หน้าแรกกระบวนการยุติธรรมตร.มอบรางวัล ประชาชนส่งคลิปกล้องหน้ารถ โครงการอาสาตาจราจร รวม 50,000 บาท

ตร.มอบรางวัล ประชาชนส่งคลิปกล้องหน้ารถ โครงการอาสาตาจราจร รวม 50,000 บาท

วันที่ 2 กันยายน 2565 ที่ห้องศรียานนท์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานจราจร (ศจร.ตร.) พร้อมด้วยพล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น., พล.ต.ต.นิธิธร จินตกานนท์ รอง ผบช.น., นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ, คุณกานดา วัฒนายิ่งสมสุข ที่ปรึกษา ฝ่ายการตลาด บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) ผู้แทนสถานีวิทยุพิทักษ์สันติราษฎร์  สวพ.91 และ สถานีวิทยุ จส.100 ร่วมกันแถลงผลการมอบรางวัลและเกียรติบัตร โครงการอาสาตาจราจร ประจำเดือน ก.ค. 65 ให้แก่ เจ้าของคลิปกล้องหน้ารถที่บันทึกอุบัติเหตุและเหตุการณ์ขับขี่ฝ่าฝืนกฎหมายสำคัญ  และส่งให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีตามกฎหมาย รวมจำนวน 10 คลิป เงินรางวัลรวมจำนวน 50,000 บาท  โดยมีบริษัท วิริยะฯ สนับสนุนเงินรางวัล

คลิปรางวัลที่ 1  เป็นคลิปอุบัติเหตุบนถนนพหลโยธิน กรณีรถจักรยานยนต์คันหนึ่งขับขี่แทรกมาชนกับรถจักรยานยนต์ไรเดอร์ และไปชนรถยนต์อีก 2 คันด้วย ขณะเดียวกันผู้ขับขี่จักรยานยนต์คันที่ขี่แทรกมานั้น ได้จับรถจักรยานยนต์ของไรเดอร์ แต่มือไปโดนคันเร่ง ทำให้รถพุ่งไปชนกับรถยนต์คันอื่นได้รับความเสียหาย ผลทางคดีพนักงานสอบสวน สน.พหลโยธิน ได้แจ้งข้อหาแก่ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์คันที่กระทำผิด ข้อหา ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหายและมีผู้ได้รับบาดเจ็บ และชดใช้ค่าเสียหายให้กับรถคันอื่นๆ, คลิปรางวัลที่ 2  เป็นคลิปอุบัติเหตุ บริเวณแยกประชานุกูล ถ.รัชดาภิเษก เหตุการณ์รถยนต์ส่วนบุคคลสีขาวขับมาด้วยความเร็ว ฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดง เฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์กลางแยก ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ได้รับบาดเจ็บ ผลทางคดี พนักงานสอบสวน สน.ประชาชื่น ได้เรียกตัวผู้กระทำผิดมาตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ พบว่าไม่มีปริมาณแอลกอฮอล์ แต่มีความผิดฐานขับขี่ด้วยความเร็วเกินกฎหมายกำหนด ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร และขับรถโดยประมาท เป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหายและมีผู้ได้รับบาดเจ็บ

คลิปรางวัลที่ 3 เป็นคลิปอุบัติเหตุ บริเวณกำแพงเพชร วัดเสมียนนารี รถแท็กซี่ได้สัญญาณไฟเขียวขับผ่านแยกไปตามเส้นทางปกติ แต่มีรถจักรยานยนต์ ฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดง พุ่งชนเข้ากลางลำของรถแท็กซี่ หมวกนิรภัยกระเด็นจากศีรษะ ได้รับบาดเจ็บ พนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง ได้เปรียบเทียบปรับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ในข้อหา ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร และขับรถโดยประมาท เป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบคลิปอุบัติเหตุ มักจะเกิดจากการขับขี่ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร และขับรถเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด  จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยเร่งรัดกวดขันวินัยจราจรในข้อหาที่เป็นปัจจัยในการเกิดอุบัติเหตุอย่างเคร่งครัด และฝากประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎจราจร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่ 5 ก.ย.65 อัตราโทษปรับตามกฎหมายจจราจรจะมีอัตราโทษที่สูงขึ้น  หากขับฝ่าฝืนกฎจราจรและเกิดอุบัติเหตุ อาจถูกปรับสูงสุดถึง 4,000 บาท

