ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวานนี้ (14 พ.ค.) โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการที่มีการแชร์ข้อมูลในโลกออนไลน์ เรื่องการเกษียณอายุราชการตามแผนปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 6 เม.ย.2561 โดยระบุว่า ผู้ที่จะเกษียณ ในปี 2562 และ 2563 ให้ไปเกษียณเมื่ออายุ 61 ปี ผู้ที่จะเกษียณ ปี 2564 และปี 2565 ให้ไปเกษียณเมื่ออายุ 62 ปี ผู้ที่จะเกษียณ ปี 2566 และ ปี 2567 ให้ไปเกษียณเมื่ออายุ 63 ปี และหลังจากนั้นให้เกษียณอายุราชการ 63 ปี ทั้งหมด นั้น
“ข้อมูลดังกล่าวไม่ถูกต้อง เพราะแท้ที่จริงเป็นเพียงข้อเสนอในแผนปฏิรูปประเทศด้านสังคม ซึ่งตัวแผนมีผลบังคับใช้แล้วจริง แต่ในทางปฏิบัติจะมีผลก็ต่อเมื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปกำหนดรายละเอียด ปรับแก้กฎหมาย และประกาศบังคับใช้” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุต่อไปว่า ต่อเรื่องดังกล่าว พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำว่า ข้อเสนอนี้เกิดจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม ที่อยากให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้ ประกอบกับผู้สูงอายุสมัยนี้เมื่อเกษียณอายุแล้วแต่ก็ยังมีสุขภาพแข็งแรง และมีศักยภาพในการทำงานอยู่ จึงเสนอให้ขยายอายุราชการออกไป อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในเรื่องนี้ คือ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ซึ่งไม่ได้อยู่ในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม ก็จะต้องรับไปศึกษาและพิจารณาถึงความเป็นไปได้ โดยจะมีผลบังคับใช้จริงเมื่อมีประกาศจากสำนักงาน ก.พ. ออกมา
นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้ สำนักงาน ก.พ. และส่วนราชการต่าง ๆ ชี้แจงทำความเข้าใจข้อเท็จจริงและความคืบหน้าของการดำเนินงานแก่ข้าราชการและบุคลากรของรัฐ รวมทั้งพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยไม่อยากให้บุคลากรของรัฐเป็นกังวลหรือตื่นตระหนก เพราะในทางปฏิบัติจะต้องดูความเหมาะสมของลักษณะงานด้วย นอกจากนี้ข้อเสนอบางเรื่องก็ยังไม่ถือเป็นการผูกมัดให้ต้องดำเนินการทันที เช่น การตั้งหรือยุบเลิกหน่วยงานรัฐ และงบประมาณที่จะใช้ในการปฏิรูปแต่ละด้าน เป็นต้น
ทั้งนี้ ขั้นตอนต่อไปเมื่อหน่วยงานที่รับผิดชอบแต่ละเรื่องพิจารณารายละเอียดทั้งหมดแล้ว เรื่องใดที่สามารถทำได้ก็จะดำเนินการตามขั้นตอน ส่วนเรื่องใดที่อาจติดขัดในข้อกฎหมาย หรือต้องหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ข้อสรุปก็จะพูดคุยกัน จากนั้นสามารถชี้แจงเหตุผลไปที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์  ซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ให้ปรับปรุงแก้ไขแผนได้ ส่วนคณะกรรมการปฏิรูปประเทศจะยังคงทำหน้าที่ต่อไปอีก 4 ปี เพื่อกำกับ ติดตาม ผลักดันให้การปฏิรูปประเทศเป็นไปตามแผน โดยสอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละช่วงและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุ