หน้าแรกกระบวนการยุติธรรมบอร์ด 'ป.ป.ส.' ยืนยัน "กัญชา" ต้องควบคุมอย่างเหมาะสม

บอร์ด ‘ป.ป.ส.’ ยืนยัน “กัญชา” ต้องควบคุมอย่างเหมาะสม

เตรียมใช้กฎหมายอื่น อุดช่องว่าง ระหว่างรอร่าง พรบ.กัญชา กัญชง ผ่านสภา พร้อมเผยความคืบหน้าการสร้างผลิตภัณฑ์จากพืชกระท่อม

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (คณะกรรมการ ป.ป.ส.) ครั้งที่ 4/2565 โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม คณะกรรมการ ป.ป.ส. และผู้บริหารจากหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วม โดยนายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส. ทำหน้าที่กรรมการ และเลขานุการประชุมฯ ณ ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล

นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า ในที่ประชุมได้มีการนำเสนอถึงความคืบหน้าการบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ซึ่งกระทรวงยุติธรรม (สำนักงาน ป.ป.ส.) กระทรวงสาธารณสุข และศาลยุติธรรม ได้มีการออกกฎหมายแล้วจำนวน 32 ฉบับ เพื่อรองรับการบำบัดรักษาตามประมวลกฎหมายยาเสพติดให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขยังได้มีการจัดตั้งสถานที่เพื่อรองรับการบำบัดรักษาและการฟื้นฟูสภาพทางสังคม เช่น สถานพยาบาลยาเสพติด 1,079 แห่ง สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด 61 แห่ง และศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม 397 แห่ง

ในส่วนของการดำเนินการขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยา อาหาร และเครื่องสำอางที่ผลิตจากพืชกระท่อม สืบเนื่องจากการออก พรบ.พืชกระท่อม 2565 ในการนำพืชกระท่อมไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงต้องมีการปรับกฎหมายเพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์จากพืชกระท่อมได้ โดยสำนักงาน ป.ป.ส. ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาและจัดทำข้อมูลสารไมทราจีนีนที่เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์จากพืชกระท่อม โดยใช้สัตว์ทดลองที่ได้รับสารสกัดจากพืชกระท่อมในขนาดที่ต่างกัน ซึ่งจะใช้เวลาดำเนินการโดยประมาณ 3 เดือน หลังจากนั้น สำนักงาน อย. จะนำข้อมูลที่ได้ไปพิจารณาเพื่อทบทวนความเหมาะสมของการกำหนดปริมาณสารไมทราจีนีนในผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ผู้ประกอบการ ประชาชน สามารถสร้างผลิตภัณฑ์จากพืชกระท่อมได้ถูกต้อง ตรงตามหลักเกณฑ์

ด้าน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวเสริมว่า ใบกระท่อม 1 ใบ มีการวิจัยพบว่ามีสารไมทราจีนีนที่ 1.2-1.6 มิลลิกรัม โดยปัจจุบันได้มีการกำหนดปริมาณสารไมทราจีนีนในผลิตภัณฑ์สมุนไพร หรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพียงแค่ 0.2 มิลลิกรัม ซึ่งไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่นได้ ตนจึงฝากกระทรวงสาธารณสุข หาแนวทางที่จะสามารถผลักดันให้การกำหนดสารไมทราจีนีนในผลิตภัณฑ์นั้น มีปริมาณอย่างน้อย 1 มิลลิกรัม เพื่อให้ผู้ประกอบการ และ ชาวบ้าน สามารถใช้ประโยชน์จากพืชกระท่อมได้มากขึ้น

ขณะที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวทิ้งท้ายถึงประเด็นกัญชาว่า ณ ปัจจุบัน ต้นกัญชา ราก ลำต้น เมล็ด ช่อ ดอก ไม่ถือว่าเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 แต่ยังคงมีการนำพืชกัญชาไปดัดแปลง หรือแปรรูปเพื่อใช้ในทางที่ผิด ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ช่อ ดอก ยังคงเป็นอันตรายอยู่ โดยสามารถนำมาสกัดเพื่อเสพ และอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ จึงเป็นที่มาในการนำกฎหมายแพทย์โบราณมาควบคุม และกำหนดให้กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม (ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565) ซึ่งในบางข้อกำหนดเป็นผลในทางบวก หากใครนำไป ศึกษา วิจัย ส่งออก ต้องขออนุญาตจากปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในขณะเดียวกันก็มีการกำหนดมาตรการ เช่น ห้ามจำหน่ายให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา หญิงตั้งครรภ์ เป็นต้น รวมถึงห้ามโฆษณา ห้ามจำหน่ายผ่านเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ วัด สวนสาธารณะ หอพัก สนามกีฬา

อย่างไรก็ตาม ถ้ายังมีการฝ่าฝืนก็จะมีการตำหนิ ติเตียน หรือห้ามปราม เพราะการดำเนินการบางอย่างมีข้อจำกัด เช่น โรงเรียน เพราะไม่สามารถนำเด็กเข้าเรือนจำได้ แต่ถ้าฝ่าฝืนหนักก็ต้องมีบทลงโทษตามกฎหมาย ทั้งนี้ หากยังมีช่องว่างเกิดขึ้นอีก ก็ต้องนำกฎหมายอื่น ๆ มาอุดช่องว่างไปก่อน ซึ่งแต่เดิมประกาศกระทรวงก็มีการควบคุมที่ดีอยู่แล้ว แต่เพื่อเป็นการเพิ่มความเข้มข้นในการควบคุม จึงจำเป็นต้องมีการประกาศฉบับนี้ออกมาเพื่ออุดช่องว่างต่าง ๆ ให้ดียิ่งขึ้น จนกว่า ร่าง พรบ.กัญชา กัญชง จะผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งหากผ่านการพิจารณาแล้ว จะสามารถควบคุมได้ครบทุกมิติ

ในท้ายวาระการประชุม บอร์ด ป.ป.ส. เห็นชอบให้มีการทำลายยาเสพติดของกลาง อย่างน้อย เดือนละ 1 ครั้ง โดยให้คณะทำงานทำลายยาเสพติดของกลาง รับของกลางที่ผ่านการตรวจพิสูจน์แล้วจากศูนย์พิสูจน์หลักฐาน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสำนักงาน ป.ป.ส. ไปดำเนินการเผาทำลายของกลาง เพื่อเป็นการลดข้อครหาที่มักกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่นำของกลางยาเสพติดไปเวียนขาย เพราะประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 ได้แก้ไขให้ทำลายของกลางได้ทันทีหลังจากได้ผ่านการตรวจพิสูจน์แล้ว ซึ่งแต่เดิมกำหนดให้ศาลชั้นต้นต้องพิพากษาก่อนจึงจะทำลายยาเสพติดได้ และต้องใช้เวลาหลายปี

RELATED ARTICLES
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img