รอง ผบ.ตร. เตรียมประสานโรงเรียนถ่ายรูปรถตู้รับ-ส่ง นร.ส่งกลุ่มไลน์ผู้ปกครอง ช่วยเป็นหูเป็นตา หวั่นเกิดเหตุซ้ำ “น้องจีฮุน”

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์  กิตติประภัสร์  รอง ผบ.ตร. เปิดเผยถึงกรณีการเสียชีวิตของน้องจีฮุน อายุ 7 ขวบ ที่เสียชีวิตในรถตู้โรงเรียนเพลินจิตวิทยา อ.พานทอง จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 30 ส.ค.65  ว่า หลังจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ในฐานะที่กำกับดูแลกฎหมาย และการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุอันตรายโดยเฉพาะเด็กนักเรียนที่อยู่ในช่วงเปิดเทอมถึงขั้นเสียชีวิต จะมีคำสั่งไปยังตำรวจทั่วประเทศให้ร่วมบูรณาการกับโรงเรียนในพื้นที่ เพื่อเพิ่มมาตรการดูแลความปลอดภัยการรับ-ส่งนักเรียน โดยวางมาตรการป้องกัน เบื้องต้นแนะนำให้โรงเรียนมีการสอนทักษะหรือคำแนะนำกับเด็กในการช่วยเหลือตัวเองกรณีติดอยู่ในรถ เช่นการบีบแตร การทุบกระจก การใช้มือถือในการขอความช่วยเหลือ  นอกจากนี้จะกำชับในเรื่องของการติดฟิล์มกันความร้อนต้องไม่ติดฟิล์มมืดหรือทึบจนทำให้ไม่สามารถมองเห็นภายในได้  รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีมาช่วย เช่นการให้ครูเวรประจำรถถ่ายรูปก่อนเด็กขึ้นและหลังลงรถ ร่วมถึงบริเวณภายในรถ พร้อมกับส่งภายรายงานไปยังกลุ่มผู้ปกครอง  เนื่องจากในกลุ่มไลน์จะมีทั้งผู้ปกครอง ครู อาจารย์ เจ้าหน้าที่ตำรวจ และพนักงานรักษาความปลอดภัย คอยตรวจซ้ำอีกครั้งเพื่อความรอบครอบของทุกฝ่าย

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมามาตรการในการป้องกันความปลอดภัยของรถโรงเรียนถือว่ามีความรอบครอบอยู่ในระดับหนึ่ง แต่เหตุการที่เกิดขึ้นอาจจะเกิดจากความประมาทส่วนบุคคล ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้ดำเนินคดีไปแล้วทุกราย

รอง ผบ.ตร. เผยกฎหมายจราจรฉบับที่ 13 บังคับใช้ 5 ก.ย.นี้

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานจราจร (ศจร.ตร.) พร้อมด้วย พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. , พล.ต.ต.นิธิธร จินตกานนท์ รอง ผบช.น. ได้ชี้แจ้งการบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.จราจรทางบก ฉบับที่ 13 มีดังนี้ (1.) เพิ่มโทษผู้ขับขี่ที่กระทำผิดซ้ำข้อหาเมาแล้วขับ  กระทำผิดครั้งแรกจะมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000–20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากทำผิดซ้ำภายใน 2 ปี นับแต่วันที่กระทำความผิดครั้งแรก เพิ่มอัตราโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับ 50,000–100,000 บาท และศาลจะลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ (ม.160 ตรี/1 และ 160 ตรี/3) 

(2.) เพิ่มอัตราโทษที่เป็นปัจจัยต่อการเกิดอุบัติเหตุ เป็นปัจจัยเสี่ยง ในการสูญเสียของผู้ขับขี่และผู้ใช้ทาง    2.1 เพิ่มอัตราโทษปรับ เช่น ขับรถเร็วเกินกำหนด ปรับไม่เกิน 4,000 บาท  (โทษเดิม ปรับไม่เกิน 1,000 บาท), ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดง  ปรับไม่เกิน 4,000 บาท (โทษเดิม ปรับไม่เกิน 1,000 บาท), ไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย ปรับไม่เกิน 4,000 บาท (โทษเดิม ปรับไม่เกิน 1,000 บาท), ขับรถย้อนศร   ปรับไม่เกิน 2,000 บาท  (โทษเดิม ปรับไม่เกิน 500 บาท), ไม่สวมหมวกนิรภัย ปรับไม่เกิน 2,000 บาท (โทษเดิม ปรับไม่เกิน 500 บาท), ไม่รัดเข็มขัดนิรภัย ปรับไม่เกิน 2,000 บาท (โทษเดิม ปรับไม่เกิน 500 บาท)

