นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และอดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.เพียงฉบับเดียว ว่า การที่สนช.ไม่ยื่นตีความร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.เพราะสนช.คงกังวลว่าอาจถูกมองว่าเป็นกลไกหนึ่งที่ทำให้ยื้อการเลือกตั้งและทำให้กระทบต่อโรดแมป
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.นั้น เราต้องดูว่า หากสนช.ไม่ยื่นตีความแล้ว ใครจะเป็นผู้ยื่นได้บ้าง ซึ่งจะมีขั้นตอนหนึ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นผู้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ในขั้นตอนนั้นตนมองว่านายกฯสามารถยื่นตีความได้ แต่ถ้าประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้ว มีผู้ได้รับผลกระทบ และมีการยื่นตีความอีกจะทำอย่างไร ตรงนี้คือสิ่งที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ก็เป็นกังวล ถึงได้บอกให้สนช.ยื่นทั้ง 2 ฉบับ จะได้ไม่มีปัญหาในภายหลัง ซึ่งหากมีปัญหาในภายหลังก็อาจถูกมองว่า ทำให้ทุกอย่างยืดไปอีก มาถึงขณะนี้สนช.ต้องยอมรับว่าทำกฎหมายด้วยความไม่รอบคอบ ไม่มีความเข้าใจกับกติกาต่างๆสุดท้ายแล้วก็เป็นการโยนเผือกร้อนให้กับพล.อ.ประยุทธ์เสียเอง
“การที่สนช.ยื่นตีความกฎหมายส.ว.ฉบับเดียว ผมจะไม่ไปกล่าวหาว่าสนช.มีทฤษฎีการสมคบคิดกับใครหรือไม่ แต่ผมคิดว่าการทำหน้าที่ของสนช.กับแม่น้ำแต่ละสายสร้างปัญหาตลอดเวลา ทำให้เกิดความไม่มั่นใจว่าจะเดินตามโรดแมป ทำให้กระทบกับความเชื่อมั่นของคสช.เอง สนช.มีหน้าที่หลักคือทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งขั้นตอนก็ต้องรับฟังความเห็นผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย มาถึงขณะนี้สนช.ต้องยอมรับว่าทำกฎหมายด้วยความไม่รอบครอบ ไม่มีความเข้าใจกับกติกาต่างๆ การยื่นส่งตีความทั้งที่มีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายแล้ว แต่ยังมีประเด็นที่ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ บอกได้คำเดียวว่ามันผิดธรรมชาติมากๆ ส่งผลกระทบต่อส่วนรวมอีกด้วย นายมีชัยจึงอยากให้ตีความให้ชัด แต่สนช.ก็กระอักกระอ่วนกลัวว่าจะถูกหาว่าทำให้การเลือกตั้งยืดออกไปอีก สุดท้ายแล้วผมเกรงว่าจะเป็นการโยนเผือกร้อนให้กับพล.อ.ประยุทธ์เสียเอง” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
พร้อมกับเสนอทางออกว่า คนที่จะแก้ปัญหาตรงนี้คือพล.อ.ประยุทธ์ โดยต้องอย่าทำกฎหมายมีปัญหา และต้องไม่มีอะไรไปกระทบโรดแมป ถ้าต้องยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้วเกรงว่าจะกระทบโรดแมป ตนแนะนำให้ยกเลิกในร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ประเด็นที่กำหนดให้มีผลบังคับใช้กฎหมาย 90 วัน หลังประกาศราชกิจจานุเบกษาออกไปเสียก่อน พล.อ.ประยุทธ์ บอกอะไรสนช.ก็ทำตาม ไม่ต้องบอกว่าบังคับหรือสั่งการสนช.ไม่ได้ แต่นายกฯสามารถบอกได้ว่าเป็นนโยบายว่าเรื่อง 90 วันนี้ไม่จำเป็นแล้ว สนช.ก็จะได้เข้าใจ เพราะการยืดเวลา 90 วัน เป็นผลกระทบอย่างมากโดยเฉพาะการกำหนดส.ส.เขตเลือกตั้ง เรื่องนี้แม่น้ำ 5 สายสามารถคุยกันได้ ตนไม่อยากให้ใช้มาตรา 44 หากพล.อ.ประยุทธ์ต้องการความเชื่อมั่นต้องทำและแก้สถานการณ์นี้ให้ได้ แต่ถ้าไม่ทำ สิ่งที่ประชาชนเขาคิดว่ามีการสมคบคิดกันก็อาจจะเป็นไปได้จริง