แม้ว่าทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนภัยจากมิจาฉาชีพออนไลน์หรือสื่อโซเชี่ยลที่หลอกลวงประชาชนหลากหลายรูปแบบ เพื่อให้รู้ทันรอบด้านแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีผู้ถูกหลอกให้ติดกับอยู่สม่ำเสมอ เรียกว่าปราบอย่างไรก็ไม่หมดเสียที ยิ่งคนในแวดวงบันเทิงหรือบุคคลสาธารณะ ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นก็มีสิทธิ์ที่จะใช้การสื่อสารด้วยระบบต่างๆของโซเชี่ยล แต่กลับเป็นดาบสองคมเล่นงานพวกเขาอยู่เนืองๆ
วันที่ 24 ก.พ.2566 เวลา 09:37 น. นายสินชัย เอื้ออัครวงษ์ เดินทางเข้าแจ้งความ ที่สถานีตำรวจนครบาลวังทองหลาง กองบังคับการตำรวจนครบาล 4 กองบัญชาการตำรวจนครบาล กรุงเทพมหานคร ลงบันทึกประจำวัน ว่า ได้ทราบจากเพื่อนของตนว่ามีบุคคลผู้ไม่หวังดีทำการปลอมเฟซบุ๊ค โดยใช้ชื่อว่า “สินชัย เอื้ออัครวงศ์ ” ซึ่งเป็นชื่อและนามสกุลของตน ทั้งได้นำรูปภาพของตนไปตั้งเป็นภาพหน้าโปรไฟล์ ภาพปก และนำไปโพสต์ หลอกลวงให้เข้าใจผิดว่าเป็นเฟซบุ๊คตน จึงนำความาแจ้งเพื่อยืนยันว่าเฟซบุ๊คที่นำภาพของตนและสร้างโปรไฟล์ นั้นไม่ใช่ของตนเองและไม่ได้เป็นเจ้าของเฟซบุ๊คดังกล่าว (ตามภาพประกอบ) และไม่มีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องกับการกระทำใดใดเกี่ยวกับการกระทำความผิดจากผู้สร้างเฟซบุ๊คเป็นชื่อ “สินชัย เอื้ออัครวงศ์” นี้ จึงแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนไว้เป็นหลักฐาน โดย ร.ต.ท.จิรายุส บุญเพชร รองสว.(สอบสวน) สน.วังทองหลาง ได้รับแจ้งความและลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน
สำหรับนายสินชัย เอื้ออัครวงษ์ ดารานักแสดงรุ่นใหญ่ มีผลงานให้เห็นเป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตา ทั้งการแสดงละคร หนังโฆษณา และภาพยนตร์ อยู่มากพอสมควร แม้ในชื่อ ที่มิจฉาชีพใช้ตั้ง ตัวสะกัดนามสกุลจะต่างกัน ตรง ษ์ จะไม่ตรง แต่หน้าโปรไฟล์ คือหน้าของ ” สินชัย เอื้ออัครวงษ์ ”
นายสินชัย เปิดเผยว่า หลังการลงบันทึกประจำวันแล้ว ตนจะเดินหน้าแจ้งความกองปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท.เพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษให้ได้และหากมีความเสียหายแก่บุคคลอื่นจากกระทำของเฟซบุ๊คปลอมนี้ขอให้ออกมาดำเนินคดีด้วยกัน
อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ ผู้กำกับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ผบก.ปอท. ในฐานะรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้แถลงข่าวเป็นระยะว่าตามที่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้มีนโยบายให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนรู้เท่าทันถึงอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการสืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด พร้อมระบุว่า บ่อยครั้งที่องค์กร หรือบริษัทต่างๆ ไม่ว่าจะขนาดใหญ่ หรือขนาดเล็ก ถูกแฮกเกอร์ หรือผู้ไม่หวังดีแอบเอาข้อมูลซึ่งเป็นความลับของบริษัท หรือข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า มาประกาศขายในโลกออนไลน์ หรือนำไปใช้ในการกระทำความผิดอื่นๆ ส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นยังเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือขององค์กร หรือบริษัทที่ข้อมูลรั่วไหล และยังทำลายความน่าเชื่อถือด้านบุคคล
อีกทั้งในการแจ้งเตือนนี้ยังได้มีการระบุ จาก พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ด้วยว่าการหลอกลวงทางสื่อสังคมออนไลน์ ยังพบแฮกเกอร์มีการพัฒนารูปแบบ โดยจะแฮกบัญชีเฟซบุ๊กผู้เสียหาย แล้วเข้าไปค้นหารูปสิ่งของต่าง ๆ ที่เจ้าของบัญชีเคยใช้ เช่น กระเป๋าแบรนด์เนมราคาแพง จากนั้น จะนำรูปสิ่งของนั้น มาโพสต์ประกาศขาย ในราคาถูกกว่าท้องตลาด โดยใช้ชื่อบัญชีเฟซบุ๊กที่แฮกได้โพสต์ขาย หรือไปโพสต์ตามกลุ่มหรือเพจซื้อ-ขายต่าง ๆ ทำให้เพื่อนในเฟซบุ๊กที่สนใจติดต่ออินบอกซ์เจรจาซื้อ และโอนเงินไปให้คนร้าย ได้เตือนให้ประชาชนที่พบเห็นเพื่อนเราในเฟซบุ๊กประกาศขายของต่าง ๆ ให้ตรวจสอบข้อมูลเจ้าของบัญชีคนที่ประกาศขายก่อนว่า เป็นเพื่อนเราจริงหรือไม่ และวิธีการที่ดีที่สุด คือ การโทรศัพท์พูดคุยเห็นหน้า หรือได้ยินเสียงเพื่อนคนนั้นก่อน เพื่อเป็นการยืนยันว่า เป็นเพื่อนเราตัวจริงที่ประกาศขายสินค้านั้น ๆ
แต่ถ้าติดต่อสอบถามพูดคุยแล้วกลับไม่รับสาย ไม่ยอมพูดคุยด้วย ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม ขอให้มองในแง่ลบไว้ก่อนว่า อาจจะไม่ใช่เพื่อนเรา สงสัยไว้ก่อนเลยว่า น่าจะเป็นมิจฉาชีพแฮกบัญชีของเพื่อนเรามาหลอกลวง และข้อสังเกตอีกข้อหนึ่ง คือ บัญชีที่คนร้ายให้โอนเงินค่าสินค้าที่เอามาโพสต์ขายสินค้า จะเป็นบัญชีชื่อผู้อื่น โดยคนร้ายอาจจะกล่าวอ้างว่า เป็นบัญชีร้านค้าที่กำลังจะเอาเงินไปซื้อของอื่นพอดี ขอให้เราโอนเงินตรงไปที่ร้านค้าเลย ดังนั้น จึงไม่ควรมองข้ามข้อสังเกตนี้