หน้าแรกกระบวนการยุติธรรมตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) แจ้งความคืบหน้ากรณีศาลพิพากษา “บุญช่วย” คุก 8 ปี คดีฮุบธรณีสงฆ์เกือบ 4 พันไร่เมืองจันท์ฯ

ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) แจ้งความคืบหน้ากรณีศาลพิพากษา “บุญช่วย” คุก 8 ปี คดีฮุบธรณีสงฆ์เกือบ 4 พันไร่เมืองจันท์ฯ

จากกรณีที่มูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัยส่งตัวแทนเข้าพบพนักงานสอบสวน กก.2 บก.ป. เพื่อแจ้งความเอาผิดกับ นายบุญช่วย เจริญสถาพร ซึ่งเป็นน้องชายของ พระกิตติวุฑโฒ ภิกขุ อดีตประธานมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุ ในคดียักยอกที่ดินในพื้นที่ อำเภอท่าใหม่ อำเภอเขาคิชฌกูฏ อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี ของมูลนิธิจำนวน 4,000 ไร่ ไปเป็นของตนเอง โดยมีการสวมสิทธิการครอบครองและนำไปออกโฉนด โดยมิชอบ เหตุเกิดเมื่อ พ.ศ.2561 ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ป. ได้รวบรวมพยานหลักฐานจนนำไปสู่การจับกุมนายบุญช่วยฯ เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา

ล่าสุด เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 ศาลอาญาวินิจฉัยแล้วว่าที่ดินนั้นเป็นของมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัย และการกระทำของนายบุญช่วยฯ และบุตรชาย เป็นความผิดตามกฎหมาย โดยมีความเห็นพิพากษาลงโทษนายบุญช่วยฯ จำคุก 8 ปี และพิพากษาลงโทษบุตรชายนายบุญช่วยฯ จำคุก 1 ปี

รายละเอียดของคดีนี้ ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ ปี 2512 พระกิตติวุฑโฒ ซึ่งเป็นกรรมการมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัย และเป็นผู้ก่อตั้ง จิตตภาวันวิทยาลัย อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี โดยเป็นสถานที่ที่ให้พระสงฆ์ สามเณร จากทั่วประเทศไปปฏิบัติธรรมและเรียนรู้ธรรมะ พระกิตติวุฑโฒ ซึ่งเป็นพระที่มีชื่อเสียง จึงได้มีแนวคิดจัดหาซื้อที่ดินเพื่อปลูกพืชผลมาเลี้ยงพระสงฆ์และสามเณร ก่อนติดต่อซื้อที่ดินประมาณ 4,000 ไร่ มูลค่าประมาณ 12 ล้านบาท (ในขณะนั้น) ของนายสมพล โกศลานันท์ นักธุรกิจในจังหวัดจันทบุรี โดยนายสมพลฯ ก็ตกลงขายที่ดินให้ ขณะเดียวกันพระกิตติวุฑโฒก็ขอรับบริจาคเงินจากพุทธศาสนิกชน เพื่อนำมาซื้อที่ดินดังกล่าวได้ประมาณ 8 ล้านบาท และได้นำเงินดังกล่าวไปมอบให้นายสมพลฯ ซึ่งนายสมพลฯ ก็ยินยอมให้มูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัย เข้าไปครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าว โดยยังไม่ได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อผู้ครอบครองจากชื่อนายสมพลฯมาเป็นชื่อมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัยแต่อย่างใด

ต่อมาพระกิตติวุฑโฒ ได้ส่งพระภิกษุและสามเณร เข้าไปทำกิจกรรมทางพุทธศาสนาในที่ดินแปลงดังกล่าว และในระหว่างนั้นก็ให้นายบุญช่วย ซึ่งเป็นน้องชายของพระกิตติวุฑโฒ เข้าไปช่วยดูแลที่ดินแทนมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัย รวมทั้งคอยจัดหาอาหารและดูแลพระสงฆ์และสามเณรระหว่างที่เข้าไปทำกิจกรรมในที่ดินแปลงดังกล่าว ซึ่งต่อมา ปี 2538 นายสมพลฯ ถึงแก่ความตาย และปี 2548 พระกิตติวุฑโฒ มรณภาพ แต่ที่ดินแปลงดังกล่าวก็ยังไม่ได้โอนเปลี่ยนชื่อมาเป็นของมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัย ต่อมา ปี 2550 นายบุญช่วยฯ ได้ไปติดต่อนายเรวัตร โกศลานันท์ ซึ่งเป็นบุตร 1 ใน 6 คนของนายสมพลฯ เพื่อให้นายเรวัตรฯ ลงชื่อในเอกสาร “หนังสือรับการชำระเงินค่าที่ดิน” ซึ่งระบุว่า นายสมพลฯ ได้ขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้กับนายบุญช่วยฯ หลังจากนั้นนายบุญช่วยฯ ได้นำ “หนังสือรับการชำระเงินค่าที่ดิน” เป็นพยานหลักฐานยื่นฟ้องนายเรวัตรฯ ต่อศาลจังหวัดจันทบุรี เพื่อให้นายเรวัตรฯ ทำการโอนเปลี่ยนชื่อจากนายสมพลฯ มาเป็นชื่อนายบุญช่วยฯ โดยในการยื่นฟ้องคดีดังกล่าวนั้นทนายโจทก์และทนายจำเลย เป็นทนายความที่ทำงานอยู่ในสำนักงานทนายความเดียวกัน ซึ่งต่อมาภายหลังก็อ้างต่อศาลจังหวัดจันทบุรีว่าโจทก์และจำเลย สามารถตกลงประนีประนอมยอมความกันได้แล้ว ศาลจังหวัดจันทบุรีจึงมีคำพิพากษาตามยอมให้นายเรวัตรฯ ซึ่งเป็นบุตร 1 ใน 6 คน ของนายสมพลฯ ทำการโอนเปลี่ยนชื่อใน นส.3 จากชื่อนายสมพลฯ เป็นชื่อนายบุญช่วยฯ ซึ่งนายบุญช่วยฯ ก็ได้นำคำพิพากษาฯไปติดต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดจันทบุรี สาขาท่าใหม่ และสาขามะขาม เพื่อขอให้เจ้าหน้าที่เปลี่ยนชื่อผู้ครอบครองใน นส.3 มาเป็นชื่อตนเองแต่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานที่ดินทราบว่า นายเรวัตรฯ ไม่ได้เป็นผู้จัดการมรดก จึงโอนเปลี่ยนชื่อให้เป็นของนายบุญช่วยฯ ไม่ได้ นายบุญช่วยฯ จึงไปติดต่อกับบุตรของนายสมพลฯ อีก 2 คนให้ลงชื่อรับรองข้อความทำนองเดียวกันว่า นายสมพลฯ ขายที่ดินให้นายบุญช่วยฯ แล้วนำเอกสารดังกล่าวไปเสนอต่อศาลจังหวัดจันทบุรี พร้อมให้นายเรวัตรฯไปแถลงต่อศาลว่านายสมพลฯ มีทายาทเพียงแค่ 3 คน ทั้งที่จริงแล้ว นายสมพลฯมีทายาท จำนวน 6 คน ศาลจังหวัดจันทบุรีจึงมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดจันทบุรี โอนเปลี่ยนชื่อใน นส.3 จำนวน 86 ฉบับ โดยเปลี่ยนจากนายสมพลฯ มาเป็นของนายบุญช่วยฯ และต่อมาในปี 2553-2554 นายบุญช่วยฯ และบุตรชายได้นำ นส.3 ไปขอออกโฉนดที่ดินเป็นชื่อของตนเองและบุตรชาย

ต่อมาทายาทของนายสมพลฯ ทราบถึงพฤติกรรมทั้งหมดของนายบุญช่วย ว่าได้ยึดที่ดินของมูลนิธิฯไปเป็นของตนเอง จึงมีการฟ้องร้องกัน ระหว่างทายาทของนายสมพลฯ กับนายบุญช่วยฯ จำนวนหลายคดี ซึ่งคดีแพ่งคดีหมายเลขดำที่ 630/2554 คดีหมายเลขแดงที่ 199/2556 ลงวันที่ 7 มีนาคม 2560 ศาลจังหวัดจันทบุรี พิพากษาว่า นายบุญช่วยฯ เข้าไปครอบครองปลูกต้นยางพาราและทำสวนผลไม้ในที่ดินดังกล่าว โดยนายสมพลฯ ครอบครองอยู่เดิมและไม่ได้โต้แย้ง เมื่อที่ดินดังกล่าวมีเพียง นส.3 จึงเป็นการแสดงว่านายสมพลฯ ได้สละเจตนาครอบครอง การครอบครองของนายสมพลฯ จึงสิ้นสุด และเมื่อนายบุญช่วยฯเข้าครอบครองที่ดินดังกล่าว จึงสันนิษฐานว่าครอบครองเพื่อตน ตาม ป.แพ่ง มาตรา 1377 วรรคหนึ่ง และมาตรา 1369 นายบุญช่วยฯ จึงมีสิทธิครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าว ทายาทของ นายสมพลฯ เจ้าของที่ดินเดิม ซึ่งเป็นโจทก์ จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ต่อมาศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษาว่า จากข้อเท็จจริงที่นำสืบมารับฟังได้ว่า นายสมพลฯ ได้ขายที่ดินและส่งมอบให้กับนายบุญช่วยฯ ตั้งแต่ ปี 2515 ที่ดินแปลงดังกล่าว จึงไม่ใช่ทรัพย์มรดกของนายสมพลฯ นางสาวเขมจิรา บัณฑูรนิพิท โจทก์ ไม่ใช่ทายาทของนายสมพลฯ จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย ศาลฎีกาจึงยกฟ้องเนื่องจากเห็นว่าที่ดินไม่ใช่ทรัพย์มรดก นายบุญช่วยฯ จึงได้นำคำพิพากษาของศาลฎีกาดังกล่าวมากล่าวอ้างว่าที่ดินของมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัยเป็นของตนเองมาโดยตลอด ทายาทของนายสมพลฯ จึงมาแจ้งให้มูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัยทราบ เมื่อมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัยทราบแล้ว จึงมาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราม คณะพนักงานสอบสวน กองกำกับการ 2 กองบังคับการปราบปราม ได้สอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ทั้งพยานเอกสารของทางราชการ, พยานบุคคลต่างๆ เช่น พระสงฆ์และสามเณร ซึ่งในอดีตเคยจำวัดอยู่ที่ จิตตภาวันวิทยาลัย และรับรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคดีนี้มาโดยตลอด จนได้ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่เชื่อว่าที่ดินนั้นเป็นของมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัย ไม่ใช่เป็นของนายบุญช่วยฯ ตามคำพิพากษาในคดีเก่า จึงได้จับกุมตัวนายบุญช่วยฯ และบุตรชายมาดำเนินคดีตามกฎหมาย และมีความเห็นสั่งฟ้องไปยังพนักงานอัยการ กระทั่งล่าสุดศาลอาญาวินิจฉัยแล้วว่าที่ดินนั้นเป็นของมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัยดังกล่าว

RELATED ARTICLES
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img