หน้าแรกกระบวนการยุติธรรมรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยืนยันไม่มีการดำเนินคดีกับเรือประมงพื้นบ้าน ที่ทำประมงในเขตพื้นที่ทับซ้อนอุทยานฯ

รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยืนยันไม่มีการดำเนินคดีกับเรือประมงพื้นบ้าน ที่ทำประมงในเขตพื้นที่ทับซ้อนอุทยานฯ

เป็นการทำประมงเพื่อการยังชีพ แต่ที่ต้องจับประมงพาณิชย์ 27 ลำ โดยไม่อาจผ่อนผันได้ เพราะเป็นการทำประมงรุกล้ำและใช้เครื่องมือ ที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมรอบพื้นที่ท่องเที่ยว

จากกรณีเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ที่มีเรือประมงพื้นบ้านออกมาชุมนุมประท้วงปิดปากอ่าวจนส่งผลกระทบต่อการนำเรือเข้าออกของเรือท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดสตูล ทำให้มีนักท่องเที่ยวตกค้างจำนวนมาก โดยเรือเหล่านี้ อ้าง เหตุผลของการชุมนุมปิดปากอ่าวว่า กังวลจะถูกดำเนินคดี หลังจากที่ตำรวจได้ร่วมกับกรมอุทยานฯ แจ้งดำเนินคดีกับเรือประมง 27 ลำที่ทำประมงในพื้นที่เขตทับซ้อนก่อนหน้านี้

พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยืนยันว่าการที่ประมงพื้นบ้านออกมาชุมนุมกันเป็นเรื่องของความเข้าใจผิด เพราะแม้ตำรวจ และอุทยาน จะประกาศบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด แต่ตอนนี้ยังไม่มีนโยบายที่จะดำเนินการจับกุมประมงพื้นบ้าน เพราะเข้าใจได้ว่า การทำประมง พื้นบ้าน เป็นการทำประมง เพื่อการยังชีพ และเครื่องมือที่ใช้ ที่ไม่กระทบต่อทรัพยากรชายฝั่ง โดยที่ผ่านมาได้หารือร่วมกันกับทางกรมอุทยานฯ และมีการกำหนดขอบเขตการผ่อนผันทำประมงบางจุดให้ชาวเล เข้าไปหาปลาได้ เพื่อการยังชีพ

โดย จากการสำรวจพบว่า จ.สตูล มีเรือประมงพื้นบ้านขนาดเล็กอยู่ 6,800 กว่าลำ แต่เรือที่ออกมาประท้วงอยู่ในขณะนี้มีอยู่ประมาณ 80 ลำในวันแรกและลดลงมาเหลือ 40 ลำในวันที่สอง

ส่วนสาเหตุที่ต้องจับกุม เรือประมงพาณิชย์ และไม่สามารถผ่อนผันได้ เนื่องจากพื้นที่อุทยานฯ มีความหลากหลายทางชีวภาพ หากปล่อยให้เรือประมงพาณิชย์ เข้ามาลักลอบทำประมง จะสร้างความเสียหาย ทั้งระบบนิเวศน์ และการท่องเที่ยว ไม่ต่างจากปล่อยปละให้มีการสร้างโรงแรม รุกพื้นที่อุทยานฯ

ทั้งนี้ยืนยันว่าการดำเนินคดีกับเรือประมง 27 ลำ จำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมาย อย่างจริงจัง เนื่องจากตรวจสอบ VMS พบว่า เรือประมงเหล่านี้ ทำประมงในเขตหวงห้าม หรือเขตอุทยานและยังใช้เครื่องมือที่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำวัยอ่อนและปะการัง ซึ่งทางกรมอุทยานฯ ได้แจ้งดำเนินคดี กับเรือกลุ่มนี้ไปแล้ว ที่ สน.บางเขน เมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา มีโทษจำคุก 5 ปีและปรับไม่เกิน 500,000 บาท

รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติบอกด้วยว่าขณะนี้ได้สั่งการให้ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสตูลเข้าไปทำความเข้าใจกับตัวแทนของชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่ที่ออกมาชุมนุมปิดปากอ่าว และทำข้อตกลงร่วมกันโดยเร็วที่สุด จะได้ยุติการปิดปากอ่าว ที่กำลังกระทบต่อการท่องเที่ยวทะเลโดยรอบ

ทั้งนี้มีรายงานด้วยว่า อีกสองเดือนข้างหน้าจากนี้ไปทาง IUU จะเข้ามาประเมินการดำเนินการ และมาตรการการแก้ไขปัญหา การประมงผิดกฏหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม

RELATED ARTICLES
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img