2.2 เพิ่มโทษผู้ขับขี่ที่ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตหรือร่างกายของผู้อื่น อัตราโทษเดิมจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับตั้งแต่ 2,000-10,000 บาท เพิ่มเป็น จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับตั้งแต่ 5,000–20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(3.) กำหนดความผิดเกี่ยวกับการแข่งรถในทาง เพิ่มเติม ดังนี้  3.1 ความผิดฐานพยายามแข่งรถ  กำหนดเพิ่มเติมว่า ผู้ที่ร่วมกลุ่มหรือมั่วสุมในทางหรือสาธารณสถานใกล้ทาง พร้อมด้วยรถตั้งแต่ 5 คันขึ้นไป หากมีเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่ง (ม.134) ดังนี้  มีการนัดหมายเพื่อแข่งรถกันมาก่อน  หรือ รถที่รวมกลุ่มมีการดัดแปลง/ปรับแต่งรถที่มีสภาพไม่ถูกต้องตามกฎหมาย  หรือ มีพฤติการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดอันแสดงให้เห็นว่าจะทำการแข่งรถในทาง ถือว่า “พยายามแข่งรถในทาง” ต้องระวางโทษ 2 ใน 3 ของความผิดฐานแข่งรถในทาง  (การแข่งรถในทาง ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 5,000 –  10,000 บาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ)

3.2 เพิ่มโทษสำหรับผู้จัด และกำหนดโทษใหม่สำหรับผู้โฆษณา ประกาศ ชักชวน ให้มีการแข่งรถ อัตราโทษเดิม จำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 2,000- 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับเพิ่มเป็นโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 10,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ม.134/1), 3.3 กำหนดโทษใหม่สำหรับร้านรับแต่งรถ เมื่อรถนั้นถูกนำไปใช้แข่งรถในทาง ต้องรับโทษในฐานะผู้สนับสนุน คือ ต้องระวางโทษ 2 ใน 3 ของความผิดฐานแข่งรถในทาง  (การแข่งรถในทางระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 5,000- 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ) (ม.134/2)

(4.) กำหนดเรื่องการรัดเข็มขัดนิรภัย 4.1 รถที่ติดตั้งเข็มขัดนิรภัยได้ ผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ต้องรัดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง เช่น รถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถตู้  4.2 สำหรับรถกระบะ ผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ต้องรัดเข็มขัดนิรภัยในที่นั่งตอนหน้า กรณีเป็นรถกระบะสองตอนผู้โดยสารตอนหลัง ต้องรัดเข็มขัดนิรภัย ด้วย หากฝ่าฝืนไม่รัดเข็มขัด ตามข้อ 4.1 และ 4.2 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท

สำหรับข้อกฎหมายข้อบังคับใช้การนั่งบริเวณแคป หรือนั่งท้ายกระบะ  สามารถนั่งได้โดยไม่ต้องรัดเข็มขัดนิรภัย แต่ต้องนั่งไม่เกินจำนวนที่กำหนดในลักษณะที่ปลอดภัย และผู้ขับขี่ต้องขับขี่ด้วยความเร็วตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติประกาศกำหนด  ส่วนประกาศกำหนดที่ชัดเจนอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะแล้วเสร็จภายใน 4 ธ.ค.2565

ส่วนเรื่องที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี สำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมกับ กรมการขนส่งทางบก สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนนประชุมเพื่อกำหนดมาตรฐาน/ลดอัตราภาษีของที่นั่งนิรภัย และวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่ไม่สามารถใช้ที่นั่งนิรภัยได้  เพื่อจัดทำประกาศเรื่องการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กให้แล้วเสร็จภายใน 4 ธ.ค.2565  ซึ่งเรื่องที่นั่งนิรภัยนี้จะยังไม่เริ่มบังคับใช้ในวันที่ 5 ก.ย.2565 แต่จะบังคับใช้เมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้จัดทำประกาศและลงประกาศให้ประชาชนทราบในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

RELATED ARTICLES
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img