หน้าแรกกระบวนการยุติธรรม"ผู้ช่วย ผบ.ตร." เร่งตรวจสอบเหตุแชร์ข้อสอบนายสิบอำนวยการภูธรภาค 5 ในสังคมออนไลน์

“ผู้ช่วย ผบ.ตร.” เร่งตรวจสอบเหตุแชร์ข้อสอบนายสิบอำนวยการภูธรภาค 5 ในสังคมออนไลน์

ยังไม่ยืนยัน ทุจริตสอบ แต่รับที่ภูธรภาค 9 มีผู้สมัครนำโพยคำตอบเข้าห้องสอบทุจริตจริง พร้อมตัดสิทธิ์ไปแล้ว 73 คน

เมื่อเวลา 14.20 น. วันที่ 12 ธ.ค. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ท.นิรันดร เหลื่อมศรี ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) กล่าวถึงกรณีการทุจริตสอบคัดเลือกนายสิบตำรวจในพื้นที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 เมื่อเดือนมี.ค. 2565 และเจ้าหน้าที่ได้พบมีผู้เข้าสอบนำโพยคำตอบเข้าไปในห้องสอบ 1 คน จนทำให้มีการสืบสวนขยายผลจนพบมีผู้ร่วมกระทำความผิดรวม 73 คน และขณะนี้ได้ตัดสิทธิ์การเข้าเป็นนายสิบตำรวจไปแล้ว ส่วนที่เหลือไม่พบความผิดก็ให้เข้ารับราชการตามปกติ

ส่วนจะมีตำรวจและ ร.ต.อ.หญิง นายหนึ่งที่พบมีเงินหมุนเวียนกว่า 30 ล้านบาท รวมทั้งบุคคลอื่นว่าจะเกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือไม่ ผู้ช่วย ผบ.ตร. กล่าวว่า ขณะนี้ได้รับรายงานมาจากภูธรภาค 9 แล้ว แต่ขอตรวจสอบในรายละเอียดก่อน และภายในสัปดาห์นี้จะชี้แจงรายละเอียดได้

พล.ต.ท.นิรันดร กล่าวว่า ตำรวจได้รับร้องเรียนการทุจริตสอบนายสิบตำรวจฝ่ายอำนวยการ ในกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ที่มีการเผยแพร่คำถาม และคำตอบของข้อสอบในครั้งนี้ที่มีผู้เข้าสอบกว่า 2 แสนคน และขณะนี้สอบผ่านการคัดเลือกไปแล้ว 1,160 คน และอยู่ระหว่างการรอสอบสัมภาษณ์ และตรวจร่างกายที่จะรับเหลือ 725 คน

ส่วนกรณีที่พบว่ามีชื่อและนามสกุลของผู้เข้าสอบซ้ำกัน 2 คน ผู้ช่วย ผบ.ตร. กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่าเลขประจำตัวประชาชนของทั้งสองคนไม่ตรงกัน แต่ชื่อนามสกุลเดียวกัน จึงสามารถเข้าสอบได้ และยืนยันว่าหากเลขประจำตัวประชาชนตรงกัน จะไม่สามารถลงสมัครในเว็บไซต์ได้

ขณะนี้ยังไม่ยืนยันว่าเป็นการทุจริตสอบ เบื้องต้นคำถามและคำตอบที่นำมาเผยแพร่ตรงกับข้อสอบจริง แต่คาดว่าเป็นการจำคำถามมาแล้วพิมพ์ใหม่ ซึ่งก็จะต้องนำไปตรวจสอบความชัดเจนทั้งหมดว่ามีการทุจริตหรือไม่ ส่วนแผนประทุษกรรมจะเหมือนหรือเชื่อมโยงกับการทุจริตสอบในพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 9 หรือไม่นั้น ยังไม่สามารถยืนยันได้

ผู้ช่วย ผบ.ตร. กล่าวยืนยันว่ากระบวนการออกข้อสอบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความรัดกุมอย่างมาก ตั้งแต่การเรียกให้คณะกรรมการออกข้อสอบมาเก็บตัว โดยที่ไม่ให้ใช้เครื่องมือสื่อสาร และให้ออกข้อสอบคนละอย่างน้อย 10 ข้อ และจะมีคณะกรรมการเลือกข้อสอบไปแบ่งออกเป็น 4 ชุด จากนั้นจะส่งเข้าโรงพิมพ์ และมีคณะกรรมการจัดส่งข้อสอบไปยังสนามสอบ และมีคณะกรรมการกลางดูแลการจัดส่งไปแต่ละสนามสอบอีก โดยจะต้องตรวจสอบการบรรจุข้อสอบก่อนเปิดใช้ทุกครั้ง ซึ่งขั้นตอนดังกล่าว ถือว่ามีคณะกรรมการหลายฝ่ายและหลายชุด ทำให้ยากต่อการทุจริต

“ส่วนผู้เข้าสอบก็จะต้องแต่งกายชุดกีฬาเข้าสอบ และห้ามนำเครื่องมือสื่อสารทุกชนิดเข้าห้องสอบ ส่วนที่มีการทุจริตนั้น ยอมรับว่าอาจจะมีช่องโหว่บางส่วนที่ทำให้มีการลักลอบนำกระดาษคำตอบเข้าไป เนื่องจากมีผู้เข้าสอบจำนวนมาก ซึ่งคณะกรรมการก็จะนำไปพิจารณาแก้ไขในอนาคต รวมทั้งจะดำเนินการกับตำรวจที่เข้าไปร่วมทุจริตทั้งทางวินัยและอาญาด้วย” พล.ต.ท.นิรันดร กล่าว

RELATED ARTICLES
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img