นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานที่ปรึกษาแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) กล่าวตั้งข้อสังเกตต่อพรรครวมพลังประชาชาติไทย โดยระบุว่า “วันนี้อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานที่ปรึกษานปช. จะมาตั้งข้อสังเกตต่อพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นใหม่โดยวันนี้จะกล่าวถึง “พรรครวมพลังประชาชาติไทย”
สำหรับ “พรรคอนาคตใหม่” คนที่องค์ประกอบเป็นคนค่อนข้างหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่ไม่เคยเข้ามาเกี่ยวข้องในทางการเมืองเลย ประหนึ่งเป็นพรรคคนหนุ่มที่มีอุดมการณ์ ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ไม่สามารถที่จะให้ประเทศไทยเป็นแบบนี้ได้
แต่ “พรรครวมพลังประชาชาติไทย” เป็นพรรคตั้งใหม่เช่นกัน องค์ประกอบผู้ก่อตั้งนั้นน่าสนใจ คนหนึ่งเป็นตัวแทนของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ คือ นายทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง (ทนายความ) ส่วนนายจาตุรันต์ บุญเบญจรัตน์ (อดีตเลขาธิการกลุ่มกรีน) คงมาในฐานะตัวแทนของนายสุริยะใส กตะศิลา ร่วมกันยื่นจดแจ้งชื่อพรรคการเมืองโดยมีรายชื่อผู้ก่อตั้ง 32 คน โดยมีชื่อนายธานี เทือกสุบรรณ (น้องชายนายสุเทพ) รวมอยู่ด้วย ปรากฎว่าไม่มีชื่อนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ซึ่งมีข่าวแว่ว ๆ ว่าจะมาเป็นหัวหน้าพรรค รวมทั้งไม่มีชื่อนายสุเทพ เทือกสุบรรณด้วย
ถ้าพูดถึงองค์ประกอบ 1) นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ 2) นายสุริยะใส กตะศิลา และ 3) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แน่นอนว่าไม่ใช่คนหน้าใหม่
สำหรับนายสุเทพนั้นทุกคนรู้ชัดเจนว่าเป็นคนมีความทะเยอทะยานทางการเมือง ถ้านายสุเทพไม่มีความทะเยอทะยานทางการเมืองเขาจะไม่ออกมาทำกปปส. พูดง่าย ๆ ว่าต้องล้างมือก็คือแพ้การเลือกตั้งในฐานะเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะเป็นหัวรถจักรสำคัญในการปราบปรามประชาชนปี 2553 แล้วก็นำพรรคประชาธิปัตย์เข้าสู่สนามเลือกตั้งอย่างมีความมั่นใจสูง แต่ความพ่ายแพ้ครั้งสำคัญในการเลือกตั้งปี 2554 นายสุเทพควรจะถอย แต่ไม่ใช่! กลายเป็นถือว่าแพ้ในวิถีทางรัฐสภาแต่จะเอาชนะในวิถีทางอื่น จึงเป็นเรื่องของการเกิดการบอยคอตการเลือกตั้ง การเกิดกปปส. และในที่สุดเมื่อเกิดมีการัฐประหาร ซึ่งนายสุเทพชื่นชมนายกรัฐมนตรี ชื่นชมคณะรัฐประหาร มีการฉลองด้วยการแต่งชุดลายพรางมาสนุกสนานร่าเริง มีการทำเฟสบุ๊คไลฟ์เมื่อตอนทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญเพื่อสนับสนุนรัฐธรรมนูญของคสช. และออกมาพูดสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ตลอดเวลา แต่สำหรับเรื่องการตั้งพรรคการเมืองนายสุเทพไม่ชัดเจนมาตลอด
แต่ขณะนี้คงมีความลงตัวคือ 3 ประสาน 1) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะกปปส. 2) นายสุริยะใส กตะศิลา ซึ่งมาจากพันธมิตรฯ ภายหลังมาร่วมกับกปปส. 3) นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับวาทกรรม “2 นคราประชาธิปไตย” คือหลังพฤษภาคม 2535 เขามองเห็นการเคลื่อนไหวของคนในเมืองมาล้มรัฐบาลซึ่งมีพรรคเล็กพรรคน้อยรวมกันแล้วไปเชิญพล.อ.สุจินดา คราประยูร มาเป็นรัฐบาล นายเอนกเสนอ “2 นคราประชาธิปไตย” ว่าคนชนบทเลือกพรรคการเมือง แล้วคนเมืองเป็นคนล้ม ถือได้ว่าเป็นทฤษฎีที่มีคนสนใจและเห็นด้วยอยู่เป็นจำนวนมาก นั่นคือคนชั้นกลางและปัญญาชนออกมาล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของคนชนบท แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ผ่านมานายเอนกเสนอ “ไฮบริด” การเมืองไทยเป็นไฮบริด รัฐประหารกับการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยจะสลับกัน ก็เหมือนรถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้าก็ได้ใช้น้ำมันก็ได้
ดังนั้นอ.ธิดาบอกได้เลยว่านายเอนกนั่นแหละเป็นคนประเภท “ไฮบริด” ก็คือมีประชาธิปไตยก็ได้ ก็เข้าสู่การเลือกตั้ง เข้าไปร่วมเป็นพรรคการเมือง แล้วเวลามีรัฐประหารก็ไปร่วมอยู่กับรัฐประหารได้ อ.ธิดากำลังขนานนามกลุ่มปัญญาชนจำนวนหนึ่ง และเนติบริกรด้วย คือเทคโนแครตไทย เนติบริกรไทย ปัญญาชนไทย ชนชั้นกลางและนักธุรกิจจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นคนประเภท “ไฮบริด” เมื่อมีรัฐประหารก็เข้ามาทำงานรับใช้ทหารไทย เข้ามาเป็นสภาปฏิรูป เข้ามาอยู่ในเรือแป๊ะได้หมด
อ.ธิดามองว่าคนที่เข้ามาอยู่ “พรรครวมพลังประชาชาติไทย” นี่เป็นคนประเภท “ไฮบริด” แต่ “พรรคอนาคตใหม่” นั้นไม่ใช่ไฮบริด เขาไม่เอาเลย ซึ่งนอกจากจะเข้าสู่การเลือกตั้งแล้วยังบอกว่าจะจัดการกับสิ่งไม่ถูกต้อง ล้มล้างผลพวงของการทำรัฐประหารอันได้แก่กฏหมาย ประกาศ คำสั่ง และการสร้างคดีต่าง ๆ ที่มาจากการทำรัฐประหารรวมถึงรัฐธรรมนูญด้วย ตรงกันข้ามคนประเภท “ไฮบริด” นี้จะเอาผลพวงของการทำรัฐประหารเข้ามาในการทำงานในฐานะพรรคการเมืองมาต่อยอดให้ยั่งยืนต่อไป
นั่นคือ “พรรคอนาคตใหม่” นั้นต้องการลบล้างผลพวงการทำรัฐประหาร แต่ “พรรครวมพลังประชาชาติไทย” นั้นจะเป็นการต่อยอดของการทำรัฐประหารให้ยั่งยืนต่อไป หรือเปล่า?
เราจะเห็นว่า 2 พรรคที่ตั้งใหม่นี้มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ในขณะที่ “พรรคประชาธิปัตย์” และ “พรรคเพื่อไทย” กลายเป็นพรรคเก่าที่ยืนกอดอกดูพรรคใหม่ 2 พรรคนี้
สำหรับ “พรรครวมพลังประชาชาติไทย” ถ้าคิดว่าจะได้ฐานเสียงจากกปปส.โดยแย่งจากพรรคประชาธิปัตย์ อ.ธิดากลาวว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย! เพราะแกนนำกปปส.ส่วนใหญ่อยู่พรรคประชาธิปัตย์ และนายสุเทพก็มาแบบไม่เต็มตัว มีภาพนายเอนกและนายสุริยะใสซึ่งชูประเด็นเรื่องการปฏิรูป อาจไม่จับใจมวลชนกปปส.ก็ได้
ท้ายสุดอ.ธิดาตั้งข้อสังเกตต่อ “พรรครวมพลังประชาชาติไทย” ว่าทั้ง 3 แกนสำคัญ (สุเทพ-เอนก-สุริยะใส) เป็นคนใกล้ชิดและสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์มาตลอดจนกระทั่งให้อยู่ได้ มาบัดนี้ต้องการจะทำให้อยู่ต่อ แต่พวกผมต้องอยู่ด้วย โดยหวังฐานเสียงทั้งคสช.และกปปส. แต่ในทัศนะอ.ธิดามองว่า ไม่รุ่งหรอก!
บทเรียนจากพรรคมหาชน บทเรียนจากพรรคการเมืองใหม่ ยังไม่เข็ดอีกหรือ? จะทำอะไรต้องทำเอง จะเอาของเพื่อนไม่ได้หรอก และคนไทยไม่ใช่ “มนุษย์ไฮบริด” จะไปทางไหนก็ไปทางหนึ่ง จะน้ำมันก็น้ำมัน ไฟฟ้าก็ไฟฟ้า น้ำก็น้ำ เอามาผสมกันไม่ได้!”
ขอบคุณข้อมูล: UDD News