ตลาดทุนจับจ้องมาที่ธนาคารเครดิต สวิส (Credit Suisse) หลังราคาหุ้นร่วงหนัก คนพร้อมแห่ถอนเงิน นักลงทุนในตราสารหนี้ห่วงธนาคารจะผิดนัดชำระหนี้ ค่าประกันความเสี่ยง หรือ Credit Default Swap พุ่งขึ้นสูง เกิดอะไรขึ้น
ตัวแปรสำคัญคือข่าวผู้ถือหุ้นรายใหญ่อย่าง Saudi National Bank ออกมาบอกว่าจะไม่ถือหุ้นเครดิต สวิสมากไปกว่านี้ หรือไม่เกิน 10% เพราะไม่อยากทำตามกฎระเบียบ ของยุโรป แต่นักลงทุนน่าจะคิดว่ามีอะไรผิดคาด คนขาดความไว้ใจ จึงเกิดภาวะแตกตื่นอย่างที่เห็น
จริงๆ แล้วเครดิต สวิสเป็นธนาคารที่มีชื่อเสียงมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในธุรกรรมด้านการบริหาร ความมั่งคั่งให้ลูกค้า แต่ที่ผ่านมาก็พบว่ามีข่าวในด้านลบหลายครั้ง ทั้งข่าวลือ การทำผิดกฎระเบียบ ถูกปรับฟ้องร้อง และการเปลี่ยนผู้บริหารบ่อย จึงมีผลให้ฐานะทางการเงิน ของธนาคารอ่อนแอลง แต่ธนาคารต้องหาทุนมาเพิ่มเพื่อรักษาระดับกองทุนของผู้ถือหุ้น เพราะธนาคารนี้จะได้รับการจัดประเภทเป็น Systemically Important Financial Institution (SIFI) พูดง่ายๆ คือหากล้มจะลามไปกระทบเศรษฐกิจ มาก จึงต้องดูแลฐานะการเงินเป็นพิเศษ (เรียกว่าต้องมีทุนมากกว่าแบงก์อื่น)
• แล้วรัฐจะอุ้มไหม
ธนาคารนี้ใหญ่เกินกว่าจะปล่อยให้ล้มได้ ล่าสุดธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ มาอัดฉีดเงินเพิ่มสภาพคล่องให้เครดิต สวิส แต่จะอุ้มด้วยเงินภาษีประชาชนคงไม่ได้นาน น่าเป็นการอุ้มคนฝากเงิน หรือประคองด้านความเชื่อมั่น ไม่ให้ราคาร่วงไปกว่านี้ แต่น่าหาใครมาลงขันซื้อหุ้นไปในราคาถูก เรียกว่าเป็นตัวแทนขายดีกว่ารัฐซื้อเอง สินทรัพย์ ยังมีคุณภาพดี โอกาสเติบโตในธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง ก็ดี เพียงแต่อาจเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร และที่สำคัญ ให้ราคาที่น่าสนใจ แต่ทำตอนนี้ ในภาวะตลาดแบบนี้คงไม่ง่าย ที่เป็นไปได้มากที่สุดคือตัดส่วน Investment Banking ขาย เอาเงินไปรักษาระดับทุน
• กลไกรัฐบาลเหมือนสหรัฐไหม
ไม่ เครดิต สวิสไม่ใช่ SVB และยุโรปไม่ใช่สหรัฐ ปัญหาเกิดแน่หากล้ม เพราะลำพังสวิตเซอร์แลนด์ คงไม่อาจอุ้มได้ และอาจกระทบความเชื่อมั่น ของประเทศ อย่าลืมว่าสวิตเซอร์แลนด์ ไม่อยู่ในยูโรโซน มีเงินตัวเอง แต่ก็เสี่ยงผันผวน จะออกเงินมหาศาลมาค้ำก็ยาก และแบงก์นี้กระจายทั่วโลก จะคุ้มครองอย่างไร
• จะลามไหม
ลาม เพราะใหญ่กว่า SVB และไม่กระจุกในเทค หรือผลจากดอกเบี้ย ขาขึ้น แต่นักลงทุนจะหาโดมิโนตัวต่อไป และมีหลายแบงก์ขนาดใหญ่ในยุโรปที่ไม่แข็งแกร่งหรือมีปัญหาขาดทุนมาก่อนหน้าแล้ว ช่วงนี้เหมือนการล่าแม่มด มองหาว่าใครคือแบงก์ที่จะล้มรายต่อไป
