ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ถึงกระแสข่าวการจัดตังพรรคพลังประชารัฐว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรสักอย่างกับพรรคพลังประชารัฐ ก็ดูจากหนังสือพิมพ์
เมื่อถามว่า ถ้าจำเป็นต้องตัดสินใจ จะเลือกพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ และจะรับนั่งเก้าอี้ประธานที่ปรึกษาด้วยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ยังไม่รู้เหมือนกัน และวันนี้ก็ยังไม่เห็นมีใครเชิญตนไปนั่งเก้าอี้ประธานที่ปรึกษาพรรคเลย มีแต่พูดกันไป และตนจะตัดสินใจอย่างก็ไม่ทราบเช่นกัน ขอเวลาทำงานไปก่อน การเมืองยังมีเวลาว่ากันต่อไป
เมื่อถามถึงกรณีที่พรรคการเมืองใหม่ประกาศสนับสนุนให้เป็นนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอบว่า ก็มี 2 ฝ่ายเสมอ คือฝ่ายหนึ่งต้องการปฏิรูป อีกฝ่ายไม่ต้องการปฏิรูป หรือฝ่ายหนึ่งต้องการให้ทุกอย่างกลับไปเหมือนเดิม ก็จะมีความวุ่นวายแบบเดิมๆ อีกฝ่ายไม่ต้องการให้เกิด สรุปก็ไม่ความพอดีสักอย่าง ก็เป็นตัวชี้ว่า อนาคตข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้นมา ซึ่งมันก็ไม่แน่ อาจจะเกิดหรือไม่เกิดก็ได้ เป็นเรื่องที่ประชาชนต้องติดตามความเคลื่อนไหวของแต่ละพรรคการเมือง ในขณะนี้การออกมาพูดจาของพรรคการเมือง และนักการเมืองต่างๆ ก็ต้องดูว่า เขาพูดอะไรมีวัตถุประสงค์อะไร
เมื่อถามว่า ได้คุยกับ พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล อดีตส.ส.พรรคความหวังใหม่ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ทำไมต้องคุย เมื่อถามอีกว่า พ.อ.สุชาติ เป็นเพื่อนกับนายกฯ ไม่ใช่หรือ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เพื่อนผมมีตั้ง200คน ไม่ได้คุยทุกคน คุยกับพี่อ้อ (พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาฯ นายกฯ)
เมื่อถามว่า คิดว่าเสน่ห์ของตัวเองอยู่ตรงไหน ทำไมพรรคการเมืองใหม่จึงพร้อมทาบทามให้เป็นนายกฯคนนอก นายกฯตอบว่า “มันเกี่ยวกับเสน่ห์ตรงไหน เสน่ห์เป็นเรื่องของการจีบสาว ตอนนี้ผมไม่ได้จีบสาว ผมไม่มีเสน่ห์หรอก พูดจาก็เป็นแบบนี้ เสน่ห์คงไม่มีเท่าไหร่”
เมื่อถามถึงข้อเสนอให้ลาออกจากตำแหน่งหากจะตัดสินใจลงเล่นการเมืองนั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า อยากให้ย้อนกลับไปดูในสมัยก่อน นายกรัฐมนตรีซึ่งก็เป็นหัวหน้าพรรคการเมือง ประกาศลงเลือกตั้งก็สามารถลงไปหาเสียงได้ ในขณะที่ยังเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ด้วยซ้ำไป วันนี้ตนยังไม่ได้เป็นอะไรสักอย่าง แล้วตนก็ไม่ได้หาเสียด้วย ยังทำงานอยู่อย่างหนัก เพื่อจะทำให้ประเทศชาติเกิดการเปลี่ยนแปลง
ผู้สื่อข่าวถามว่า กลุ่มคนอยากเลือกตั้งเรียกร้องให้ยุบ คสช. เพื่อให้เป็นรัฐบาลรักษาการในช่วงเตรียมการเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 265 เขียนไว้อย่างชัดเจนแล้ว ว่า คสช. ต้องทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ ก็ต้องเป็นไปตามนั้น การที่กลุ่มคนอยากเลือกตั้งเสนอให้ยุบ คสช. นั้นจึงเป็นไปไม่ได้ ถ้าสงสัยอะไรให้ไปดูคำตอบก่อนหน้านี้
นายกฯกล่าวว่าหน้าที่ของ คสช. จะต้องดูความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองเป็นหลัก เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองพรรคใด ถ้าเป็นต้นเหตุหรือสาเหตุ ที่ทำให้เกิดความวุ่นวาย ความขัดแย้ง ความรุนแรง หรือความไม่สงบเกิดขึ้นก็ต้องไปพิจารณาตามกฎหมายว่าควรจะดำรงอยู่ต่อไปหรือไม่อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองหรือนักการเมืองก็ตาม