพิ่มผลผลิตได้ 9.69% และลดต้นทุนได้ 7.16% ซี่งจะทำให้เกษตรกรได้รับกำไรต่อไร่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การรวมกลุ่มกันจะทำให้มีอำนาจต่อรองในการขายและจัดซื้อวัตถุดิบ โดยในส่วนของภาครัฐต้องเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดการพัฒนา ได้แก่ การให้ความรู้การเพาะปลูกที่ถูกต้อง สนับสนุนให้เกษตรกรนำเทคโนโลยีการเกษตรใหม่ (Smart Farming) มาปรับใช้ในการเพาะปลูก และการสนับสนุนงบประมาณช่วยเหลือในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุน
- การพัฒนาปลายน้ำในด้านการตลาด ภาครัฐควรอำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชนสร้างตลาดสินค้าเกษตรอย่างบูรณาการ โดยจัดให้มีจุดรับซื้อที่เป็นราคากลาง สร้างศูนย์จำหน่ายสินค้าเกษตรในพื้นที่นั้น ๆ (Agriculture Distribution Center) แบ่งเกรดสินค้าเกษตรอย่างมีมาตรฐาน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรพัฒนาการเพาะปลูกที่ดีขึ้น รวมถึงภาครัฐควรส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปในพื้นที่ สร้างธุรกิจ SMEs ดำเนินการเป็นโซนอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป เพื่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรของชุมชน ซึ่งจะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่นั้น ๆ การดำเนินการอย่างบูรณาการนี้ จะทำให้พืชเศรษฐกิจหลักมีมูลค่าเพิ่มขึ้นในตนเอง ซึ่งจะไม่เป็นภาระด้านงบประมาณยามที่ราคาตลาดโลกตกลง
▪ พืชไม้ผลไม้ยืนต้นและพืชสวนเป็นกลุ่มพืชที่สร้างรายได้สุทธิต่อไร่ต่อครัวเรือนเกษตรกรสูง แต่มีครัวเรือนเกษตรกรเพาะปลูกไม่มากและใช้พื้นที่เพาะปลูกน้อย ดังนั้น เกษตรกรที่ปลูกพืชเศรษฐกิจควรพิจารณาจัดสรรพื้นที่เพาะปลูกบางส่วนมาทำการเพาะปลูกพืชดังกล่าว เพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งจะช่วยเสริมรายได้ให้เกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง ในส่วนของภาครัฐควรสนับสนุนให้ความรู้เกษตรกรในการเพาะปลูกพืชกลุ่มนี้ รวมถึงจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาทรัพยากรแหล่งน้ำกระจายออกไปให้ทั่วถึงตามพื้นที่ที่มีศักยภาพ สร้างความร่วมมือกันทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร
จากปัจจัยต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น จะส่งผลทำให้ภาคเกษตรไทยไปได้ไกลกว่าเดิม ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจภูมิภาคเข้มแข็ง สามารถมีรายได้เลี้ยงตนเองได้อย่างยั่งยืน