แก้ปัญหาคราวนี้ไม่ง่าย และต้องรีบให้จบโดยเร็ว เพราะหากยืดเยื้อ แบงก์ในยุโรปจะมีปัญหา เรื่อง ความเชื่อมั่น นึกถึงเยอรมนี ที่หากวันหนึ่งต้องเข้ามาอุ้มธนาคารในยุโรปด้วยการอัดฉีดสภาพคล่อง แต่อีกมือก็ขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อปรามเงินเฟ้อ สุดท้าย ต้องทั้งเหยียบเบรกและคันเร่งพร้อมกัน เศรษฐกิจ ยุโรปอาจหมุนแหว่งตกทางได้ นี่ยังไม่พูดถึงปัญหาหนี้สาธารณะ อย่างอิตาลี หรือกรีซ แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลยจะหมุนไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจ เองและลามไปทั่วโลก ผมมองว่าในที่สุดสวิตเซอร์แลนด์ และยุโรปน่าหาทางอัดฉีดเงิน ตั้งกองทุนขึ้นมาพยุงแบงก์ทั้งหลายไม่ให้ล้ม เพราะนี่คือฉนวนวิกฤติความเชื่อมั่นของภาคการเงินทั่วโลก และท้ายสุด ธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB อาจต้องพิจารณาว่าจะขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องได้แค่ไหน แม้เงินเฟ้อยังสูง
เฟดจะหยุดขึ้นดอกเบี้ยเลยหรือไม่ รอลุ้นวันที่ 23 มีนาคม กัน หากเฟดหยุดขึ้นดอกเบี้ย หรือไปลดดอกเบี้ยแรงเพื่อเป็นการกันความเสี่ยงไม่ให้เกิดปัญหารุนแรงแล้วละก็ ตลาดทุนคงชอบ แต่อย่าลืมว่าเงินเฟ้อยังสูง หากเฟดกลับทิศ มาลดดอกเบี้ย เงินเฟ้ออาจเด้งต่อ หรือหาก ECB ลดดอกเบี้ยด้วย คราวนี้อาจเกิดภาวะ Stagflation น่ากลัวกันเลย แต่ก็พออัดฉีดสภาพคล่อง เติมเงินเข้าระบบ ป้องกันปัญหาขาดสภาพคล่อง ในภาคธุรกิจ ป้องกันไม่ให้เกิดการล้มละลาย รอดูว่าธนาคารกลางจะเลือกแบบใด ขึ้นดอกเบี้ยต่อเพื่อเอาชนะเงินเฟ้อ หรือลดดอกเบี้ยช่วยเศรษฐกิจ
• ผลกระทบต่อไทย
นักลงทุนน่าเทขายสินทรัพย์ เสี่ยง ต่อเนื่อง บาทอ่อน (ยูโรอ่อน ดอลลาร์ แข็ง) หรือเฟดจะยอมถอย ดอลลาร์พลิกไปอ่อน บาทแข็ง และน่าลุ้นว่าปัญหานี้จะลามไปใหญ่โต จนกระทบความเสี่ยงเศรษฐกิจ โลก เพียงไร แต่ภาพแบบนี้น่ากระทบกำลังซื้อในต่างประเทศ การส่งออกไทยเสี่ยงติดลบหรือโตช้า ส่วนการท่องเที่ยวยังไม่น่าได้รับผลกระทบมากนัก เพราะใกล้เข้า low season คงต้องจับตาดูอีกระยะว่าจะลามไปถึงปลายปีไหม แต่ตอนนี้ความเสี่ยงสูงขึ้นมาก แบงก์ ชาติ ไทยอาจเลือกคงดอกเบี้ย ไว้ที่ 1.50% ก็ได้ (รอผลประชุมเฟดย้ำอีกที) แต่ในส่วนภาคธนาคาร ของไทยไม่น่าได้รับผลกระทบ เพราะเกณฑ์ ของแบงก์ชาติเข้มงวดมาก และคุณภาพ สินทรัพย์ ของแบงก์ ยังดี และไม่มีวิกฤติ ด้านความเชื่อมั่นเหมือนประเทศอื่น และบทเรียนที่สำคัญในระบบธนาคารคือ การรักษาความน่าเชื่อถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด