วันที่ 3 ก.ย.2565 นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือถึงนายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ขอให้ตรวจสอบการกระทำผิดข้อสัญญา ส่อว่าจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของนางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและคณะกรรมการตรวจการจ้าง ตามแบบโครงการที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ทำสัญญาก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ มีเสาไฟพร้อมโคมไฟ L03 บริเวณภายนอกอาคารรัฐสภาจำนวน 97 ต้น มีการกล่าวหาว่าเสาไฟดังกล่าวผิดแบบ มีความพยายามที่จะยินยอมให้ใช้เสาไฟที่ผิดแบบ โดยนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการตรวจการจ้างหลายครั้ง แต่ท้ายที่สุดมีการสั่งให้เปลี่ยนเสาทั้งหมด และขณะนี้มีการแก้ไขเปลี่ยนถูกต้องเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ยังมีการร้องเรียนและส่งภาพถ่ายทั้งขณะติดตั้งเสาไฟที่ผิดแบบและเสาไฟที่แก้ไข พบว่าผู้ที่ทำการติดตั้งดังกล่าวทั้ง 2 ครั้งใส่ชุดพนักงานของบริษัท พาวเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) อย่างชัดเจน และเมื่อตรวจสอบต่อไปในทางลึกจะพบว่าบริษัทนี้ เป็นผู้ยื่นซองประกวดราคาโครงการก่อสร้างอาคารนี้ด้วย แต่กลับมารับงานช่วงโดยอ้างว่าเป็นผู้ชำนาญการเฉพาะซึ่งไม่น่าจะชอบ และโครงการก่อสร้าง
อาคารรัฐสภาแห่งนี้ ยังมีการจัดจ้างสัญญาสาธารณูปโภคและสัญญางานท่อร้อยสาย ซึ่งบริษัทผู้รับจ้างหลักก็รับงานไปทั้ง 2 สัญญา แต่งานทำนองเดียวกันในสัญญาหลักกลับมาจ้างผู้รับเหมาช่วงบริษัทนี้เป็นผู้ชำนาญการเฉพาะ จึงขอให้ตรวจสอบการให้บริษัท พาวเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) กระทำการก่อสร้างเป็นการกระทำผิดสัญญาข้อ 11 เรื่องผู้รับเหมาช่วงหรือไม่ และการกระทำดังกล่าวส่อว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐด้วยหรือไม่ ขณะเดียวกัน นายวิลาศ ยังได้ยื่นหนังสืออีก 1 ฉบับถึงเลขาธิการป.ป.ช.
ขอให้ตรวจสอบการกระทำของคณะกรรมการตรวจการจ้าง กรณีเสาไม้สักประดับอาคาร ซึ่งตามแบบโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่มีเสาไม้สักประดับอาคารจำนวนมากกว่า 4,200 ต้น ที่เชื่อว่ามีการจ่ายเงินงวดเกี่ยวกับเสาไม้สักดังกล่าวแล้ว แต่พบว่าเสาไม้สักมีเชื้อราขึ้นและเสาแตกชำรุดจำนวนมากกว่า 2,000 ต้น จึงทำหนังสือแจ้งเรื่องถึงเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2565 ต่อมาพบว่ามีการแก้ไขโดยเอาแปรงขัดเชื้อราสีดำดังกล่าวออก แต่ยังพบรอยคราบสีดำอยู่ ซึ่งไม่ควรพบเห็นในอาคารสำคัญของประเทศ อีกทั้งรอยแตกร้าวยังคงปรากฎอยู่เหมือนเดิม
จึงขอให้ตรวจสอบว่าการตรวจรับงานดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ มีการทาน้ำมันถูกต้องตามแบบหรือไม่ เพื่อหาผู้รับผิดชอบคือคณะกรรมการตรวจการจ้างและเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรว่าต้องรับผิดหรือไม่อย่างไร
สำหรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับความบกพร่องต่างๆที่ส่อว่ามีการทุจริตของโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ที่นายวิลาศยื่นให้ป.ป.ช.ตรวจสอบ 2 เรื่องล่าสุดนี้นับได้ถึง 24 เรื่องแล้ว โดยยังไม่มีความคืบหน้าใดๆเกี่ยวกับผลการสอบสวน ซึ่งย้อนแย้งกับการประเมินผลงานสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยป.ป.ช.ที่ให้คะแนนว่าเป็นองค์กรที่มีความโปร่งใสและมีคุณธรรมมากที่สุดของประเทศ