เลขาธิการ ป.ป.ส. ชื่นชมเมียนมา หลังทำลายโรงงานผลิตเฮโรอีน ชี้ผลจากการประชุม 6 ประเทศแม่น้ำโขง
วันที่ 15 เมษายน 2566 นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) เปิดเผยว่า ผลจากการเข้าร่วมประชุมสรุปผลการดำเนินงานของศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขงปลอดภัย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และหารือเกี่ยวกับการพิจารณารับร่างแผนแม่น้ำโขงปลอดภัย เพื่อการควบคุมยาเสพติด 6 ประเทศ ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2566 – 2570) โดยมีผู้แทนจาก 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย กัมพูชา จีน ลาว เมียนมา และเวียดนาม เข้าร่วมประชุม ในระหว่างวันที่ 5 – 7 เม.ย 2566 ที่ผ่านมานั้น
เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า สำนักงาน ป.ป.ส. โดยศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขงปลอดภัย (Safe Mekong Coordination Centre : SMCC) ได้เสนอแผนความร่วมมือให้ทั้ง 6 ประเทศ ลดปัญหายาเสพติดในภูมิภาคด้วยการผนึกกำลังร่วมกัน โดยมีมาตรการสำคัญ คือ การลดศักยภาพการผลิตยาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ โดยมุ่งเน้นมาตรการในการสกัดกั้นปราบปรามยาเสพติด การควบคุมสารตั้งต้นเคมีภัณฑ์ และอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิต
ยาเสพติด รวมถึงการร่วมกันสืบสวนขยายผลจับกุมกลุ่มผู้ค้าสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ และเครือข่ายการค้ายาเสพติด ไม่ให้กระจายไปยังประเทศต่าง ๆ โดยประสานข้อมูลการข่าว และปฏิบัติการในประเทศตนเองอย่างเคร่งครัด
นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส. เผยว่า ผลจากการประชุมได้ทำให้แต่ละประเทศตื่นตัวเพิ่มมากขึ้น และพร้อมที่จะดำเนินมาตรการตามแผนปฎิบัติการร่วมกัน โดยเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2566 ทางการเมียนมาได้รับรายงานว่ามีโรงงานผลิตยาเสพติดในบริเวณหมู่บ้านห่างจากเมืองน้ำคำรัฐฉาน ไปทางตะวันตกประมาณ 6.7 กม. เจ้าหน้าที่เมียนมาได้เข้าตรวจสอบพบเพิงพักชั่วคราวที่ประกอบขึ้นเป็นโรงงานจำนวน 4 แห่ง ซึ่งเชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตเฮโรอีน และสามารถตรวจยึดฝิ่นสกัดจำนวน 60 ลิตร พร้อมสารตั้งต้นเคมีภัณฑ์ ได้แก่ เอทิลอีเทอร์(Ethyl Ether) จำนวน 80 ลิตร เบนซีน (BenZene) จำนวน 60 ลิตร โซเดียมคาร์บอเนต จำนวน 3 กก. โซเดียมไนเตรท จำนวน 4 กก. และโพรเทสเซียม 15 กก. พร้อมอุปกรณ์การผลิต โดยขณะนี้อยู่ระหว่างประสานข้อมูลการข่าวกับประเทศรอบข้างรวมทั้งประเทศไทยเพื่อขยายผลต่อไป เนื่องจากเมืองน้ำคำ ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว อยู่ติดชายแดนประเทศจีน และห้ามคนต่างชาติ
เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวชื่นชมเมียนมาที่พร้อมปฏิบัติการผนึกกำลังอย่างรวดเร็ว เพื่อลดปัญหายาเสพติดร่วมกัน ภายใต้ความร่วมมือจากประเทศแม่น้ำโขงโดยเฉพาะเมียนมาถือว่ามีความสำคัญต่อสถานการณ์ยาเสพติดของโลก โดยประเทศเมียนมาเป็นประเทศที่ได้รับผล
กระทบจากกลุ่มชาติพันธ์ุที่บางรายผันตัวไปเป็นผู้ผลิตยาเสพติด การจับกุมทำลายโรงงานผลิตยาเสพติดอย่างต่อเนื่อง เช่นนี้จึงถือว่าเป็นสัญญาณอันดีของสถานการณ์ยาเสพติดในพื้นที่แม่น้ำโขงและทั่วโลก ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีความร่วมมือระหว่างประเทศกับนานาชาติ โดยสถิติความร่วมมือระหว่าง ประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.65 – 14 เม.ย.66 สามารถจับผู้ต้องหาได้ 711 คน จาก 415 คดี โดยเป็นยาบ้า 242 ล้านเม็ด ไอซ์ 15,878 กิโลกรัม กัญชา 5,313 กก. เฮโรอีน 145 กก. คีตามีน 3,304 กก. เอ็กซ์ตาซี 1,308,323 เม็ด กาเฟอีน 15,237 กก. และเคมีภัณฑ์ 126,370 กก.