เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2565 ที่ห้องประชุมพะยูน กรมประมง พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะประธานคณะทำงานเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบ ควบคุม และเฝ้าระวัง การทำประมง IUU เป็นประธานในการประชุมคณะทำงาน ครั้งที่ 3/2565โดยมีหน่วยงานเข้าร่วมประกอบด้วย ศูนย์รักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) กรมศุลกากร กรมประมง กรมเจ้าท่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และกรมการจัดหางานที่ประชุมวันนี้ ดำเนินการใน 3 ประเด็นสำคัญ 1.) การพิจารณาคำร้องขอของเรือ ป.อันดามัน 2ที่บรรทุกน้ำมันเขียวกว่า 5 แสนลิตร และจมบริเวณ จ.ชุมพร เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2565 นั้น ต่อมากรมเจ้าท่าได้ออกคำสั่งให้เจ้าของเรือทำการกู้เรือ แต่เจ้าของเรือแจ้งกรมเจ้าท่าว่า ไม่มีความประสงค์จะกู้เรือ ทำให้เกิดข้อสงสัยกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องว่า เรือน้ำมันลำนี้ เป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูงหลายร้อยล้านบาท แต่เจ้าของเรือกลับไม่มีความต้องการที่จะนำทรัพย์สินนั้นมาซ่อมแซมเพื่อใช้ประโยชน์ ประกอบกับมีข้อมูลทางพฤติกรรมของเรือที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมายหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 พระราชบัญญัติเรือไทย พ.ศ. 2481 และพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 ที่ประชุมจึงเห็นว่าข้อเสนอของเจ้าของเรือไม่สมเหตุผล อาจมีเจตนาแอบแฝง จำเป็นที่เจ้าหน้าที่ต้องสืบสวนแสวงหาพยานหลักฐานต่างๆ เพิ่มเติม
พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ฯ จึงให้กรมเจ้าท่าใช้อำนาจสั่งเจ้าของเรือให้ดำเนินการกู้เรือของตนเองโดยทันที หากมีเจตนาประวิงเวลา ให้เจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่าร่วมกับชุดปฏิบัติการ IUU Hunter บังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด
2.) ตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558′ กำหนดให้เรือประมงขนาดตั้งแต่ 30 ตันกรอสขึ้นไปต้องติดตั้งระบบติดตามเรือประมง VMS จึงมีเรือประมงขนาดต่ำกว่า 30 ตันกรอส ที่ไม่มีการติด VMS และใช้เครื่องมือประสิทธิภาพสูง เช่น อวนลากต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่ 612 ลำ และเรือคราดหอย จำนวน 208 ลำ ได้รับการร้องเรียนจากชาวประมงจำนวนมาก ว่ามีพฤติกรรมเข้ามาทำประมงในเขตทะเลชายฝั่ง รวมถึงการขนถ่ายแรงงาน
พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ฯ จึงสั่งการให้ชุดปฏิบัติการ IUU Hunter ร่วมกับ กองตรวจการประมง และกองตรวจสอบเรือประมง ดำเนินการติดตาม ตรวจสอบ ควบคุม และเฝ้าระวัง เรือประมงกลุ่มนี้อย่างเข้มข้น ทั้งการตรวจที่ท่าเทียบเรือและการตรวจในทะเล หากพบการกระทำผิดให้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด เนื่องจากพื้นที่เขตทะเลชายฝั่ง เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน การให้เรือประมงเครื่องมือประสิทธิภาพสูง ลักลอบเข้ามาทำการประมงจึงเป็นการทำลายความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ยิ่งไปกว่านั้นเรือประมงกลุ่มนี้ กฎหมายมิได้ให้ติดระบบติดตามเรือ (VMS) ทำให้องค์กรภาคประชาสังคมแจ้งข้อมูลว่า มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการขนถ่ายแรงงาน แรงงานบังคับ ไปจนถึงการค้ามนุษย์
3.) ตามที่เมื่อวันที่ 7 มกราคม 65 พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ฯ ได้สั่งเร่งรัดให้กรมประมงดำเนินการตามคำพิพากษาฎีกาเลขที่27812/2562 และ 816/2562 ระหว่าง กรมประมง โจทก์ นายทวี แพใหญ่ และนายบุญชู แพใหญ่ จำเลย กรณีไม่มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือจากภาครัฐเนื่องจากเรือประมงของตนเองได้รับความเสียหายซ่อมแซมไม่ได้ ทำให้จำเลยต้องชำระเงินคืนภาครัฐ รวมกันประมาณ10,224,571.61 บาท แต่กรมประมงยังไม่สามารถบังคับคดีได้ทั้งที่คำพิพากษาศาลฎีกาได้ล่วงมากว่าสามปีแล้ว นอกจากนั้นจำเลยทั้งสองมีพฤติกรรมประวิงเวลาในการชำระเงินคืน โดยขอจ่ายเฉพาะเงินต้นโดยปลอดดอกเบี้ย และให้ลดยอดเงินที่ต้องจ่ายตามคำพิพากษาของศาลลงครึ่งหนึ่งของยอดเงินทั้งหมด และผ่อนชำระเดือนละไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท พร้อมทั้งขอให้ขยายระยะเวลาผ่อนชำระคืนเงินตามจำนวนที่กรมประมงได้พิจารณาแล้วภายใน 5 ปี
พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ เห็นว่ากรณีนี้จำเป็นต้องเร่งรัดการบังคับใช้กฎหมาย เพราะมีคำพิพากษาศาลฎีกาถึงที่สุดแล้ว อีกทั้งเป็นการทำความเสียหายให้กับรัฐถึงกว่า 10 ล้านบาท หากไม่เคร่งครัดในการบังคับใช้กฎหมายกับกรณีนี้ ย่อมถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ ส่งผลให้เกิดความรู้สึกเหลื่อมล้ำในสังคมเพิ่มมากขึ้น จนมีวาทกรรมที่แพร่หลายว่า คุกมีไว้ขังคนจน จึงประสานงานร่วมกับอธิบดีกรมบัญชีกลางในการดำเนินการ และได้รับการยืนยันจากกรมบัญชีกลางเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 ตามหนังสือกรมบัญชีกลาง ด่วนที่สุด ให้กรมประมงดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาต่อไป ดังนั้นจึงมอบหมายให้กรมประมงบังคับคดีให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน และให้กรมเจ้าท่าร่วมกับชุดปฏิบัติการ IUU Hunter ตรวจสอบเรือประมงตามคำพิพากษาให้เสร็จสิ้นภายใน 15 วัน หากพบว่ามีการกระทำผิดกฎหมายให้บังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด
พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผช.ผบ.ตร. ในฐานะประธานคณะทำงานเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบ ควบคุม และเฝ้าระวัง การทำประมง IUU กล่าวย้ำว่า “ท่านนายกรัฐมนตรี และท่านรองนายกรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะประธานกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ได้กำชับให้หน่วยงานของรัฐบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง ขณะเดียวกันต้องส่งเสริมและอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่ให้กับพลเมืองดี ดังนั้น ในภาคประมง การแยกน้ำเสียออกจากน้ำดีจึงเป็นสิ่งที่ผมมุ่งมั่นจะดำเนินการให้สำเร็จโดยเร็วที่สุด ผมขอขอบคุณที่พี่น้องชาวประมงแทบทั้งหมดเข้าใจ และยินดีให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ เพราะหากเจ้าหน้าที่สามารถนำน้ำเสียออกจากวงการประมงได้ ชาวประมงทุกคนก็จะสามารถยืนหยัดในอาชีพได้อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ไม่ถูกเหมารวมว่าเป็นผู้ทำลายทรัพยากร เป็นแหล่งแรงงานบังคับ เป็นแหล่งค้ามนุษย์ ส่วนภาครัฐก็จะต้องมีนโยบายหรือมาตรการต่าง ๆ ในการส่งเสริมให้อาชีพชาวประมงมีความมั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อบรรลุเป้าหมายประมงยั่งยืนร่วมกัน”
ในการนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอความร่วมมือพี่น้องสื่อมวลชน ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ทราบถึงการดำเนินการและการกระทำผิดที่เกี่ยวข้องกับการประมงดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนโดยทั่วไปได้ทราบถึงลักษณะการทำประมงที่เป็นความผิดตามกฎหมาย นอกจากนี้หากประชาชนพบเห็นการกระทำผิดในลักษณะดังกล่าว สามารถแจ้งข้อมูลมายัง ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.) โดยตรง ช่องทางสายด่วน 1599 หรือ www.humantrafficking.police.go.th หรือ ผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/TICAC2016 หรือ LineOA: @HUMANTRAFFICKTH หรือ TWITTER: @safe_dek หรือช่องทางใหม่ล่าสุดคือ การสแกน QRCODE เพื่อกรอกแบบฟอร์มในการแจ้งเหตุและเบาะแสการกระทำผิดดังกล่าวเพื่อแจ้งเบาะแสในการปราบปรามการกระทำผิดต่อไป