พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร. พร้อมด้วย ภญ.สุภัทรา บุญเสริม ผอ.สำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ลงพื้นที่ตรวจค้นบริษัท แกลโล ริช อินเตอร์ จำกัด (Kalow Rich Inter Company Limited) ตั้งอยู่เลขที่ 673 ซอยจรัญสนิทวงศ์ 75 แยก 7 แขวงและเขตบางพลัด กทม. หลังสืบทราบว่าเป็นบริษัทสั่งผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่ตรวจพบสารไซบูทรามีน ซึ่งเป็นสารอันตราย
บริษัทดังกล่าว ลักษณะเป็นอาคารพาณิชย์ ความสูง 3 ชั้น จากการเข้าตรวจค้น พบผลิตภัณฑ์ ยี่ห้อ แกลโล จำนวน 700 กล่อง เจ้าหน้าที่จึงยึดไว้ตรวจสอบ โดยมีนายมงคล ศรุตวราพงศ์ อายุ 39 ปี รับเป็นผู้ดูแลบริษัท จากการสอบถามนายมงคล ได้ความว่า ตนรับดูแลผลิตภัณฑ์นี้มา 3 ปีแล้ว ปกติสินค้าจะมาส่งทุกๆสัปดาห์ รอบละ 3,000 กล่องเล็ก ตนเองมีหน้าที่ดูแลสินค้าเท่านั้น ส่วนขั้นตอนอื่นไม่ทราบรายละเอียด
พล.ต.อ.วิระชัย กล่าวว่า สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบทราบว่า บริษัทแห่งนี้เป็นร้านค้าขายปลีกอาหารเสริม และที่เก็บสต็อกสินค้า โดยมีนายเจนสรรค์ เตชะสุริยะนันท์ เป็นคณะกรรมการผู้จัดการ จากการเข้าตรวจค้นพบผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ยี่ห้อ แกลโล จำนวน 700 กล่อง มูลค่ากล่องละ 1,950 บาท รวม 1,365,000 บาท สำหรับกรณีที่เพจแกลโล ชี้แจงว่าผลิตภัณฑ์ล็อตที่ตำรวจตรวจสอบ เป็นผลิตภัณฑ์ปลอมนั้น เชื่อว่าเป็นหนึ่งในแผนการต่อสู้คดี ซึ่งตำรวจมีวิธีการตรวจสอบข้อเท็จจริงอยู่
ด้าน ภญ.สุภัทรา กล่าวว่า นอกจากสารไซบูทรามีนที่ อย.เพิกถอน และไม่มีอยู่ในประเทศไทยแล้ว ยังพบสาร 2 ชนิดที่อยู่ในอาหารเสริมยี่ห้อนี้ด้วย คือ สารฟลูออกซิทีน ที่รักษาโรคซึมเศร้า ทำให้ไม่อยากอาหาร และสารออริสแตท ซึ่งใช้ดักจับไขมัน โดยยาทั้ง 2 ชนิดเป็นยาที่ใช้รักษาทางการแพทย์ หลังจากนี้จะต้องตรวจสอบว่ามีการนำยามาจากที่ใด เนื่องจาก อย. อนุญาตให้บางโรงงานใช้เท่านั้น และยืนยันว่าสารทั้ง 2 ชนิด ไม่อนุญาตให้ใส่ในอาหารเสริม อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบพบว่าก่อนหน้านี้เจ้าของผลิตภัณฑ์ได้มีการขออนุญาตถูกต้อง แต่พบว่าในปี 2560 มีการผสมสารดังกล่าวไปด้วย หลังจากนี้ทางอย.จะตรวจสอบว่ามีสารปะปนอะไรบ้าง ปริมาณเท่าใด เพื่อจะดำเนินคดีกับเจ้าของต่อไป
“ขอฝากเตือนถึงประชาชนว่า ทางอย.ไม่เคยมีการรับรองว่าผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีการอ้างสรรพคุณว่ากินแล้วผอมได้ใน 3 – 7 วัน และใช้ชื่อบ่งบอกสรรพคุณเกี่ยวกับสลิม หากพบผลิตภัณฑ์ที่มีการโฆษณาแบบนี้ให้ตั้งข้อสงสัยว่าเป็นอันตราย รวมถึง ตั้งข้อสังเกตอาหารเสริมที่บริโภคว่า ไม่ควรมีผลข้างเคียง เช่น อาการใจสั่น ไม่อยากอาหาร” ภญ.สุภัทรา กล่าวทิ้งท้าย
