นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย เปิดเผยถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กล่าวในตอนหนึ่งในงานวันแรงงานแห่งชาติ พ.ศ.2561 ว่า “ตนก็เหนื่อยทํางานเหมือนกันทั้งคิดทั้งทํา ไม่รู้จะไปขึ้นค่าแรง กับใคร ตนมีเงินเดือนน้อยกว่านายกฯ คนอื่นในอาเซียน แต่ตนก็ไม่เรียกร้องอะไร มีเท่าไหร่ใช้เท่านั้น” ว่า ปกติของการจ้างงาน ผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้าง ต้องยินยอมพร้อมใจรับในเงื่อนไข และรายละเอียดการทำงานกันทั้งสองฝ่าย แต่กรณีของพล.อ.ประยุทธ์ ต้องถามว่า เสียงส่วนใหญ่ของคนทั้งประเทศยินยอมให้เข้ามาทำงานเป็นนายกฯและหัวหน้า คสช.หรือไม่ เพราะเท่าที่เห็นขนาดพวกที่กวักมือเรียกให้เข้ามายังทะเลาะกันไม่เลิก หาคนรับผิดชอบไม่ได้

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อไปว่า กรณีผู้รับจ้างไม่พึงพอใจในค่าตอบแทน แถมทุกข์ใจ ตรอมใจ ในการทำหน้าที่ เขาต้องรีบลาออกไปหางานใหม่ แต่ท่านนอกจากจะไม่รีบออก ยังกลับเตรียมการหาสารพัดวิธีในการอยู่ในตำแหน่งที่ไม่มีความสุขนี้ต่อไปให้ยาวนานที่สุด  แม้แต่วิธีการที่จะถามคนทั้งประเทศว่า ต้องการให้ท่านอยู่ในตำแหน่งต่อหรือไม่ ท่านก็ยังไม่สามารถทำให้ประชาชนเชื่อมั่นว่า จะนำพาประเทศไปสู่การเลือกตั้งหรือไม่

“ตำแหน่งนายกฯไทยได้ค่าตอบแทน 125,590 บาท ตำแหน่งหัวหน้า คสช. ได้อีก 125,590 บาท รวม 2 ทาง ได้ไป 251,180 บาทต่อเดือน 4 ปี รับไป 12 ล้านบาทเศษหรือไม่ ถ้าเป็นตามนี้ รายได้ของท่านถือเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน เป็นรองแค่สิงคโปร์ ซึ่งไม่ใช่เงินเดือนที่ต่ำสุดในอาเซียน  แต่ที่ต่ำสุดอาจเป็นอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทย หรือจีดีพีไทย ที่โตต่ำสุดในอาเซียน แม้แต่เวิลด์แบงก์ยังเป็นห่วง” นายอนุสรณ์ กล่าว

นายอนุสรณ์ กล่าวด้วยว่า แล้วผลการทำงานของท่าน คิดว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินหรือไม่ มีหน่วยงานใด ตรวจสอบ สามารถวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของท่านได้หรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบผลงานกับผลตอบแทน ถือว่า ท่านโชคดีกว่าคนไทยคนอื่นๆ  ผู้ใช้แรงงานไทยทั่วไปได้ค่าตอบแทนวันละ 300 กว่าบาท ในยุคข้าวยากหมากแพง  แต่ตำแหน่งของท่านที่สวมหมวกถึง 2 ใบ ถือว่า มั่นคงและมีหลักประกันที่ดีกว่าคนอื่นๆ  หากท่านอยากจะไปขอขึ้นค่าแรงควรไปขอกับประชาชนโดยวิธีการเลือกตั้ง เชื่อว่า ถึงวันนั้นประชาชนจะเป็นผู้ให้คำตอบว่า ระหว่างการต่อระยะเวลาทดลองงานกับเลิกจ้าง อย่างไหนควรจะเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้น