หน้าแรกกระบวนการยุติธรรมศาลยุติธรรมพร้อมให้บริการออกหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และบริการระบบค้นหาข้อมูลบุคคลล้มละลาย

ศาลยุติธรรมพร้อมให้บริการออกหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และบริการระบบค้นหาข้อมูลบุคคลล้มละลาย

วันที่ 1 มี.ค.66 นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า ศาลยุติธรรมได้ปรับปรุงและพัฒนาระบบการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยได้นำเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมใหม่มาใช้สนับสนุนในการปฏิบัติงาน และการให้บริการทางคดีในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งปัจจุบันประชาชน หรือคู่ความสามารถยื่นขอหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบรับส่งอิเล็กทรอนิกส์ (e – Filing) เพื่อนำไปใช้ประกอบการทำธุรกรรมกับหน่วยงานอื่น ๆ นอกจากนี้ศาลยุติธรรมยังมีบริการระบบค้นหาข้อมูลบุคคลล้มละลายของจำเลยเมื่อมีการฟ้องคดีแพ่ง ว่าเป็นบุคคลล้มละลายหรือไม่? ผ่านทางระบบบริการออนไลน์ศาลยุติธรรม หรือที่เรียกว่า CIOS ซึ่งระบบดังกล่าวทำให้ประชาชนผู้มีอรรถคดี สามารถเข้าถึงการบริการของศาลยุติธรรมได้โดยง่าย ไม่ต้องเดินทางมาศาล และยังเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายอีกด้วย

โดยคู่ความที่ยื่นฟ้องคดีทางระบบรับส่งอิเล็กทรอนิกส์ (e – Filing) สามารถยื่นขอหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ได้ด้วยตนเองผ่านระบบ e – Filing โดยผู้ยื่นต้องเป็นคู่ความ ที่เกี่ยวข้องกับคดีเท่านั้น และคดีที่ยื่นขอต้องเป็นคดีที่มีคำพิพากษาแล้ว ทั้งนี้ หนังสือรับรองคดีถึงที่สุด ในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ถือเป็นต้นฉบับ และถือว่าได้ทำเป็นหนังสือตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งกำหนด ทั้งนี้ผู้ยื่นสามารถนำเอกสารที่ออกในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ไปยื่นที่หน่วยงานต่าง ๆ เพื่อใช้ในการประกอบการทำธุรกรรมต่าง ๆ ได้ เช่นกรมการขนส่งทางบก กรมที่ดิน กรมบัญชีกลางสำหรับในส่วนของคู่ความที่ไม่ใช่ผู้ใช้ระบบ e – Filing สามารถยื่นคำร้องขอรับสิ่งพิมพ์ออกของหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ได้ที่ศาล

นอกจากนี้ สำนักงานศาลยุติธรรม ยังได้พัฒนาระบบค้นหาข้อมูลบุคคลล้มละลายผ่านทางระบบบริการออนไลน์ศาลยุติธรรม หรือ CIOS เพื่อสืบค้นข้อมูลบุคคลล้มละลายของจำเลยเมื่อมีการฟ้องคดีแพ่งว่าเป็นบุคคลล้มละลายหรือศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์หรือไม่เป็นการคุ้มครองสิทธิของโจทก์ในการยื่นฟ้องคดีต่อศาล ซึ่งระบบดังกล่าวรองรับการสืบค้นทั้งคดีที่ยื่นฟ้องเป็นสำนวนกระดาษและคดียื่นฟ้องทางระบบ e – Filing โดยใช้เลขบัตรประจำตัวประชาชน ชื่อและชื่อสกุลของจำเลยในการสืบค้นเพื่อเป็นการลดขั้นตอนในการดำเนินคดีและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน

โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า การให้บริการทางคดีของศาลในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นความก้าวหน้าในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ซึ่งสำนักงานศาลยุติธรรมได้ออกประกาศเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการให้บริการทางคดีของศาลในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการแก่คู่ความ หรือประชาชน และรองรับการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงานของรัฐ ให้เกิดความมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน

RELATED ARTICLES
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img