หน้าแรกกระบวนการยุติธรรม“โฆษก ตร.” เผย ‘ผบ.ตร.’ สั่งกำชับให้ทุกโรงพัก รับแจ้งความ รับคดีไซเบอร์ ขณะที่ “รอง โฆษก ตร.” แนะการใช้บัตรเครดิต...

“โฆษก ตร.” เผย ‘ผบ.ตร.’ สั่งกำชับให้ทุกโรงพัก รับแจ้งความ รับคดีไซเบอร์ ขณะที่ “รอง โฆษก ตร.” แนะการใช้บัตรเครดิต ให้ปลอดภัย

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2564 พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (โฆษก ตร.) เปิดเผยว่า พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้กำชับการปฏิบัติหน้าที่ในการทำคดีความผิดบนโลกไซเบอร์ ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนเป็นวงกว้าง เช่น การฉ้อโกง, การเจาะข้อมูลธนาคาร หรือขโมยข้อมูลบัตรเครดิตของผู้เสียหายฯลฯ  โดยกำชับให้ พนักงานสอบสวน ผู้กำกับการและหรือหัวหน้าสถานี ตลอดจนทุกหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่รับแจ้งความว่า  เมื่อผู้เสียหายมาแจ้งความ ให้สอบปากคำและลงบันทึกประจำวันทุกกรณี  รวมทั้งห้ามแนะนำ ชักจูง ให้ผู้เสียหายไปแจ้งความที่อื่น ไม่ว่าพนักงานสอบสวนจะมีประเด็นข้อสงสัยในเรื่องเขตอำนาจการสอบสวน หรือประเด็นข้อกฎหมายอื่นใดก็ตาม

ในกรณีจำเป็นต้องดำเนินการอายัดบัญชี อายัดทรัพย์สิน ขอเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมจากผู้แจ้งหรือจากหน่วยงานใดก็ตาม ก็ให้ดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ในทันทีหลังจากที่ได้บันทึกคำให้การพร้อมการลงบันทึกประจำวันแล้ว

ขณะเดียวกันให้ทุกกองบังคับการ (บก.) จัดตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนคดีความผิดที่ใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางในการกระทำผิด มีหน้าที่รับผิดชอบประสานงานให้คำแนะนำกับพนักงานสอบสวน ผู้กำกับการ หัวหน้าสถานี หรือเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเสียเองในคดีที่พนักงานสอบสวนในสังกัดได้รับแจ้งไว้

โฆษก ตร. ยังกล่าวอีกว่า ในการนี้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) เป็นผู้ควบคุมการปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อเป็นการให้บริการประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ

ตร. แนะนำ วิธีการลดความเสี่ยงจากการใช้ “บัตรเครดิต-เดบิต” ชำระเงินในระบบออนไลน์

ด้าน พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ตามที่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้มีนโยบายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนรู้เท่าทันถึงอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการสืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดนั้น

จากที่มีกรณีพี่น้องประชาชนจำนวนมากได้ตรวจสอบพบว่ามีการทำรายการที่ผิดปกติ กับบัตรเครดิต/บัตรเดบิต ของตน โดยที่เจ้าของบัตรไม่ได้เป็นผู้ทำรายการ และกรณีดังกล่าวกำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลของทางธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ เพื่อหาสาเหตุที่เกิดขึ้น เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะได้ประสานข้อมูลเพื่อทำการสืบสวนสอบสวนหาต้นตอของเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดต่อไป

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอให้คำแนะนำกับพี่น้องประชาชน ในการลดความเสี่ยงและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น โดยสามารถแยกได้เป็น 2 วิธีการหลักคือ วิธีทางออนไลน์ และวิธีทางออฟไลน์ ดังนี้

1. วิธีทางออนไลน์

ไม่ผูก บัตรเครดิต/เดบิต กับเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันที่ไม่น่าเชื่อถือ เพราะเสี่ยงต่อการที่ข้อมูลบัตรจะรั่วไหล หรือถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด

หากจำเป็นต้องนำ บัตรเครดิต/เดบิต ไปผูกข้อมูล ควรจะกำหนดวงเงินของบัตรที่ทำการผูกข้อมูลให้น้อยที่สุดและเหมาะสมกับการใช้งาน เพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น และเป็นการจำกัดวงเงินความเสียหายหากกรณีเกิดปัญหาขึ้น

สมัครบริการกับทางธนาคารหรือสถาบันทางการเงิน ให้ส่งข้อความแจ้งเตือน (SMS Alert)เมื่อมีการทำธุรกรรมผ่าน บัตรเครดิต/เดบิต เพื่อให้เราสามารถตรวจสอบธุรกรรมที่ผิดปกติได้รวดเร็ว

2. วิธีทางออฟไลน์

– นำสติกเกอร์ หรือวัตถุอื่น ๆ มาปิดบังหมายเลขหลังบัตรเครดิต (CVV)  เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่น เช่น พนักงานห้างสรรพสินค้า พนักงานสถานีบริการน้ำมันฯลฯ นำหมายเลขดังกล่าวพร้อมข้อมูลหน้าบัตรไปใช้ให้เกิดความเสียหาย

– หมั่นตรวจสอบรายการธุรกรรมของบัตรของตนอย่างสม่ำเสมอ หากมีรายการธุรกรรมที่ผิดปกติ ควรแจ้งทางธนาคารทราบ เพื่อทำการอายัดบัตร และตรวจสอบการทำธุรกรรม

ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนพบว่ามีรายการธุรกรรมที่ผิดปกติ ให้รีบแจ้งทางธนาคารเพื่อทำการอายัดบัตร และรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจทั่วประเทศ  โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 191 หรือ สายด่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

RELATED ARTICLES
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img