หน้าแรกการเมือง'เดอะอ๋อย' ชี้ การจ้างพนักงานนอกงบประมาณ แก้ปัญหาไม่มองภาพรวม-สร้างปัญหาขึ้นมาใหม่

‘เดอะอ๋อย’ ชี้ การจ้างพนักงานนอกงบประมาณ แก้ปัญหาไม่มองภาพรวม-สร้างปัญหาขึ้นมาใหม่

นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทยและอดีตรองนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊ค กล่าวถึงปัญหาใหญ่และความโกลาหล กรณีการจ้างพนักงานและลูกจ้างนอกงบประมาณ โดยระบุว่า “ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจ้างพนักงานและลูกจ้างโดยใช้เงินนอกงบประมาณ กำลังจะกลายเป็นปัญหาใหญ่และคงหนีไม่พ้นที่จะต้องมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง การออกระเบียบนี้

สะท้อนถึงส่วนหนึ่งของปัญหาการใช้เงินนอกงบประมาณและการจ้างพนักงานและลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐทั้งระบบ ที่ยังไม่มีการหยิบยกขึ้นมาพิจารณากันในภาพรวม

ที่ผ่านมา หน่วยงานของรัฐจำนวนมากต้องดิ้นรนหารายได้ เพราะได้รับงบประมาณไม่เพียงพอ การใช้เงินนอกงบประมาณในเรื่องต่างๆนั้น นอกจากไม่มีใครห้ามแล้ว หลายหน่วยงานยังถูกตั้งเงื่อนไขในการของบประมาณให้ใช้เงินนอกงบประมาณสมทบในโครงการต่างๆด้วย

มีหน่วยงานของรัฐจำนวนมากในหลายกระทรวงที่ใช้เงินนอกงบประมาณในการจ้างพนักงานและลูกจ้างกันอยู่ ที่มากเป็นพิเศษได้แก่โรงพยาบาลต่างๆ มหาวิทยาลัยต่างๆ โรงเรียนต่างๆเป็นต้น เมื่อมีระเบียบออกมาบอกว่าให้หน่วยงานของรัฐหลีกเลี่ยงการใช้เงินนอกงบประมาณจ้างพนักงานและลูกจ้าง และถ้าจำเป็นต้องจ้างก็ให้ทำความตกลงกับกรมบัญชีกลางเสียก่อน ก็ย่อมเกิดความโกลาหลขึ้นแน่

เพราะหลายหน่วยงานจะอยู่ในสภาพที่ไม่รู้จะเอางบประมาณที่ไหนมาใช้แทนและถ้ารอทำความตกลงกับกรมบัญชีกลางก็อาจจะต้องเข้าคิวรอความเห็นของกรมบัญชีกลางนาน จนกระทั่งเสียหาย เพราะขาดแคลนคนทำงาน ถ้าเป็นอย่างนั้นขึ้นมา ก็ย่อมจะกระทบผู้รับบริการทั้งหลาย จนทำให้มีองค์กรของผู้รับบริการอีกจำนวนมากกำลังจะเคลื่อนไหวคัดค้านการออกระเบียบนี้

ผมเชื่อว่า อย่างไรเสียระเบียบนี้คงใช้ต่อไปอย่างนี้ไม่ได้ คงจะต้องมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแน่

แต่ทางออกในเรื่องนี้ ควรเป็นยังไง ถ้ายกเลิกระเบียบนี้แล้วจะใช้อะไรมาแทน หรือถ้าจะแก้ไขปรับปรุงระเบียบนี้ จะแก้เป็นอย่างไร

ความจริงปัญหาเกี่ยวกับเงินนอกงบประมาณและปัญหาเกี่ยวกับพนักงานและลูกจ้างมีอีกหลายแง่มุม ไม่ใช่แค่ปัญหาที่กรมบัญชีกลางและกระทรวงการคลังกำลังพยายามจะแก้ด้วยการออกระเบียบในครั้งนี้

ผมจำได้ว่า ในตอนที่เป็นกรรมาธิการงบประมาณอยู่หลายครั้ง เคยมีการหยิบยกประเด็นว่า หน่วยงานจำนวนมากมีเงินนอกงบประมาณอยู่และในบางโครงการใช้เงินนอกงบประมาณ บางโครงการใช้เงินงบประมาณและบางโครงการใช้เงินทั้งสองประเภท

แต่กรรมาธิการมักไม่ได้ดูหรือดูไม่ได้ว่า เงินนอกงบประมาณที่ใช้ในโครงการต่างๆ ไม่เฉพาะการจ้างพนักงานและลูกจ้างนั้น ใช้อยู่อย่างไร ทั้งๆที่เงินนอกงบประมาณของบางหน่วยงาน นอกจากได้มาจากการบริจาคแล้ว ก็ได้มาจากใช้งบประมาณของรัฐไปทำกิจกรรมหรือการใช้ทรัพย์สินของทางราชการไปหาประโยชน์หรือรายได้เข้ามา

นอกจากนี้ เมื่อไม่ทราบว่า มีการใช้เงินนอกงบประมาณไปอย่างไร ก็ทำให้วิเคราะห์ไม่ได้ว่า จำเป็นที่ต้องให้งบประมาณมากน้อยเพียงใด เข้าใจว่าถึงวันนี้ เรื่องนี้ก็ยังไม่ลงตัว ยังคงเป็นปัญหาอยู่

ส่วนเรื่องพนักงานและลูกจ้างก็มีปัญหาอยู่ เช่น สวัสดิการ สิทธิประโยชน์ความมั่นคงในอาชีพและเส้นทางความก้าวหน้าควรจะปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างไร นอกจากนั้นยังมีปัญหาในเชิงระบบ คือ ไม่มีใครดูภาพรวมได้ว่าประเทศกำลังมีพนักงานลูกจ้างมากหรือน้อยเกินไปหรือไม่อย่างไร จะเพิ่มหรือลด กลายเป็นแต่ละหน่วยงานตัดสินใจกันเอง ยิ่งมีเงินนอกงบประมาณมากและสามารถใช้จ้างพนักงานและลูกจ้างกันได้ตามอัธยาศัย ก็ยิ่งไม่มีทางที่ใครจะดูแลภาพรวมในเรื่องนี้ได้

การมีพนักงานและลูกจ้างมาก ยังเชื่อมโยงกับการที่รัฐจะต้องดูแลในเรื่องสิทธิประโยชน์ต่างๆ ซึ่งก็ต้องใช้งบประมาณ นอกจากนี้ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐบางหน่วยงานก็ต้องการได้รับบรรจุเป็นข้าราชการเพื่อความมั่นคงทางอาชีพที่สูงขึ้น ในกรณีที่หน่วยงานขาดแคลนบุคลากรที่จะมาเป็นข้าราชการ การปรับจากลูกจ้างมาเป็นข้าราชการก็อาจช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนได้ แต่ในกรณีที่มีคนต้องการเข้ารับราชการมาก แต่มีตำแหน่งน้อย การปรับพนักงานหรือลูกจ้างเป็นข้าราชการ ก็อาจจะขัดแย้งกับการรับคนเข้าเป็นข้าราชการ ซึ่งมีหลักเกณฑ์คุณสมบัติที่ต่างกัน เรื่องนี้จึงเกี่ยวข้องโดยตรงกับการบริหารงานบุคคลด้วย

จะเห็นว่า เรื่องเงินนอกงบประมาณกับพนักงานและลูกจ้างนี้มีปัญหาที่จะต้องพิจารณาในหลายมิติและเกี่ยวข้องกับหน่วยงานหลายหน่วยงาน การจับประเด็นแบบเฉพาะเจาะจงลงไปที่เรื่องการจ้างพนักงานและลูกจ้างโดยใช้เงินนอกงบประมาณเพียงเรื่องเดียวและดำเนินการโดยกรมบัญชีกลางและกระทรวงการคลังเพียงลำพัง จึงไม่อาจแก้ปัญหาที่อีนุงตุงนังได้ และย่อมเกิดปัญหาตามมาแน่นอน

ทางออกในเรื่องนี้ คงไม่ใช่ยกเลิกระเบียบแบบแล้วก็แล้วกันไป เพราะนอกจากเป็นการเก็บสะสมปัญหาต่างๆต่อไปแล้ว ยังจะทำให้กระทรวงการคลังขาดความน่าเชื่อถือไปด้วย ทางที่ดีรัฐบาลจึงควรเปิดโอกาสให้หน่วยงานที่ได้รับผลกระทบทั้งหลายได้ให้ข้อมูลและแสดงความเห็นอย่างเต็มที่ และเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหลายมาหารือกัน เพื่อดูแลปัญหาในภาพรวมและแก้ปัญหาที่เป็นเรื่องเฉพาะ

หน่วยงานที่ควรจะมาหารือกัน นอกจากกรมบัญชีกลางและกระทรวงการคลัง แล้ว ก็น่าจะมีสำนักงบประมาณ สำนักงานกพ. กพร.และหน่วยงานที่มีเงินนอกงบประมาณอยู่มากหรือใช้เงินนอกงบประมาณจ้างพนักงานและลูกจ้างอยู่มากๆ เป็นต้น

การออกระเบียบกระทรวงการคลังครั้งนี้ เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการแก้ปัญหาเป็นจุดๆโดยไม่มองภาพรวม ขาดการปรึกษาหารือฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้อง จนกลายเป็นสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมา เรื่องลักษณะนี้ดูจะเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ภายใต้การบริหารของรัฐบาลนี้ รัฐบาลที่ท่องคาถาปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้งแบบนกแก้วนกขุนทองมา 4 ปีแล้ว”

ปัญหาใหญ่และความโกลาหล :…

โพสต์โดย Chaturon Chaisang เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 31 พฤษภาคม 2018


 

RELATED ARTICLES

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img