ส่วนความคืบหน้าการหารือการใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ แทนการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นั้นจะต้องมีการพิจารณาถึงข้อดีข้อด้อยระหว่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อและ พ.ร.ก.ฉุกเฉินซึ่งไม่ว่าจะใช้กฎหมายใดก็ต้องคำนึงถึงความสะดวกปลอดภัยของประชาชนมากกว่ากฎหมาย พร้อมกับยอมรับว่าการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นั้นมีความสะดวกในการทำงาน โดยขอให้นึกถึงสามถึงสี่เดือนที่ผ่านมา หากไม่ใช้ พ.ร.ก.ก็เหนื่อยซึ่งตอนนี้อยู่ในระหว่างการหารือ พร้อมย้ำทิ้งท้ายว่า ขณะนี้ไม่มีการส่งสัญญาณการปรับคณะรัฐมนตรีมาจากนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด และขณะนี้พรรคภูมิใจไทยก็มีการนัดประชุมหารือกันทุกสัปดาห์และตนก็ยังไม่คิดเรื่องการปรับคณะรัฐมนตรีในโคต้าพรรค ซึ่งหากนายกรัฐมนตรีมีการปรับคณะรัฐมนตรีทางพรรคเองก็ไม่มีปัญหา
นอกจากนี้ นายอนุทิน กล่าวถึงการผลิตวัคซีน ว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการทดลองในหนูจริงๆ ซึ่งวานนี้(18มิ.ย.63) ได้รับรายงานจากอธิบดีกรมการแพทย์ว่ามีภูมิต้านทานในสัตว์ทดลอง โดยหลังจากนี้จะมีการทดลองในลิง ซึ่งจะไม่มีการทดลองในกระต่าย โดยวัคซีนสำหรับคนในลอตแรกตามหลักกระทรวงสาธารณสุข จะทดลองกับบุคลากรสาธารณสุขที่เป็นกลุ่มเสี่ยงหรือผู้ที่ต้องใกล้ชิดกับคนไข้ ซึ่งกว่าที่จะทดลองในคนต้องผ่านมาตรฐานความปลอดภัย ส่วนจะใช้เวลานานเท่าไหร่นั้น คาดว่าไม่นานเกินสามถึงสี่เดือน ซึ่งจุฬาฯได้ดำเนินการไปแล้ว และ Bio-NetAsia ซึ่งได้ทำ MOU กับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ โดยกระทรวง
สาธารณสุขได้แบ่งเงินกู้จำนวน 3,000 ล้านบาท มาใช้ในโครงการดังกล่าวเพื่อเพิ่มศักยภาพและความคล่องตัวในการทดลองวัคซีน ซึ่งก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมในเรื่องต่างๆ เนื่องจากขณะนี้มีความมั่นใจว่าจะสามารถผลิตวัคซีนได้ ส่วนที่มีหลายฝ่ายออกมาระบุว่าการผลิตวัคซีนเองจะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการนำเข้า มองว่าการพึ่งพาตนเองดีที่สุดเพราะโควิด-19 สอนให้เรารู้จักพึ่งพาตัวเองภายใต้ศักยภาพพื้นฐาน หากรอต่างประเทศแล้วเกิดการระบาดอีกครั้งจะทำอย่างไรหากเขาไม่ส่งมาให้
นอกจากนี้ได้เชิญ นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค พูดคุยกับเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยที่จะเข้าพบ นายกรัฐมนตรีเช้าวันนี้ถึงการเจรจา Travel Bubble ถึงเงื่อนไขการเดินทางเข้าออกระหว่างสองประเทศ อย่าง Fit to fly หรือรูปแบบการคัดกรองในแบบต่างๆ เตรียมพร้อมเสนอนายกรัฐมนตรีและ ศบค. ถึงความเป็นไปได้ในตอนนี้เพื่อคืนความเป็นปกติให้ประเทศมากที่สุด