ต่อมา เวลา 10.30 น.พล.ต.อ.วิระชัย พร้อมคณะ และเจ้าหน้าที่ทหาร ร้อย.รส.เขตภาษีเจริญ (ป.9 พัน.9) ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นจุดที่ 2 ที่บ้านเลขที่ 529/183 ภายในหมู่บ้าน ไลฟ์บางกอกบลูเลอวาร์ด แขวงบางแวก เขตภาษีเจริญ กทม. หลังทราบว่าเป็นแหล่งแพ็คสินค้าของบริษัท แกลโล ริชฯ เมื่อถึงบ้านหลังดังกล่าว ไม่พบผู้อาศัย เจ้าหน้าที่จึงขอให้นิติบุคคลหมู่บ้าน เปิดบ้านให้ เพื่อเข้าทำการตรวจค้น ใช้เวลาประมาณ 30 นาที
พล.ต.อ.วิระชัย กล่าวว่า จากการเข้าตรวจค้นพบเป็นสถานที่เก็บสินค้า มีกล่องเปล่าที่ใช้บรรจุผลิตภัณฑ์อาหารเสริม จำนวน 268,200 กล่อง ราคาขายกล่องละ 680 บาท หากขายครบตามจำนวนกล่องที่มีอยู่ จะขายได้กว่า 182,376,000 บาท คาดว่าของน่าจะมีมากกว่านี้ แถมมีการใช้เครื่องหมายฮาลาลปลอม ซึ่งเป็นเครื่องหมายยืนยันว่าคนอิสลามสามารถทานได้ นอกจากนี้ ยังพบรายชื่อดาราที่เป็นพรีเซ็นเตอร์ และสคริปคำพูดบรรยายสรรพคุณ รวมถึง เงื่อนไขการทำแคมเปญและโฆษณาของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว โดยจะได้รับผลประโยชน์จากยอดไลค์ที่ได้ ดังนั้น ผู้เขียนสคริป หรือดารานักแสดง จะต้องรับผิดชอบคำพูดของตัวเอง เพราะส่งผลให้ประชาชนคล้อยตามและเลือกซื้อสินค้า สำหรับสถานที่แห่งนี้จดแจ้งเป็นชื่อของบริษัท แกลโล ริช อินเตอร์ จำกัด ซึ่งมี นายเจนสรรค์ เป็นเจ้าของ คาดว่าทำมานาน 2-3 ปี ขณะนี้จะทำการตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวส่งออกขายต่างประเทศหรือไม่ โดยส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินการและสอบปากคำผู้ที่เกี่ยวข้องไปบางส่วนแล้ว
ในขณะที่ ภญ.สุภัทรา กล่าวว่า ขณะนี้ ผลิตภัณฑ์ยี่ห้อแกลโล มีความผิด เรื่องการโฆษณาเกินจริง ตาม พ.ร.บ.อาหาร 2522 หรือการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งในหลักการโฆษณาแล้ว คำพูด สรรพคุณที่ใช้ จะต้องขออนุญาตกับอย.ก่อน และคำที่ใช้ต้องเป็นไปตามที่อย.อนุญาตเท่านั้น ทั้งนี้ ขอฝากถึงผู้บริโภคที่เป็นผู้หญิงหลังคลอด หากทานอาหารเสริมลดความอ้วน จะส่งผลอันตรายต่อร่างกายต่อตัวผู้บริโภคและบุตร เนื่องจาก บุตรยังต้องทานนมจากแม่ เมื่อแม่ทานอาหารเสริม ที่มีส่วนผสมของยาอันตราย น้ำนมแม่ก็จะมีส่วนผสมของยา ซึ่งอาจจะทำให้เด็กพิการได้
ด้าน น.ส.อัจฉรา จุลตาลานนท์ เจ้าหน้าที่นิติบุคคลหมู่บ้านดังกล่าว กล่าวว่า นายพัชรภัทร (ไม่ทราบนามสกุล) เป็นผู้ติดต่อขอซื้อบ้านหลังนี้เมื่อประมาณ 4-5 ปีที่แล้ว โดยเปิดบ้านเป็นบริษัท ซึ่งทางนิติบุคคลเคยส่งหนังสือไปแล้วว่าหมู่บ้านแห่งนี้เปิดสำหรับที่พักอาศัยเท่านั้น ห้ามทำธุรกิจในเชิงพาณิชย์เด็ดขาด แต่บ้านหลังนี้ก็ทำธุรกิจเรื่อยมา ทางนิติบุคลได้ตักเตือนด้วยวาจาทุกครั้ง กระทั่งเจ้าของบ้านมาแจ้งว่าจะทำการปรับปรุงบ้านเป็นเวลา 1 เดือน โดยวางเงินมัดจำ 20,000 บาท ก่อนจะขนเฟอร์นิเจอร์ออกไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังตรวจค้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยึดผลิตภัณฑ์ที่พบทั้งหมดไปตรวจสอบหากพบสารต้องห้ามที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ก็จะดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดทันที